‘ผมไม่ขอโทษ’: เฟรเซอร์ แอนนิง ยันชูโยบายออสเตรเลียผิวขาวและห้ามผู้อพยพมุสลิม

NEWS: วุฒิสมาชิกเฟรเซอร์ แอนนิง พูดคุยกับเอสบีเอสนิวส์ เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับคำปราศรัยครั้งแรกในสภาฯ ของเขา

Senator Anning speaking to SBS News

วุฒิสมาชิกแอนนิงขณะพูดคุยกับเอสบีเอสนิวส์ Source: SBS News

นายเฟรเซอร์ แอนนิง วุฒิสมาชิกจากรัฐควีนส์แลนด์ ได้กล่าวหานางพอลลีน แฮนสัน อดีตหัวหน้าของเขา ว่าหักหลังเหล่าผู้สนับสนุนดั้งเดิมของเธอ โดยเขากล่าวกับเอสบีเอสนิวส์หลังจากที่เรียกร้องให้ระงับการอพยพย้ายถิ่นฐานโดยผู้ซึ่งไม่ใช่ชาวยุโรป ที่ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงจากเกือบทุกพรรคการเมืองในรัฐสภา

วุฒิสมาชิกอิสระคนดังกล่าวได้รับการเลือกตั้งหลังเข้ามาจากการนับคะแนนเสียงซ้ำสองเพื่อหาตัวแทนนายมัลคอล์ม โรเบิร์ตส์จากพรรควันเนชัน แต่นายแอนนิงก็ลาออกจากพรรคดังกล่าวในวันแรกของการเข้าทำงาน ก่อนที่จะเข้าร่วมกับพรรคแคตเทอร์ออสเตรเลียปาร์ตี ในเวลาต่อมา

วุฒิสมาชิกแอนนิง ได้ใช้คำปราศรัยแรกของเขาเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา (14 มิ.ย.) เพื่อเรียกร้องให้มี “การแก้ปัญหาขั้นสุดท้าย (final resolution) ต่อปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าประเทศ” และผลักดันให้มีการหวนกลับไปสู่นโยบายออสเตรเลียผิวขาว

ซึ่งการอ้างอิงถึง “การแก้ปัญหาขั้นสุดท้าย” นั้นได้รับการตีความอย่างกว้างขวางว่าเป็นการสอดแทรกการอ้างอิงถึงนโยบายอันอื้อฉาวของนาซีซึ่งเป็นเสาหลักของความพยายามของนายอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวซึ่งอยู่ในดินแดนที่ยึดครองมาได้ในยุโรประหว่างสงความโลกครั้งที่สอง
รัฐมนตรีพลังงาน จายจอช ฟรายเดนเบิร์ก ซึ่งมีญาติหลายคนเป็นชาวฮังการีที่ผ่านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังกล่าวมาได้ ก็เป็นหนึ่งในผู้ซึ่งเรียกร้องให้มีการขอโทษ

แต่เมื่อพูดคุยกับเอสบีเอสนิวส์เมื่อเย็นวานนี้ (พุธ 15 ส.ค.) หลังจากที่ สส. เป็นจำนวนหลายสิบคนและเหล่าวุฒิสมาชิกต่างประณามคำปราศรัยของเขา วุฒิสมาชิกแอนนิงกลับยืนยันว่าเขาจะไม่ขอโทษ

“ผมไม่พูดขอโทษ ผมไม่มีอะไรที่ทำให้จะขอโทษ” เขากล่าว

“ไม่แม้กระทั่งตลอดชีวิต”

ผู้นำพรรควันเนชัน นางพอลลีน แฮนสัน ก็เป็นหนึ่งในเสียงประณามเมื่อวานนี้ โดยเธอกล่าวว่า อดีตพันธมิตรของเธอคนดังกล่าว “ล้ำเส้นไปไกลเกิน” และก็กล่าวว่า คำปราศรัยดังกล่าวนั้น “ตรงมาจากหนังสือคู่มือของนายเจอเบลส์จากนาซีเยอรมนี”

วุฒิสมาชิกแอนนิงกล่าวว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้นพิสูจน์ให้เห็นว่า นางแฮนสันนั้น “ราวกับว่าหันหลังให้กับผู้คนซึ่งเลือกเธอมา”

“ช่างน่าเสียดายที่เธอหลงทาง เธออยากจะพูดอะไรก็พูดไป นั่นก็แล้วแต่เธอเพียงคนเดียว”

ผู้นำพรรคของวุฒิสมาชิกแอนนิง นายบ็อบ แคตเทอร์ ได้เคยกล่าวโดยคล้ายคลึงกันในการแถลงต่อสื่อก่อนหน้านี้

“[พอลลีน แฮนสัน] กำลังทอดทิ้งพื้นที่ที่ทำให้เธอนั้นอื้อฉาวหรือโด่งดัง” นายแคตเทอร์กล่าว

หัวหน้าพรรค KAP คนดังกล่าวได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เขาสนับสนุนคำพูดของนายแอนนิง “1000 เปอร์เซ็นต์” และอธิบายว่าคำปราศรัยดังกล่าวนั้น “ยิ่งใหญ่” และเป็น “ทองแท่ง (solid gold)”

“90 เปอร์เซ็นต์ของออสเตรเลียนั้นได้รอคอยให้ใครสักคนที่จะพูดออกมาและก็เชื่อในเรื่องนี้”



ส่วนญัตติในวุฒิสภาเพื่อยกย่องอดีตรัฐบาลพรรคลิเบอรัลของนายแฮโรลด์ โฮลต์ ที่ได้ยกเลิกนโยบายออสเตรเลียผิวขาวนั้น ก็ผ่านโดยไม่มีผู้คัดค้าน โดยที่วุฒิสมาชิกแอนนิงนั้นไม่ได้อยู่ในห้องประชุมวุฒิสภาฯ

ญัตติดังกล่าว แทบจะเหมือนกับอีกญัตติซึ่งคล้ายคลึงกัน ซึ่งถูกยื่นเสนอโดยนายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน นายบ็อบ ฮอว์ก ในปี ค.ศ. 1988 ซึ่งญัตติดังกล่าวสนับสนุน “นโยบายการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าประเทศอันไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ” และกล่าวว่า รัฐบาลนั้น ไม่ควรที่จะคำนึงถึง “เชื้อชาติหรือที่มาทางชาติพันธุ์” เมื่อพิจารณาว่าใครจะได้รับอนุญาติให้มายังประเทศออสเตรเลีย

โดยที่ฉบับร่วมสมัยปี 2018 นั้นเพิ่มเติมคำว่า “ความเชื่อ (faith)” เข้าไปในถ้อยคำด้วย เพื่อเป็นการตอบโต้อย่างแยบยลต่อคำเรียกร้องของวุฒิสมาชิกแอนนิงที่ต้องการให้มีการห้ามผู้อพยพย้ายถิ่นฐานซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม

วุฒิสมาชิกแอนนิงนั้นถูกประณามรอบวง ไม่ว่าจะเป็นจากพรรคร่วม พรรคแรงงาน พรรคกรีนส์ พรรคเดอะเซ็นเตอร์อะไลอันซ์ ตลอดจนวุฒิสมาชิกอิสระนายเดร์ริน ฮินช์ และนายทิม สโตเรอร์

วุฒิสมาชิกอิสระหัวเสรีนิยมนายเดวิด ไลออนเฮล์มกล่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับประเด็นหลักๆ ของคำปราศรัยดังกล่าว แต่ก็ปกป้องการอ้างอิงของวุฒิสมาชิกแอนนิงถึง “การแก้ปัญหาขั้นสุดท้าย” โดยอธิบายถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นว่า “เป็นปฏิกริยาที่เกินกว่าเหตุอันน่าตลก ต่อคำศัพท์เพียงคำเดียวซึ่งมีความหมายได้หลายต่อหลายอย่าง”



วุฒิสมาชิกแอนนิงกล่าวว่า เขาไม่รู้สึกหวาดหวั่นใดๆ ที่จะกลับเข้าไปในห้องประชุมวุฒิสภาฯ แม้จะมีคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู

“ผมทำผับหลายๆ แห่ง ซึ่งเถื่อนที่สุดในออสเตรเลีย” เขากล่าวกับเอสบีเอสนิวส์

“เพราะฉะนั้นการเดินเข้าไปในวุฒิสภานั้นไม่น่ากลัวใดๆ สำหรับผม ผู้คนสามารถที่จะโกรธขึ้งหรือรู้สึกไม่พอใจได้ แต่นั่นก็ไม่ถึงตาย มันก็เป็นสิทธิของพวกเขาที่จะไม่พอใจ ผมขอบอกพวกเขาว่าให้แกร่งขึ้นให้มากกว่านี้แล้วก็หัดทำใจให้ได้”




Share
Published 16 August 2018 11:40am
Updated 17 August 2018 12:11pm
By James Elton-Pym
Presented by Tanu Attajarusit
Source: SBS World News


Share this with family and friends