โครงการฉีดวัคซีนของออสเตรเลียประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง โดยกว่าร้อยละ 90 ของประชากรอายุ 16 ปีหรือมากกว่าได้รับการฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้ว และฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนไปแล้วกว่า 1.3 ล้านโดส
เนื่องจากการอุบัติขึ้นของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) กลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของออสเตรเลีย (Australian Technical Advisory Group on Immunisation หรือ ATAGI) ได้ลดระยะห่างของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังฉีดวัคซีนโดสที่สอง (เข็มที่สอง) ไปแล้วให้เหลือ 4 เดือน และหลังจากวันที่ 31 มกราคมเป็นต้นไปจะร่นระยะห่างลงอีกให้เหลือ 3 เดือน โดยรัฐบาลออสเตรเลียแนะนำให้ทุกคนรับวัคซีนเข็มกระตุ้นทันทีที่คุณมีสิทธิ์
การฉีดวัคซีนในออสเตรเลียนั้นฟรีสำหรับทุกคน แม้ว่าคุณจะไม่ใช่พลเมืองออสเตรเลียหรือไม่ใช่ผู้อยู่อาศัยถาวรก็ตาม นี่รวมไปถึงผู้ที่ไม่มีบัตรเมดิแคร์ (Medicare) ผู้มาเยือนจากต่างประเทศ นักเรียนต่างชาติ ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐาน และผู้ขอลี้ภัย
แต่ถ้าคุณเพิ่งมาถึงออสเตรเลียและไม่มีประวัติการฉีดวัคซีนที่นี่ การไปรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์ช็อตนั้นไม่ง่ายเหมือนเพียงแค่ไปยังร้านขายยาหรือศูนย์ฉีดวัคซีนแล้วพับแขนเสื้อขึ้น คุณจำเป็นต้องเตรียมเอกสารให้เรียบร้อยเสียก่อน จากนั้นขั้นตอนในการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นจะง่ายไม่ซับซ้อน
“รัฐบาลทำให้ค่อนข้างง่ายสำหรับทุกคนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนในออสเตรเลีย” คุณแคเทอรีน บรองเกอร์ เภสัชกรและเจ้าของร้านขายยา Chemistworks ย่านเวเทอริลล์ พาร์ก (Wetherill Park) ในซิดนีย์ กล่าวว่า
“เราเห็นคนจำนวนมากที่มารับการฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สอง ซึ่งไม่ได้เป็นพลเมืองออสเตรเลียเสมอไปและไม่มีบัตรเมดิแคร์ (Medicare) ดังนั้นเภสัชกรส่วนใหญ่จึงคุ้นเคยกับการช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้นตลอดกระบวนการฉีดวัคซีน”
สำหรับพลเมืองออสเตรเลียและผู้อยู่อาศัยถาวร
ขั้นตอนที่ 1: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าก่อนหน้านี้คุณได้รับวัคซีนที่ได้รับการรับรอง
ผู้ได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว ที่เป็นพลเมืองออสเตรเลีย ผู้อยู่อาศัยถาวร และผู้ถือวีซ่าบางประเภทที่มีสิทธิ์ ผู้สามารถเดินทางมายังออสเตรเลียได้โดยไม่ต้องยื่นขอยกเว้นการเดินทาง คุณจะถูกจัดว่าได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว หากคุณฉีดวัคซีนครบสองโดส โดยเป็นวัคซีนที่ได้การอนุมัติหรือรับรองโดย คณะกรรมาธิการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย (Australia’s Therapeutic Goods Administration หรือ TGA) ขณะนี้วัคซีนเหล่านี้ได้แก่:
- ได้รับวัคซีนสองโดส โดยมีระยะห่างระหว่างวัคซีนโดสแรกและโดสที่สองอย่างน้อย 14 วัน ซึ่งเป็นวัคซีน Vaxzevria (AstraZeneca), Covishield (AstraZeneca), Comirnaty (Pfizer/BioNtech), Spikevax หรือ Takeda (Moderna), Coronavac (Sinovac), Covaxin (Bharat Biotech) หรือ BBIBP-CorV (Sinopharm) วัคซีน Sinopharm ได้รับการยอมรับสำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีเพื่อการเดินทางมายังออสเตรเลียเท่านั้น
- ได้รับวัคซีนหนึ่งโดส เป็นวัคซีน Janssen-Cilag (จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน)
ทีจีเอ (TGA) กำลังประเมินวัคซีนอื่นๆ อย่างต่อเนื่องและเพิ่มลงในรายชื่อวัคซีนด้านบน สำหรับข้อมูลล่าสุด ให้ไปที่
ขั้นตอนที่ 2: เชื่อมโยงข้อมูลการฉีดวัคซีนในต่างประเทศกับ Australian Immunization Register
หากคุณเป็นพลเมืองออสเตรเลียหรือผู้อยู่อาศัยถาวรที่กลับมาจากต่างประเทศ คุณควรมีสิทธิ์มีบัตรเมดิแคร์ ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนการบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนในต่างประเทศค่อนข้างตรงไปตรงมา แม้ว่าคุณจะได้รับฉีดวัคซีนในประเทศอื่นก็ตาม
Australian Immunization Register (AIR) หรือ ทะเบียนการฉีดวัคซีนของออสเตรเลีย คือบันทึกข้อมูลวัคซีนที่ได้ฉีดให้ทุกคนในออสเตรเลีย
“ข้อมูลสำหรับวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ได้รับอนุมัติให้ฉีดในออสเตรเลียหรือที่ทีจีเอรับรองนั้น สามารถแจ้งแก่ AIR ได้ โดยผู้ให้บริการฉีดวัคซีนที่ได้รับการรับรอง (recognised vaccination provider) ในออสเตรเลีย” โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวคุณจะต้องยืนยันประวัติการฉีดวัคซีนของคุณที่สถานที่ฉีดวัคซีนก่อนจึงจะสามารถรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้
A nurse administers the Pfizer vaccine to a client at the St Vincent's Covid-19 Vaccination Clinic in Sydney. Source: Getty Images AsiaPac
บันทึกการฉีดวัคซีนที่ผ่านมาต้องเป็นภาษาอังกฤษ (ต้นฉบับหรือแปล) หากคุณต้องการแปลประวัติการฉีดวัคซีน วิธีที่ดีที่สุดคือใช้บริการนักแปลที่ได้รับการรับรองจาก NAATI
“ในขณะที่ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศสามารถใช้นักแปลที่ผ่านการรับรองในต่างประเทศได้ แต่เราพบว่าการใช้นักแปลที่ได้รับการรับรอง NAATI ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งอยู่ในออสเตรเลียนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุด ดังนั้น เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จึงจะสามารถมั่นใจได้ว่าสิ่งที่แปลมานั้นเป็นความจริงและถูกต้อง” คุณรีเบ็กกา แบ็กจิอาโน ที่ปรึกษาพิเศษของบริษัทตัวแทนดำเนินการด้านวีซ่า Fragomen ในบริสเบน กล่าว
ขั้นตอนที่ 3: จองเวลาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของคุณ
หากต้องการค้นหาผู้ให้บริการวัคซีนใกล้บ้านคุณ ให้ไปที่
สำหรับชาวต่างชาติ
หากคุณเป็นคนต่างชาติ รวมทั้งผู้มาเยือนจากต่างประเทศ นักเรียนต่างชาติ ลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่น หรือผู้ขอลี้ภัย และไม่มีบัตรเมดิแคร์ (Medicare) คุณจะต้องสร้างบันทึกการฉีดวัคซีน (vaccination record) ในออสเตรเลียก่อน จึงจะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์ช็อตได้
ขั้นตอนที่ 1: สร้างบัญชี myGov
ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างบัญชี myGov ได้ รวมถึงชาวต่างชาติ โดยจะต้องกรอกรายละเอียดหนังสือเดินทางและวีซ่าของตน คุณจำเป็นต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้จริงในออสเตรเลีย เพื่อสร้างบัญชี myGov ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
ขั้นตอนที่ 2: สร้าง Individual Healthcare Identifier
Personal Healthcare Identifier (IHI) เป็นหมายเลขเฉพาะที่ช่วยระบุตัวบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพในออสเตรเลีย คุณไม่จำเป็นต้องมี IHI หากคุณมีบัตรเมดิแคร์ (Medicare) หรือบัตรทหารผ่านศึก (DVA)
แต่หากไม่มีบัตรเหล่านั้น ก็ง่ายที่จะขอหมายเลข IHI คุณสามารถขอ IHI โดยใช้ อย่างไรก็ตาม จะรวดเร็วยิ่งกว่าหากสมัครออนไลน์เพื่อขอสร้าง IHI ซึ่งทำได้โดยเพียงแค่ล็อกอินเข้าไปยังบัญชี myGov ของคุณ เลือกบริการ (select services) หรือเชื่อมโยงบริการแรกของคุณ (link your first service) เลือก IHI Service จากรายการ จากนั้นเพียงทำตามคำแนะนำเพื่อรับหมายเลข IHI ของคุณและเชื่อมโยง IHI กับบัญชี myGov ของคุณ
ขั้นตอนที่ 3: จองเวลาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของคุณ
เมื่อคุณมีบัญชี myGov และ IHI เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาจองการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์ช็อตของคุณ
หากต้องการค้นหาผู้ให้บริการฉีดวัคซีนใกล้บ้านคุณ ให้ไปที่ และกากบาทหรือทำเครื่องหมายที่ช่องสำหรับผู้ไม่มีบัตรเมดิแคร์ (without a Medicare card) ที่ด้านล่างของหน้าจอ ซึ่งนี่จะนำคุณไปยังข้อมูลคลินิกที่คุณจะสามารถจองนัดได้โดยไม่ต้องใช้บัตรเมดิแคร์
อย่าลืมพกหลักฐานของเกี่ยวกับวัคซีนที่ได้ฉีดไปแล้วในต่างประเทศไปยังสถานที่ฉีดวัคซีนในออสเตรเลีย พร้อมกับรายละเอียด IHI ของคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่สถานที่ฉีดวัคซีนจะสามารถบันทึกการฉีดวัคซีนที่ผ่านมาของคุณพร้อมกับรายละเอียดของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นลงใน IHI ของคุณได้
"กระบวนการนี้นั้นใช้เวลาประมาณ 20 นาทีสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่จะบันทึกประวัติการฉีดวัคซีนครั้งก่อนๆ รวมทั้งรายละเอียดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่พวกเขาได้ฉีดให้แก่ผู้มารับบริการ" คุณ บรองเกอร์ กล่าว
แม้ว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะฟรีสำหรับทุกคน แต่เภสัชกรบางคนอาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ในการช่วยคุณจัดการบันทึกการฉีดวัคซีนให้เรียบร้อย
“เภสัชกรบางคนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเล็กน้อยสำหรับค่าเสียเวลาที่พวกเขาช่วยผู้มารับบริการให้เข้าถึง IHI ของตนได้ หรือช่วยนำผู้มารับบริการผ่านกระบวนการนั้น เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับค่าตอบแทนจากรัฐบาล” คุณบรองเกอร์ เภสัชกรและเจ้าของร้านขายยาแห่งหนึ่งในซิดนีย์ กล่าว
ค่าธรรมเนียมอาจแตกต่างกันไปในร้านขายยาแต่ละแห่ง ดังนั้นจึงควรโทรศัพท์ไปยังร้านขายยาเพื่อตรวจสอบรายละเอียดค่าธรรมเนียมที่อาจมี เมื่อทำการนัดหมาย
หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ออสฯ เปิดพรมแดนให้ผู้ถือวีซ่าอีกครั้งในรอบเกือบ 2 ปี