ผู้ประกอบการร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่างเคเอฟซี (KFC) หรือซับเวย์ (Subway) ในออสเตรเลียกำลังใส่กะหล่ำปลีลงไปในเบอร์เกอร์และแซนด์วิช ขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะผักกาดแก้วขาดแคลน
เคเอฟซี (KFC) ได้ประกาศแจ้งลูกค้าผ่านทางออนไลน์ว่า กำลังประสบปัญหาการหยุดชะงักของแหล่งผลิตผักกาด จากเหตุอุทกภัยในรัฐควีนส์แลนด์และรัฐนิวเซาท์เวลส์ที่กวาดล้างผลผลิตทางการเกษตรไปเป็นจำนวนมากเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ร้านฟาสต์ฟู้ดดังกล่าวต้องใช้ผักกาดแก้วและผักกะหล่ำปลีผสมกันไปอย่างไม่มีกำหนด
“เราขอบคุณทุกคนที่เป็น Little Gems ระหว่างที่เรากำลังทำงานเพื่อให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ” ประกาศจากเคเอฟซีระบุ
“หากนั่นไม่ใช่สิ่งที่คุณชอบ เพียงกดปุ่ม Customise บนอาหารที่คุณเลือกและนำผักกาดแก้วออกจากส่วนผสม” ประกาศจากเคเอฟซีระบุเสริม พร้อมเครื่องหมายอิโมจิใบหน้ายิ้ม
ส่วนร้านซับเวย์ (Subway) ก็ได้ออกประกาศในทำนองเดียวกันบนเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อประกาศ ‘คำอธิบายเกี่ยวกับผักกาด (lettuce explained)’
“การเป็นบริษัทอาหารสดใหม่ หมายถึงการต้องอยู่กับจังหวะขึ้น ๆ ลง ๆ ของผลิตภัณฑ์อาหารสด” ประกาศในเว็บไซต์ชับเวย์ ระบุ
“เรากำลังประสบปัญหาขาดแคลนผักกาดแก้วจากเกษตรกรผู้เพาะปลูกผักกาดแก้วในท้องถิ่นของเรา”
“ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เราจะผสมผักกาดแก้วกับกะหล่ำปลี ... ขณะที่ผักกาดแก้วกำลังจะมาถึงเราอีก”
ชาวออสเตรเลียได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในผลิตภัณฑ์บางชนิด ขณะที่มีการแชร์ภาพของผักกาดแก้วที่มีราคา $10 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมหรือมากกว่าทั่วโลกออนไลน์ แต่ไม่ได้มีเพียงผักกาดแก้วอย่างเดียวที่ได้รับผลกระทบ
เหตุอุทกภัยในพื้นที่ทางตะวันออกของออสเตรเลีย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลียระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นมาถึงร้อยละ 5.1 ภายในช่วงเวลาเพียง 3 เดือนแรกของปี 2022 เป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นสู่จุดสูงสุดของประเทศในรอบ 20 ปี และคาดว่าอาจจะเพิ่มสูงขี้นกว่านี้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ค่าครองชีพในออสเตรเลียกำลังพุ่งสูงขึ้น ทำไมทุกอย่างถึงแพงจัง?
นอกจากนี้ ราคาอาหารในประเทศยังเพิ่มขึ้นไปร้อยละ 4.3 ในช่วงเพียง 3 เดือนแรกของปี
การขาดแคลนในห่วงโซ่อุปทานที่นับตั้งแต่การหาวัตถุดิบไปจนถึงมือผู้บริโภค เหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงในปีนี้ และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมด ล้วนส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อที่เหนี่ยวรั้งระบบเศรษฐกิจของออสเตรเลีย
ระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (cash rate) ถึง 2 ครั้งไปถึงร้อยละ 0.85 ทำให้ผู้ที่กู้ยืมเงินส่วนมากต้องจ่ายเงินคืนมากกว่าเดิม
จิม ชาลเมอร์ส (Jim Chalmers) รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลีย ได้อธิบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในครั้งนี้ว่า “เป็นข่าวที่ลำบากใจอย่างมาก” ขณะที่ผู้ขอสินเชื่อบ้านกำลังเผชิญกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ยุติโครงการเงินช่วยลางานจากโควิด รมต.สธ.เตือนระวังโอมิครอนรอบใหม่