ภัยเงียบแอบแฝงของคนนอนน้อย

ผู้เชี่ยวชาญแนะชาวออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการนอนหลับ หลังพบประชากรเกินครึ่งนอนน้อย และปัญหาด้านสุขภาพการนอนหลับแอบแฝงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

Sleep study

Source: SBS

จากการวิจัยล่าสุดของมูลนิธิสุขภาพการนอนหลับ (Sleep Health Foundation) ระบุว่า มีชาวออสเตรเลียจำนวนน้อยที่ตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่น 

นางโดโรธี บรูก (Dorothy Bruck) ประธานมูลนิธิสุขภาพการนอนหลับ กล่าวว่า ปัญหาการนอนหลับไม่เพียงพอกำลังสร้างผลกระทบกับคุณภาพชีวิตชาวออสเตรเลียเกินกว่าครึ่ง
60% ของชาวออสเตรเลีย บอกว่ามีอาการของโรคนอนไม่หลับมากกว่าหนึ่งอาการ และเกิดขึ้นมากกว่า 3 ครั้งในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ นั่นหมายความว่า พวกเขามีปัญหาในการเข้านอน หรือการนอนหลับให้ต่อเนื่อง จากการตื่นขึ้นมากลางดึกหลายครั้ง นางบรูกกล่าว
การศึกษาดังกล่าว ซึ่งเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2,000 คน จากผู้คนทุกช่วงอายุ และทุกภูมิหลังทางวัฒนธรรม ยังได้พบอีกว่ามีชาวออสเตรเลียร้อยละ 15 ที่มีอาการนอนไม่หลับชนิดเรื้อรัง

นายแพทย์ปีเตอร์ เคลเลอร์ (Peter Keller) เป็นหนึ่งในผู้มีอาการดังกล่าว จนกระทั่งเขาได้เข้ารับการรักษา เมื่อ 28 ปีก่อน ขณะนี้เขาเป็นผู้อํานวยการบริหารศูนย์การนอนหลับซิดนีย์ (Sydney Sleep Centre) ซึ่งมีคลินิกจำนวน 11 แห่งที่ตรวจสอบ และรักษาความผิดปกติในการนอนหลับ เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnoea)
ตอนนั้นผมทำงานเป็นทันตแพทย์ แล้วอยู่มาวันหนึ่งขณะที่ผมกำลังเจาะฟันคนไข้ ผมถือเครื่องเจาะอยู่ในมือ จู่ ๆ ผมก็เผลอหลับไป โชคดีที่เครื่องมือไม่ได้อยู่ในปากคนไข้ มันก็ทำให้ผมกลัวมาก สำหรับคนไข้แล้วแทบไม่ต้องพูดถึงเลย นายแพทย์เคลเลอร์กล่าว
นายแพทย์เคลเลอร์ยังได้ทำให้แน่ใจว่า ปัญหาการนอนหลับของเขาได้รับการรักษา เขาเชื่อว่า หากเขาไม่รักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับ เขาน่าจะเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรเช่นเดียวกับพ่อของเขา
ผมคิดว่ามันเป็นอันตรายถึงชีวิต ไม่ใช่เพียงแค่กับผู้ที่มีอาการเท่านั้น แต่รวมถึงคนที่อยู่รอบข้างด้วย คุณก็ลองคิดดูว่าจะเป็นอย่างไรหากพวกเขาขับรถอยู่บนถนน หรือปฏิบัติงานกับเครื่องจักรกล แล้วพวกเขาเผลอหลับไป นายแพทย์เคลเลอร์กล่าว
อาการอ่อนเพลีย อารมณ์หุนหันพลันแล่น ไม่มีสมาธิ และหลายครั้งที่กิจกรรมในชีวิตถูกขัดจังหวะ เป็นส่วนหนึ่งของอาการโรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnoea) ซึ่งเกิดขึ้นโดยทั่วไปในผู้หญิงและผู้ที่เพิ่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ โดยการศึกษาล่าสุดของมูลนิธิสุขภาพการนอนหลับ พบปัญหาการเข้านอนเกิดขึ้นในหมู่วัยรุ่น ขณะที่ผู้มีอายุมากขึ้นกลับพบปัญหาตื่นบ่อยขณะหลับ และตื่นเช้าจนเกินไป

นางโดโรธี บรูก (Dorothy Bruck) ประธานมูลนิธิสุขภาพการนอนหลับยังกล่าวอีกว่า ความเครียดนั้นเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดในการนอนหลับพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ
“ปัญหาการเงิน การตกงาน สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ตกต่ำ เราพบสิ่งเหล่านี้พร้อมกันกับตัวชี้วัดทางสุขภาพหลายอย่าง แต่ฉันคิดว่า สิ่งที่เราเห็นในตอนนี้ก็คือ ผู้คนนำความว้าวุ่นมาไว้บนที่นอนด้วยขณะหลับ” นางบรูกกล่าว
ในบรรดาผู้ที่เข้ารับการรักษาความผิดปกติในการนอนหลับ มีสิ่งหนึ่งที่สอดคล้องกัน นั่นคือ เทคโนโลยีเป็นศัตรูตัวฉกาจในการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับแนะนำว่า ควรปิดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ก่อนเข้านอนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยในช่วงเวลาดังกล่าวคุณต้องไม่รับประทานอาหารเป็นจำนวนมากเกินไป และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

นางธานุชา โสธิรัตนัม (Thanusha Sothiratnam) เป็นนักเทคโนโลยีการนอนหลับที่ศูนย์การนอนหลับซิดนีย์ เธอสังเกตว่า คลินิกทั้ง 11 แห่งเริ่มมีผู้เข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นทุกปี หลังมีการให้ความรู้มากขึ้นเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างความผิดปกติในการนอนหลับและโรคเบาหวาน รวมถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับหัวใจและอายุที่สั้นลง
เมื่อหลายปีก่อนนั้น ผู้คนเข้ามาที่นี่เริ่มต้นจากผู้สูงอายุ จากนั้นพวกเขาก็บอกว่า ‘ฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลยในเรื่องนี้และเรื่องนั้น’ หลังจากที่เราเตรียมศึกษาการนอนของพวกเขา เราพูดและให้ความรู้กับพวกเขาว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ หลังจากนั้นพวกเขาก็พาลูกหลานเข้ามาที่นี่ มันเป็นเรื่องที่บอกต่อกันไปถึงคนในครอบครัว นางโสธิรัตนัมกล่าว
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับได้แนะนำว่า ผู้ใหญ่ควรนอนหลับอย่างน้อยวันละ 7 โมง ส่วนวัยรุ่นและเด็กในวัยเรียนควรนอนหลับอย่างมากสุดวันละ 10 ชั่วโมง


 

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 26 November 2019 11:26am
Updated 25 June 2021 7:40pm
By Camille Bianchi
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS News

Share this with family and friends