เคสพุ่ง-คนล้น วอนปชช.เลี่ยงต่อคิวตรวจพีซีอาร์ ไปรพ.เฉพาะที่จำเป็น

ช่วงเทศกาลคนแห่ตรวจโควิดล้น-ผลล่าช้า รพ.รับศึกหนักหลังเคสพุ่งทุบสถิติ หน่วยงานสาธารณสุขหลายรัฐวอน ปชช.เลี่ยงตรวจพีซีอาร์-ไปโรงพยาบาลหากไม่จำเป็น นักระบาดวิทยาดันใช้ชุดตรวจเอทีเคแบ่งเบาภาระ

covid

A sign shows a Covid-19 testing site as people queue outside Alfred Hospital on 22 December 2021 in Melbourne, Australia. Source: Getty Images

หลังได้รับการระบุว่าเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด (close contact) คุณพิกเซล ฮาร์แมน (Pixel Harman) ไปเข้าคิวตรวจโควิดในคลินิกวอล์กอิน (walk-in) แห่งหนึ่งในนครซิดนีย์เมื่อ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อไปรับการตรวจเชื้อโควิด-19 แบบพีซีอาร์

แต่กว่า 96 ชั่วโมงให้หลัง คุณฮาร์แมนยังคงไม่ได้รับผลตรวจ และเนื่องจากได้รับการระบุว่าเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด ทำให้พลาดเทศกาลส่งท้ายปีเก่า และต้องกักตัวเองในช่วงวันคริสต์มาส และวันบ็อกซิงเดย์ (Boxing day)

“ฉันพยายามโทรหาพวกเขาในวันที่ 24 เพราะรู้ว่าพวกเขาจะปิดวันคริสต์มาส แต่ก็ติดต่อไม่ได้” คุณฮาร์แมน กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

“ทั้งวัน ฉันพยายามโทรไปที่เบอร์ต่าง ๆ และพยายามติดต่อพวกเขา แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันเป็นเรื่องค่อนข้างสะเทือนใจ”

การติดเชื้อโควิด-19 ในออสเตรเลียที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ระบบสุขภาพของประเทศได้รับแรงกดดันอย่างมีนัยยะสำคัญ รัฐบาลในรัฐต่าง ๆ กำลังขอให้ประชาชนพิจารณาความจำเป็นอีกครั้งก่อนไปรับการตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์ (PCR) รวมถึงการเรียกรถพยาบาล และการไปรับบริการในแผนกฉุกเฉิน
NSW Premier Dominic Perrottet addresses media during a press conference in Sydney, Thursday, December 23, 2021.
นายโดมินิก เพอร์โรต์เทต์ มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ ระหว่างแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในนครซิดนีย์ 23 ธ.ค.2564 Source: AAP
ที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ คลินิกตรวจเชื้อโควิด-19 จำนวนมากกำลังพบกับปัญหาเวลารอเข้าตรวจอย่างน่าตกใจ ส่วนผลการตรวจหานั้นล่าช้าออกไปเป็นเวลาถึง 3 วัน

นายโดมินิก เพอร์โรต์เทต์ (Dominic Perrottet) มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ แถลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (26 ธ.ค.) ขอความร่วมมือให้เฉพาะประชาชนที่มีอาการของโรคโควิด-19 และผู้เดินทางข้ามรัฐที่จำเป็นต้องได้รับผลการตรวจเชื้อเป็นลบ ไปรับการตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์

ขณะที่ นายแบรด ฮาซาร์ด (Brad Hazzard) รัฐมนตรีสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า ระยะเวลาในการรอผลการตรวจแบบพีซีอาร์ตามปกติแล้วจะอยู่ที่ 48-72 ชั่วโมง แต่มีรายงานว่าประชาชนบางส่วนต้องรอผลตรวจนานกว่านั้น

เมื่อวานนี้ (26 ธ.ค.) มีการเปิดเผยว่า ประชาชนในนครซิดนีย์มากกว่า 400 คน ได้รับแจ้งผลการตรวจหาผิดพลาดว่ามีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบ (negative) แต่อันที่จริงแล้วผลเป็นบวก

ด้านนายฮาซาร์ด รัฐมนตรีสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทำงานกันมือระวิง” และได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนที่ได้รับผลการตรวจหาเป็นบวกพิจารณาความจำเป็นอีกครั้งก่อนไปโรงพยาบาล หรือโทรเรียกรถพยาบาล

นพ.จอห์น เจอร์ราร์ด (John Gerrard) ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรัฐควีนส์แลนด์ สะท้อนคำกล่าวของ รมต.สาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ โดยแถลงกับผู้สื่อข่าวว่า “เราต้องการให้คนส่วนมากจัดการตนเองที่บ้าน” พร้อมกันนี้ ยังได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนเลี่ยงการไปรับบริการในแผนกฉุกเฉิน เว้นแต่ว่ามีปัญหาในการหายใจ เจ็บหน้าอก หรือ “รู้สึกไม่สบายอย่างมีนัยยะสำคัญ”

“เพียงเพราะคุณเป็นโควิด-19 นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ต้องไปที่แผนกฉุกเฉิน” นพ.เจอร์ราร์ด กล่าว

คิวรอตรวจโควิดจำนวนมาก พร้อมกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่อยู่ในแรงกดดัน ได้สร้างความเสี่ยงให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางในชุมชน

ศาสตราจารย์แคเธอรีน เบนเนตต์ (Prof Catherine Bennett) ประธานสาขาวิชาระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยดีกิน (Chair of Epidemiology, Deakin University) กล่าวว่า ไม่ใช่เพียงแค่รัฐนิวเซาท์เวลส์เท่านั้นที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ที่รัฐวิกตอเรีย ศาสตราจารย์เบนเนตต์ได้รับทราบว่า ประชาชนส่วนหนึ่งต้องรอคิวนานถึง 3 ชั่วโมงกว่าจะได้รับการตรวจเชื้อ ขณะที่บางส่วนต้องคอยตระเวนไปตามจุดตรวจอื่น ๆ ทั่วเมือง เพื่อหาคลินิกตรวจเชื้อที่มีจำนวนคนในคิวน้อยกว่า

ศาสตราจารย์เบนเนตต์กล่าวว่า ระยะเวลา 3 วันแรกหลังการติดเชื้อ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะไปรับการรักษา ผลการตรวจเชื้อที่ล่าช้าอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา

“ไม่ว่าจะเป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดี (แอนติบอดีจากเซลล์เม็ดเลือดขาว) หรือยาต้านไวรัส มันจะทำงานได้ดีที่สุดในช่วง 3-5 วันแรกหลังการติดเชื้อ” ศาสตราจารย์เบนเนตต์ กล่าว

“ความเสี่ยงก็คือ คิวรอตรวจที่ยาวจะทำให้ผู้คน... หรือผลตรวจล่าช้าจนอาจกระทบกับคนที่ผลเป็นบวก หรือคนที่จำเป็นต้องได้รับการยืนยันเหล่านั้นเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา และได้รับการดูแล”
Coronavirus
รถหลายคันกำลังต่อคิวเพื่อรอเข้ารับการตรวจโควิด-19 ที่คลินิก drive-thru บริเวณหาดบอนได รัฐนิวเซาท์เวลส์ Source: AAP
ขณะเดียวกัน คนทำงานด้านสุขภาพต่างต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่แพร่กระจายออกไปทั่วโรงพยาบาล จนทำให้ผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ

“มันเป็นปัญหาอย่างแท้จริงในส่วนของการจัดการผู้ที่มีเชื้อโควิด-19 พวกเขายังมีกลุ่มอื่น ๆ ในโรงพยาบาลที่มีความเปราะบาง และจำเป็นต้องจัดการผู้ป่วยเหล่านี้เพื่อไม่ให้ไวรัสแพร่กระจาย” ศาสตราจารย์เบนเนตต์ กล่าว

ศาสตราจารย์อเล็กซานดรา มาตินิก (Prof Alexandra Matiniuk) นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ (University of Sydney) กล่าวว่า โรงพยาบาลในออสเตรเลียอาจพบกับภาระที่เพิ่มมากขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายไปสู่คนทำงานด้านสุขภาพ

เธอกล่าวอีกว่า ในสหราชอาณาจักร มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่กว่าร้อยละ 40 ในโรงพยาบาลบางแห่งกำลังกักตัวเฝ้าระวังอาการ หรือมีอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19

“ที่นิวยอร์ก พวกเขากำลังตัดสินใจว่า จะให้คนทำงานด้านสุขภาพกลับมาทำงานระหว่างที่ยังมีเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่” ศาสตราจารย์มาร์ตินิก กล่าว

“พวกเขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องให้คนทำงานด้านสุขภาพกลับมา หากพวกเขาไม่ได้ป่วยมากขนาดนั้น”

“มันคุ้มค่าที่เราจะคิดว่าต้องทำอย่างไรในเรื่องนี้”

แนวทางอื่น ๆ

ศาสตราจารย์มาร์ตินิก กล่าวว่า  การตัดสินใจของรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องยืดหยุ่น และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

เธอเชื่อว่า การสื่อสารอย่างชัดเจนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงคำแนะนำด้านสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ การช่วยออกค่าใช้จ่ายสำหรับชุดทดสอบโควิดแบบทราบผลเร็ว (ชุดตรวจเอทีเค) นับว่าเป็นก้าวแรกที่ดี

“ชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ราคาแพงมาก ฉันลองไปซื้อชุดหนึ่งสำหรับครอบครัวก็เสียเงินไป $100 ดอลลาร์ศาสตราจารย์มาร์ตินิก กล่าว

“และ (ราคาที่แพงขนาดนั้น) มันอาจบีบให้ผู้คนไปตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์ ทั้งที่พวกเขาอาจไม่จำเป็นต้องไปตรวจ”

ศาสตราจารย์เบนเนตต์ กล่าวว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดควรได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่คลินิกตรวจเชื้อให้เร็วขึ้น

“หากใครก็ตามมีประวัติว่ามีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง และเริ่มพบว่ามีอาการแล้ว พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ” ศาสตราจารย์เบนเนตต์ กล่าว

“มันจะมีประโยชน์มากหากคุณสามารถเปิดทางให้ผู้คนเหล่านี้ได้ตรวจเร็วขึ้น ซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เพราะเรารู้ว่าพวกเขามีความเสี่ยงมากที่สุดในการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง”
A general view of the CBD on day one of the lockdown in Adelaide, Thursday, November 19, 2020. South Australia will go into lockdown for six days, with a range of restrictions to provide a "circuit-breaker" and help control a worrying cluster of COVID-19
พื้นที่ย่านซีบีดีในนครแอดิเลด รัฐเซาท์ออสเตรเลีย Source: AAP Image/David Mariuz
ที่รัฐเซาท์ออสเตรเลีย ได้ยกเลิกข้อกำหนดในการตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์ภาคบังคับสำหรับผู้ที่เดินทาขาเข้าแล้ว ขณะที่ที่รัฐควีนส์แลนด์จะยอมรับการตรวจเชื้อแบบทราบผลเร็ว (ATK) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.นี้

ศาสตราจารย์เบนเนตต์ กล่าวอีกว่า การตรวจเชื้อแบบทราบผลเร็วแบบมีผู้ดูแลที่ร้านขายยา แทนการใช้ผลตรวจแบบพีซีอาร์สำหรับการเดินทางข้ามรัฐ อาจช่วยแบ่งเบาภาระให้กับคลินิกตรวจเชื้อได้

“การตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์สำหรับการเดินทางข้ามรัฐมีเพียงแต่จะเพิ่มภาระให้กับคิวรอตรวจ ซึ่งมันไม่มีประโยชน์เลย” ศาสตราจารย์เบนเนตต์ กล่าว

ขณะที่ศาสตราจารย์มาร์ตินิก กล่าวว่า ชาวออสเตรเลียควรระมัดระวังในเรื่องของไวรัสนี้ แต่ก็ได้เน้นย้ำอีกว่ายังคงมีความหวัง

“ฉันคิดว่าผู้คนกำลังรู้สึกแย่กับสถานการณ์โควิด-19 แต่มันยังคงมีวัคซีนอยู่ ซึ่งอาจครอบคลุมการปกป้องจากทุกสายพันธุ์ รวมถึงเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้ด้วย” ศาสตราจารย์มาร์ตินิก กล่าว

“และมันยังมียาตัวใหม่ที่กำลังออกมาด้วย”

“ฉันคิดว่า ยิ่งผู้คนสามารถยับยั้งเชื้อโควิด หรือไม่ติดเชื้อเลยได้นานเท่าไหร่ก็จะยิ่งดี สิ่งที่มีความหวังก็คือมันมีสิ่งใหม่หลายอย่างรออยู่ข้างหน้า และมันกำลังจะมา


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

โควิด-19 อัปเดต: ร่นระยะห่างวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็น 4 เดือน


Share
Published 27 December 2021 1:23pm
Updated 27 December 2021 4:00pm
By Eden Gillespie
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS News


Share this with family and friends