ประเด็นสำคัญ
- นักเรียนไทยในซิดนีย์ ต้องรับการศัลยกรรมขา หลังพบว่าแบคทีเรียได้ลุกลาม
- โรคแผลบูรูลิ อัลเซอร์นั้น มีต้นกำเนิดจากแอฟริกาตะวันตก ก่อนจะปรากฏในหลายพื้นที่ของออสเตรเลียตั้งแต่ปีทศวรรษ 1930
- การติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคน มักพบได้บ่อยในช่วงเดือนที่อากาศอบอุ่นหรือร้อน
จากกรณีข่าวการติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือ โรคแผลบูรูลิ อัลเซอร์ (Buruli ulcer) ของนักเรียนไทยในซิดนีย์ที่ตอนนี้ (10 ม.ค. 2024) พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล St Vincent ในนครซิดนีย์ โดยจากการอัปเดตล่าสุดทางทีมแพทย์ผู้ให้รับการรักษาได้ตัดสินใจตัดขาข้างที่ติดเชื้อรุนแรงทิ้ง พร้อมให้ยาเพื่อป้องกันการลุกลามของแบคทีเรีย
ทางผู้สื่อข่าวของเอสบีเอสไทย ได้พูดคุยกับคุณบ็อบ ซึ่งเป็นหัวหน้างานของนักเรียนไทยคนดังกล่าว เขาบอกกับเราว่าอาการของเธอเริ่มขึ้นเมื่อช่วงวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยเขาได้รับสายของนักเรียนไทยรายนี้ว่าเธอของลาป่วย 1 วัน โดยเธอให้เหตุผลว่ามีการอาการวิงเวียนศรีษะ ซึ่งตอนนั้นคุณบ็อบในฐานะหัวหน้างานก็ไม่ได้ติดอะไร เพราะคิดว่าช่วงนั้น อากาศในซิดนีย์ค่อนข้างร้อน คงเป็นเรื่องปกติที่จะป่วยได้
ต่อมาอีกวัน น้องโทรมาลาอีกวัน บอกว่าปวดเข่า ผมก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ก็คิดว่าคงเพราะยืนเยอะ เลยอาจทำให้มีอาการนี้คุณบ็อบเล่าเหตุการณ์ก่อนที่อาการของเธอจะรุนแรงขึ้นฉับพลัน
“วันที่ 30-31 ธันวาคม น้องโทรมาบอกว่าเริ่มเดินไม่ได้ มีรอยแดงบริเวณหัวเข่า ทางนี้เลยบอกให้น้องไปโรงพยาบาล แต่น้องตอบกลับมาว่า ปวดจนเดินไม่ได้” คุณบ็อบเล่า พร้อมเสริมว่า “จากนั้นเลยให้รอดูอาการเผื่อว่าจะดีขึ้น ด้านตัวน้องก็ไปหาหมอที่คลีนิคแห่งหนึ่ง หมอจ่ายยาเก๊าท์มาให้ จนกระทั่งกลับมาที่พัก”
เช้าวันรุ่งขึ้นช่วง 6.44น. คุณบ็อบเล่าว่า “เพื่อนร่วมห้องของน้องโทรมาบอกว่า น้องอาการไม่ดีแล้ว รู้สึกร้อนที่ขามากจังหวะนั้นเลยตัดสินใจเรียกรถพยาบาล ส่งตัวเข้าห้องฉุกเฉินทันที ซึ่งทีมแพทย์เมื่อเห็นอาการแล้ว ถึงกับต้องมีการประชุมชุดใหญ่ เพราะไม่มีเคสแบบนี้มาก่อน”
เย็นวันที่ 3 ม.ค. คุณบ็อบเล่าว่า อาการของนักเรียนไทยรายนี้ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว และไม่ตอบสนองต่อยาฆ่าเชื้อที่หมอให้เลย นับตั้งแต่ตอนนั้น จนวันที่ 10 ม.ค. นักเรียนไทยรายนี้อยู่ในอาการโคม่า ทางทีมแพทย์ลงความเห็นว่าจำเป็นต้องตัดขาทิ้ง หลังจากมีความพยายามในการคว้านเนื้อที่โดนแบคทีเรีย จนไม่สามารถทำต่อได้อีก
คุณบ็อบเล่าว่า ตอนนั้นจำเป็นต้องติดต่อญาติเพื่อแจ้งข่าว มีความทุลักทุเลในการติดต่อ กระทั่งติดต่อได้ และได้ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด
ภาพถ่ายที่ได้รับเมื่อวันจันทร์ที่ 16 เมษายน 2018 ของรอยโรคที่เกิดจากเชื้อไมโคแบคทีเรียชนิดรุนแรงที่หัวเข่าของเด็กชายอายุ 11 ปี Source : AAP Image/Medical Journal of Australia
เชื่อกันว่าโรคแผลบูรูลิ อัลเซอร์นั้น มีต้นกำเนิดมาจากแอฟริกาตะวันตก ก่อนที่จะปรากฏขึ้นในหลายพื้นที่ของออสเตรเลียอย่างลึกลับตั้งแต่ปีทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา
นายแพทย์ แดเนียล โอไบรอัน จากบาร์วอน เฮล์ท (Barwon Health) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและการรักษาอาการแผลบูรูลิ กล่าวว่า “มันเป็นการติดเชื้อโรคที่กินเนื้อคน และมันเริ่มด้วยการกินเนื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อภายใต้เนื้อเยื่ออ่อน หากไม่ได้รับการรักษา โดยทั่วไปแล้วมันจะลุกลามและใหญ่ขึ้นๆ ในบางกรณีหากเชื้อรุนแรงมาก มันจะขยายตัวได้อย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งแขนหรือทั่วทั้งบางส่วนของขา” นายแพทย์โอไบรอัน อธิบาย
เมื่อปี 2018 มีผู้ป่วยกว่า 300 รายในออสเตรเลียที่มีแผลบูรูลิ อัลเซอร์ (Buruli Ulcer) ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียทำลายผิวหนังชนิดหนึ่ง และจนถึงขณะนี้ (ยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการในการรวมกรณีของนักเรียนกรณีล่าสุด) มีชาวออสเตรเลีย 2 ราย ที่ต้องถูกตัดขาไปเพราะการติดเชื้อร้ายนี้
ศาสตราจารย์ พอล จอห์นสัน จากออสติน เฮลท์ (Austin Health) กล่าวว่า เป็นไปได้ว่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลบูรูลิ อัลเซอร์นั้น อยู่ในมูลของตัวพอสซัม และแพร่เชื้อสู่มนุษย์โดยมียุงเป็นพาหะนำเชื้อ
มีคำถามสำคัญที่เราไม่รู้คำตอบ โดยเฉพาะคำถามที่ว่า มันแพร่เชื้อไปได้อย่างไร เหตุใดมันจึงไปปรากฏในประชากรพอสซัมตั้งแต่แรก และมันจะไปปรากฏที่ไหนต่อไปศาสตราจารย์จอห์สัน ตั้งข้อสังเกต
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
แบคทีเรียกินเนื้อคนระบาดไม่หยุดในออสเตรเลีย
รู้ได้อย่างไรว่าอาจติดเชื้อชนิดนี้
อาจกินเวลาราว 4-6 เดือนนับตั้งแต่การได้รับเชื้อ กว่าที่บุคคลที่ติดเชื้อจะแสดงอาการ ซึ่งอาจเริ่มต้นจากผิวหนังบวมแดง
ปกติจะอยู่ที่ขาหรือแขน ซึ่งจะค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ในระยะแรก การติดเชื้ออาจเริ่มเป็นก้อนสีแดง
ขอบของแผลมักได้รับการอธิบายทางการแพทย์ว่า "ถูกทำลาย" ซึ่งหมายความว่าเนื้อเยื่อที่ตายแล้วอาจดูเหมือนขยายออกไปไกลกว่าแผลที่เกิดขึ้นจริงบนผิวหนัง
ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นเดี่ยวๆ แต่อาจเป็นหลายแผลหรือเกิดซ้ำก็ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการบวมบริเวณที่ติดเชื้อมาก และบางครั้งอาจส่งผลต่อแขนขาทั้งหมด ความเสียหายของเนื้อเยื่ออย่างกว้างขวางที่ต้องตัดแขนขานั้นหาได้ยากในออสเตรเลีย แต่อาจจำเป็นสำหรับการติดเชื้อที่รุนแรงมาก
คุณบ็อบ เล่าให้เอสบีเอสไทยฟังว่า ก่อนหน้าที่จะนักเรียนไทยรายนี้จะเริ่มมีอาการป่วย เธอมีอาการคันบริเวณหัวเข่า ซึ่งจากการสอบถาม ณ ตอนนั้น ได้รับคำตอบว่า เธอโดนแมลงไม่ทราบชนิดกัด
ตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าจะเกิดการลุกลามขนาดนี้ เพราะอาการคันจากการแมลงกัดน่าจะเป็นเรื่องปกติ จนผ่านมา 4-5 วัน เริ่มมีอาการไข้ จนเดินไม่ได้ และอาการทรุดอย่างรวดเร็วคุณบ็อบเล่าข้อสงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ
สิ่งที่ควรเฝ้าระวัง และหลีกเลี่ยง
การติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคนที่ทำให้เกิดแผลบูรูลิ อัลเซอร์ นี้มักพบได้บ่อยในช่วงเดือนที่อากาศอบอุ่นหรือร้อน รอยแผลถูกแมลงกัด หรือรอยบาดแผลที่ผิวหนังอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการติดเชื้อได้
องค์กรด้านการแพทย์และนักวิจัยเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคนที่ทำให้เกิดแผลแผลบูรูลิ อัลเซอร์ ต่างแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังในช่วงอากาศเริ่มอบอุ่นขึ้นไปจนถึงฤดูร้อน
โดยขอให้ทุกคนป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ช่วยกันกำจัดแหล่งน้ำขังที่ยุงอาจวางไข่ ทำความสะอาดแผล และปิดแผลที่อาจเป็นรอยถลอก รอยกัด รอยข่วน หรือรอยแผลจากของมีคมต่างๆ และควรใส่ถุงมือเมื่อทำสวน
รัฐบาลกลางให้ทุนเพื่อวิจัยเชื่อมโยงการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคแผลบูรูลิ อัลเซอร์ที่มากับยุง. (AAP) Source: AAP
น่าเสียดายที่การติดเชื้อเหล่านี้ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะตามปกติสำหรับการติดเชื้อที่ผิวหนัง และไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะหลายชุดก่อนการวินิจฉัย
ในอดีตทุกกรณีจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเช่นเดียวกับมะเร็งผิวหนัง ในออสเตรเลียบางครั้งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อเยื่อที่ได้รับผลกระทบออก แต่กรณีส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการ
ยาปฏิชีวนะที่ใช้สำหรับแบคทีเรียตัวนี้ มักจะสงวนไว้สำหรับการติดเชื้ออื่นๆ เช่น วัณโรค ซึ่งไม่ใช่ทางเลือกแรกของการรักษาโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยอาจลงเอยด้วยการต้องจ่ายค่ายานี้เองถึงราว 14,000 ดอลลาร์ต่อคน เนื่องจากยานี้ไม่ครอบคลุมอยู่ในโครงการชดเชยค่ายา ฟาร์มาซูติคอล เบเนฟิตส์ สกีม (Pharmaceutical Benefits Scheme) ของรัฐบาล
การใช้ยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียวกำลังได้รับการทดสอบในการทดลองในแอฟริกา และหากประสบความสำเร็จ จะเป็นข่าวดีสำหรับผู้ป่วยในภูมิภาคที่ศัลยแพทย์ขาดแคลน
ความคืบหน้างานวิจัยที่อาจเป็นความหวัง
(Tim Stinear) แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกเพื่อวิจัยเรื่องแบคทีเรียกินเนื้อ (WHO Collaborating Center for Mycobacterium Ulcerans) ที่สถาบัน Peter Doherty Institute for Infection and Immunity มีความก้าวหน้าอย่างมากในการทำความเข้าใจว่าโรคนี้แพร่กระจายได้อย่างไร และอะไรที่สามารถแพร่กระจายได้ จะทำเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียกินเนื้อ
พอสซัมหางแปรง (Trichosurus foxecula) Credit: Ardea Picture Library
“ข้อมูลของเราแสดงให้เห็นว่าการระบาดของแผลพุพองบูรูลิ Buruli เกิดขึ้นพร้อมกับพอสซัมที่มีแบคทีเรียจำนวนมาก” ศาสตราจารย์สติเนียร์กล่าว
“แม้จะเป็นสิ่งที่เราสงสัยมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การค้นพบนี้ยืนยันอย่างแน่ชัดถึงบทบาทที่สำคัญของพอสซัมพื้นเมืองของออสเตรเลียในการถ่ายทอดแบคทีเรียสู่มนุษย์”
ปัจจุบันนักเรียนไทยคนดังกล่าวได้รับการผ่าตัดขาเรียบร้อยแล้ว รวมถึงร่างกายเริ่มการตอบสนองกับยามากขึ้น มีสัญญาณของเชื้อแบคทีเรียที่ลดลง
คุณบ็อบ ซึ่งดูแลกรณีนี้มาตั้งแต่ต้นกล่าวทิ้งท้ายกับเอสบีเอสไทยว่า อยากฝากถึงนักเรียนไทย คนไทยในออสเตรเลีย หากสงสัยว่ามีอาการที่ส่อว่าจะเป็นโรคนี้ อย่ารอช้า ให้รีบพบแพทย์ทันที โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการสื่อสาร เพราะอย่างไรโรงพยาบาลจะมีล่ามให้บริการอยู่แล้ว
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ
Settlement Guide: จะลงทะเบียนใช้เมดิแคร์อย่างไร?