นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียสามารถเพาะเลี้ยงไวรัสโคโรนาภายในห้องปฏิบัติการได้สำเร็จ ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญทางการแพทย์ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนในการรักษาได้อย่างรวดเร็วในอนาคต โดยสำนักข่าวเอบีซีได้รายงานในวันนี้ (29 ม.ค.) ว่า นักวิจัยจากสถาบันเพื่อการติดเชื้อและระบบภูมิคุ้มกันปีเตอร์ โดเฮอร์ตี ในนครเมลเบิร์น สามารถเพาะเลี้ยงไวรัสโคโรนาภายนอกประเทศจีนได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
ไวรัสโคโรนาที่ถูกเพาะเลี้ยงขึ้นในห้องปฏิบัติการ จากตัวอย่างไวรัสที่เก็บตัวอย่างในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ จะได้รับการแจกจ่ายไปยังห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง ซึ่งทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การอนามัยโลกในยุโรป เช่นเดียวกับห้องปฏิบัติการในออสเตรเลีย
ทางการจีนได้เผยแพร่ข้อมูลลำดับจีโนมของเชื้อไวรัสโนเวลโคโรนา ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน แต่ ดร.จูเลียน ดรูซ หัวหน้าฝ่ายระบุเอกลักษณ์ไวรัส สถาบันปีเตอร์ โดเฮอร์ตี กล่าวว่า การพัฒนาในออสเตรเลียจะเป็น “อีกความก้าวหน้าในการวินิจฉัย”
“การมีไวรัสตัวจริง (ในห้องปฏิบัติการ) หมายความว่า เราจะสามารถทดสอบและทดลองทุกวิธีได้อย่างแม่นยำ และสามารถเปรียบเทียบคุณสมบัติและการตอบสนองของไวรัสได้” ดร.ดรูซกล่าวไวรัสที่ได้รับการเพาะเลี้ยงนี้ จะสร้างการทดสอบแอนตีบอดี (antibody test) ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจหาไวรัสในผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการ หรือไม่ทราบว่าอาจได้รับเชื้อมาได้
Medical workers in Wuhan form an "assault team" to battle against the deadly coronavirus epidemic. Source: AAP
“การทดสอบแอนตีบอดีจะทำให้เราสามารถตรวจหาการติดเชื้อในผู้ป่วยได้ในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพรวมของการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ว่าเป็นวงกว้างได้เพียงใด รวมถึงตัวชี้วัดอื่น ๆ เช่น อัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ” ดร.ไมค์ แคตทัน รองผู้อำนวยการสถาบันปีเตอร์ โดเฮอร์ตี กล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์เบรนดัน เมอร์ฟี หัวหน้าหน่วยงานการแพทย์ออสเตรเลีย กล่าวว่า การเพาะเลี้ยงไวรัสในห้องปฏิบัติการนั้นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการเอื้อให้เกิดการทดสอบต่าง ๆ และนำไปสู่การทดสอบแอนตีบอดีที่รวดเร็วขึ้น
“มันคือการพัฒนาที่สำคัญ และมันเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ” ศาสตราจารย์เมอร์ฟีกล่าวกับวิทยุเอบีซี
ทั้งนี้ นักวิจัยจากทั่วโลกยังคงพยายามคิดค้นวัคซีนเพื่อหยุดการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา โดยขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน และมียอดผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันในประเทศจีนมากกว่า 4,500 ราย โดยเมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนายังคงอยู่ในสถานะปิดไม่ให้มีผู้เดินทางเข้าออก เช่นเดียวกับอีกหลายเมืองใหญ่ในจีน ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการจีนยังคงทำงานอย่างรีบเร่งเพื่อจำกัดการแพร่กระจายของไวรัสชนิดนี้
ในออสเตรเลีย ขณะนี้มีผู้ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 5 คน โดยหนึ่งในนั้นมี 4 คนที่อยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์
สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศ เมื่อวานนี้ (28 ม.ค.) มีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายแรกในเยอรมนี โดย นายแอนเดรียส แซฟ (Andreas Zapf) หัวหน้าหน่วยงานด้านสาธารณสุขและอาหารรัฐไบเอิร์นของเยอรมนี กล่าวว่า ชายอายุ 33 ปีผู้ติดเชื้อรายนี้ ไม่เคยเดินทางไปประเทศจีน แต่ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานหญิงชาวจีนที่เดินทางมายุโรป ซึ่งต่อแสดงอาการป่วยขณะกำลังเดินทางกลับจีน เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา
จนถึงขณะนี้ ชายวัย 33 ปี คนดังกล่าว ยังคงได้รับการกักกันภายในโรงพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นการติดเชื้อไวรัสโคโรนารายแรกในยุโรป ส่วนผู้ร่วมงานหญิงชาวจีนได้เข้าพบแพทย์ในทันทีที่เดินทางถึงจีน
ส่วนที่ประเทศญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่พบชายอายุราว 60 ปี ซึ่งไม่เคยเดินทางไปยังประเทศจีนมาก่อน ติดเชื้อไวรัสโคโรนา หลังขับรถบัสรับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่น 2 กลุ่ม ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายอื่น ๆ ที่ได้รับการยื่นยันเพิ่มเติม ทั้งหมดเป็นผู้ที่เคยเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่นมาก่อน
โดยทางการญี่ปุ่นได้ยกระดับมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศจีน และส่งเครื่องบินเพื่อรับประชาชนชาวญี่ปุ่นออกจากเมืองอู่ฮั่น โดยคาดว่าจะสามารถนำประชาชนกลับมายังญี่ปุ่นได้ราว 200 คน จากราว 650 คนที่ขอเดินทางกลับภูมิลำเนา
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
โรงเรียนเตรียมรับมือไวรัสโคโรนาหลังเปิดเทอม