ลูกจ้างเย็บเสื้อผ้าและแม่คนหนึ่ง ทาเนีย มักจะร้องไห้ขณะอยู่คนเดียว หากเธอไม่ได้วุ่นอยู่กับการผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์แฟชั่นของออสเตรเลีย
หญิงวัย 21 ปีคนดังกล่าว ทำงานเป็นพนักงานเย็บจักรที่ใจกลางประเทศบังกลาเทศ เธอถูกบังคับให้ส่งลูกสาวของเธอไปอยู่อาศัยห่างออกไป 250 กม. และได้ไปเยี่ยมเยียนเธอเพียงปีละสองครั้ง ในการพยายามให้แน่ใจว่าครอบครัวของเธอนั้นจะอยู่รอดได้จากค่าจ้างเพียงน้อยนิดของเธอ
เธอเป็นหนึ่งในลูกจ้างเย็บเสื้อผ้าหลายร้อยคนในประเทศบังกลาเทศและประเทศเวียดนาม ที่การทุกข์ทรมานในแต่ละวันนั้นได้รับการเปิดเผยในรายงานฉบับใหม่ซึ่งเข้าเจาะลึกเกี่ยวกับชีวิตของพวกเธอเป็นครั้งแรก
รายงานดังกล่าวได้รับการเผยแพร่โดยออกซ์แฟม (Oxfam) โดยมีชื่อว่า เมดอินพอเวอร์ตี (Made in Poverty) ซึ่งได้ขุดคุ้ยวิธีการที่แบรนด์แฟชั่นต่างๆ ของออสเตรเลียนั้นเอาใส่ใจต่อเสื้อผ้ามากกว่าคนที่เป็นผู้ผลิตเสียอีก รวมไปถึงการต้องการให้มีเครื่องปรับอากาศสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของพวกเขา ในขณะที่ลูกจ้างนั้นตรากตรำทำงานในสภาพที่น่าสะพรึงเป็นอย่างยิ่ง
ผู้บริหารสูงสุดของออกซ์แฟม ดร. เฮเลน โซกี (Helen Szoke) กล่าวว่า “ข้อมูลที่พบนั้นน่าตกตะลึง และกรณีตัวอย่างนั้นน่าสะอิดสะเอียนเป็นอย่างยิ่ง”
ผู้ทำวิจัยได้สอบถามเจ้าของโรงงาน ผู้จัดการ และผู้มีอำนาจอื่นๆ กว่า 130 คน เช่นเดียวกัยกับผู้หญิง 472 คนที่ทำงานในโรงงานซึ่งส่งเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ต่างๆ ของออสเตรเลีย เช่น เคมาร์ต ทาร์เก็ต บิกดับเบิลยู คอตตอนออน และอื่นๆ
รายงานกล่าวว่า “การเอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นระบบ” ต่อลูกจ้าง ทำให้บริษัทของออสเตรเลียมีวิธีการจัดซื้อที่บีบให้ผู้ประกอบการโรงงานนั้นลดค่าใช้จ่ายในการผลิต
วิธีการจัดซื้อในลักษณะดังกล่าว รวมถึงการต่อรองราคาอย่างดุเดือด การทำสัญญากับโรงงานเป็นระยะสั้น และการลดระยะเวลาส่งสินค้าลง ในขณะเดียวกันก็มีค่าปรับหากไม่สามารถที่จะทำตามกำหนดการอันเคร่งครัดได้
ในหลายๆ กรณีที่ประเทศเวียดนาม ผู้ให้สัมภาษณ์รายงานว่า ผู้จัดซื้อยืนยันให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติสำหรับห้องซึ่งเก็บเสื้อผ้าที่ผลิตเสร็จแล้ว แต่กลับไม่ได้ขอเช่นเดียวกันนั้นสำหรับห้องตัดเย็บ ซึ่งมีเครื่องกลอันมีความร้อนที่สามารถจุดประกายขึ้นได้
ชมวิดิโอ: รายงานแฟชั่นอันมีจริยธรรม (Ethical fashion report) พบว่าแบรนด์หลักๆ ของออสเตรเลียนั้นจำเป็นจะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่านี้
ต่ำกว่ารายได้ประทังชีพ
รายงานเปิดเผยว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของลูกจ้างที่ให้สัมภาษณ์ในประเทศบังกลาเทศ ไม่ได้รับค่าจ้างเพียงพอสำหรับประทังชีพ และ เก้าใน 10 นั้น ไม่สามารถแม้จะซื้ออาหารให้กับตัวเองหรือครอบครัวของพวกเขาได้ จนกระทั่งถึงวันค่าจ้างออกครั้งต่อไป
ที่ประเทศเวียดนาม หากเทียบกันแล้วค่าจ้างนั้นสูงกว่า แต่ทว่าเจ็ดใน 10 กล่าวว่า ค่าจ้างของพวกเขานั้นไม่เพียงพอต่อความจำเป็นต่างๆ
โดยรวมๆ แล้ว 99 เปอร์เซ็นต์ของลูกจ้างในประเทศเวียดนามนั้นไม่ได้รับรายได้เพียงพอสำหรับประทังชีพ ที่จะให้พวกเขาสามารถซื้ออาหารซึ่งมีคุณประโยชน์ อยู่อาศัยในบ้านที่เหมาะสม ส่งลูกๆ ของพวกเขาเข้าโรงเรียน และได้รับการดูแลสุขภาพเมื่อพวกเขาเจ็บป่วย
ออกซ์แฟมได้เรียกข้อมูลที่พบว่าเป็นข้อกล่าวหาต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งมีผลประกอบการกว่า $23 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว
“แบรนด์ (ยี่ห้อ) ต่างๆ นั้น มีความรับผิดชอบต่อการจะให้มีข้อผูกมัดที่เชื่อถือได้ เพื่อพยายามให้แน่ใจว่า มีการจ่ายเงินที่เพียงพอต่อการประทังชีพ ให้กับลูกจ้างซึ่งผลิตเสื้อผ้าให้กับพวกเขา” ดร. โซกี กล่าว
รายงานก่อนหน้านี้ของออกซ์แฟมซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 2017 พบกว่า การจ่ายค่าแรงที่พอเพียงแก่การประทังชีพนั้นเป็นเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของราคาขายปลีกของเสื้อผ้าชิ้นหนึ่ง
ออกซ์แฟมกล่าวเมื่อวานนี้ (25 ก.พ.) ผ่านแถลงการณ์ว่า ก่อนจะมีการเผยแพร่รายงานดังกล่าว คอตตอนออน (Cotton On) เคมาร์ต (Kmart) ทาร์เก็ต (Target) และ ซิตีชีค (City Chic) ประกาศว่าจะให้มีข้อผูกมัดที่เชื่อถือได้ เพื่อมุ่งสู่การจ่ายค่าแรงที่เพียงพอแก่การประทังชีพให้ลูกจ้างในสายการผลิตของพวกเขา
ส่วนแบรนด์ที่ไม่ยอมทำตามนั้นรวมถึง มายเออร์ (Myer) เบสต์แอนด์เลส (Best and Less) บอนส์ (Bonds) คันทรีโรด (Country Road) ฟอร์เอเวอร์นิว (Forever New) และ ปีเตอร์อเล็กซานเดอร์ (Peter Alexander)
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ร้านอาหารไทยในบริสเบนถูกตรวจพบเอาเปรียบลูกจ้าง