ถ้าคุณวางแผนไปจิบสปริตซ์ที่อิตาลีปีนี้? คุณควรเช็กค่าเงินก่อนออกเดินทาง
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงท่ามกลางความปั่นป่วนในตลาดโลก หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
ผลกระทบจากสถานการณ์นี้คือค่าเดินทางไปต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ค่าอาหาร หรือประกันการเดินทางอาจแพงขึ้น เพราะเงินออสเตรเลียแลกได้น้อยลงในต่างประเทศ
แม้ว่าทรัมป์จะประกาศ “พักเบรก” การเก็บภาษี 90 วันสำหรับหลายประเทศ และยกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้ายอดนิยมที่นำเข้าจากจีน แต่ผู้ส่งออกจากจีนจำนวนมากก็ยังคงเจอภาษีสูงอยู่ดี
และหากสงครามภาษียืดเยื้อ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นก็คือผลกระทบอาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงการเดินทางไปต่างประเทศของคนออสเตรเลีย
ดอลลาร์อ่อนสุดในรอบ 5 ปี แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนอย่าเพิ่งตกใจ
เมื่อวันพุธ ( 9 เม.ย.) ที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงก่อนสหรัฐฯ ประกาศชะลอการเก็บภาษีนำเข้า ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะ 59.15 เซนต์ต่อ1 ดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบราว 5 ปี ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ประมาณ 62 เซนต์ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อเทียบกับเงินยูโร ดอลลาร์ออสเตรเลียก็อ่อนค่าลงเช่นกัน โดยขณะนี้ 1 ดอลลาร์ออสเตรเลียแลกได้ประมาณ 55 เซนต์ยูโรต่อ ลดลงจาก 58 เซนต์เมื่อเดือนที่แล้ว
แม้ค่าเงินจะอ่อนลง แต่ ดร.ลุค ฮาร์ทติแกน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์และอดีตนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางออสเตรเลีย เตือนว่ายังไม่ควรด่วนสรุปว่าจะมีการขึ้นราคาสินค้าหรือบริการทั้งหมดทันที
“สมัยที่ค่าเงินออสซี่เคยตกต่ำกว่าระดับ 50 เซนต์เมื่อช่วงปี 2000 ราคาสินค้าก็ไม่ได้พุ่งขึ้นทันที หลายธุรกิจยังสามารถแบกรับต้นทุนไว้ได้ หรือวางแผนล่วงหน้าผ่านการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน”
ธุรกิจที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมักใช้วิธีล็อกอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้า จึงทำให้ต้นทุนบางส่วนยังไม่เพิ่มขึ้นทันที เช่นเดียวกับค่าเดินทาง อย่างไรก็ตาม หากเงินอ่อนต่อเนื่องยาวนาน อาจเริ่มเห็นผลกระทบมากขึ้น เช่น ราคาน้ำมันและตั๋วเครื่องบิน
ดร.ฮาร์ทติแกนเสริมว่า
“สิ่งที่จะเห็นเร็วที่สุดน่าจะเป็นค่าน้ำมันและค่าเดินทางทางอากาศ ส่วนผู้บริโภคอาจหันมาเที่ยวในประเทศมากขึ้น เช่น ควีนส์แลนด์ หรือ แคนส์ แทนที่จะบินไปต่างประเทศ ยกเว้นประเทศนิวซีแลนด์ เพราะค่าเงินออสเตรเลียมักจะแข็งค่ากว่า”
ดอลลาร์อ่อน คนยังเดินทางท่องเที่ยวอยู่หรือไม่
แม้อัตราแลกเปลี่ยนจะแย่ลง แต่หลายคนก็ยังวางแผนท่องเที่ยวอยู่ เพียงแต่อาจเปลี่ยนจุดหมายปลายทางให้เหมาะกับงบมากขึ้น
คุณ ลอร่า ชาวซิดนีย์ บอกว่าเธอจำเป็นต้องเปลี่ยนแผนการเดินทางช่วงเดือนกรกฎาคม จากการไปยุโรปมาเป็นประเทศไทยแทน เพราะค่าเงินออสเตรเลียอ่อนลงมากเมื่อเทียบกับเงินปอนด์และยูโร
“ตอนแรกฉันวางแผนจะไปกรีซกับอิตาลี แต่สุดท้ายเปลี่ยนใจไปประเทศไทยแทน เช่นเดียวกับเพื่อนหลายคนของฉัน”
“แม้ว่าฉันจะมีญาติอยู่ลอนดอนและสามารถพักด้วยได้ แต่ส่วนต่างของเงินก็ก็เสียเปรียบไปเกือบครึ่งแล้ว เพราะค่าเงินของเรามันอ่อนมากเมื่อเทียบกับปอนด์อังกฤษ”
“ฉันอยากใช้เงินในที่ที่มันคุ้มค่า เพราะกว่าจะเก็บเงินได้สักก้อนในยุคค่าครองชีพสูงแบบนี้มันไม่ง่ายเลย”
แนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวออสเตรเลียจำนวนไม่น้อยกำลังมองหาทางเลือกใหม่ ที่ “เที่ยวได้ไกล คุ้มกว่าเดิม” โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียที่ยังแลกค่าเงินได้คุ้มและมีค่าครองชีพที่ถูกกว่า
ชาวออสเตรเลียชอบท่องเที่ยว แต่ราคาคือปัจจัยสำคัญ
ผลสำรวจล่าสุดโดย Tourism and Transport Forum (TTF) ซึ่งศึกษาพฤติกรรมการเดินทางของชาวออสเตรเลียระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2024 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2025 พบว่า
แม้ค่าครองชีพจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่คนออสเตรเลียจำนวนมากยังคงให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว
สำหรับจุดหมายปลายทางในประเทศ รัฐนิวเซาท์เวลส์และควีนส์แลนด์ยังครองความนิยมสูงสุด ขณะที่ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศเลือกไป นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และยุโรป มากที่สุด
มาร์กี้ ออสมอนด์ ซีอีโอของ TTF ระบุว่า แม้จะมีคำแนะนำให้จองทริปล่วงหน้า แต่คนออสเตรเลียจำนวนมากยังวางแผนการเดินทางแบบฉุกละหุก
“หลายคนบอกว่าจะจองทริปไม่ถึง 1 เดือนก่อนออกเดินทาง และเกือบหนึ่งในสามพร้อมจะจองทริปในช่วงไม่กี่วันก่อนเดินทางด้วยซ้ำ”
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ซาร่า ดอลนิการ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เตือนว่า การท่องเที่ยวถือเป็นสินค้าที่มี “ราคายืดหยุ่น” (price elastic)
ในภาวะที่ค่าครองชีพสูง และเงินออสเตรเลียอ่อน การท่องเที่ยวจะตอบสนองไวมากต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาและรายได้ศาสตราจารย์ซาร่า ดอลนิการ์
หมายถึงว่าเมื่อค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนใจได้ทันที โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจตึงตัวเช่นนี้
ศาสตราจารย์ซาร่า ดอลนิการ์ จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์เผยว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวออสเตรเลียเปลี่ยนไปหลังการระบาดของโควิด-19 โดยแม้ช่วงโควิดจะทำให้หลายคนกลับมาพิจารณาการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ความต้องการเที่ยวต่างประเทศกลับมานิยมอีกครั้ง
“ตอนช่วงโควิด ผู้คนเริ่มเห็นว่าการพักผ่อนใกล้บ้านก็สามารถมีความสุขได้ ฉันหวังว่าความคิดนี้จะอยู่ต่อ โดยเฉพาะในแง่ของความยั่งยืน...แต่สถานการณ์นี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในออสเตรเลีย”
เธอกล่าวว่า สำหรับชาวออสเตรเลีย ความฝันในการเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะไป ยุโรปหรือสหรัฐฯ ยังคงเป็นภาพอุดมคติของ “วันหยุดในฝัน”
“คนออสเตรเลียไม่ได้เลิกล้มความฝันเหล่านั้น...แต่แค่เลื่อนมันออกไปจนกว่าวันที่ราคาในการเดินทางสามารถจับต้องได้”
เคล็ดลับเที่ยวต่างประเทศในยุคดอลลาร์อ่อน
หากคุณยังวางแผนเดินทางต่างประเทศอยู่ นี่คือวิธีรับมืออย่างชาญฉลาดในภาวะเศรษฐกิจผันผวน:
- จองล่วงหน้า: ล็อกราคาตั๋วและที่พักในช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนยังคงที่
- ใช้บัตรที่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน หรือแปลงเงินล่วงหน้าเพื่อไม่ให้เจอราคาผันผวน
- เดินทางช่วงนอกฤดูกาล เพื่อราคาที่พักและตั๋วที่ถูกกว่า
- ตรวจสอบค่าเงินของจุดหมายปลายทาง อาจเลือกประเทศที่เงินอ่อนลงพอ ๆ กับออสเตรเลีย
- มองหาทัวร์หรือแพ็กเกจรวม ช่วยรวมค่าใช้จ่ายและลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน
เพราะแม้เงินจะอ่อนลง แต่ด้วยการวางแผนอย่างรอบคอบ คุณก็ยังสามารถเดินทางเพื่อเติมเต็มความฝันได้อย่างคุ้มค่า