"ไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น" กำลังระบาดในออสเตรเลีย

ฝนถล่ม-น้ำท่วมหนักทำยุงชุม พาหะไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นระบาดหนักในออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญชี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแต่บางรายอาจถึงชีวิต คาดสาธารณสุขอาจทบทวนอนุญาตฉีดวัคซีนป้องกันหากระบาดหนักกว่านี้

Humans contract the virus through mosquito bites.

Humans contract the virus through mosquito bites. Source: AAP / University of Glasgow/PA

หน่วยงานสาธารณสุขกำลังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หลังตรวจพบไวรัสที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตในโรงเรือนสุกรบางแห่งทั่วรัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐควีนส์แลนด์ รัฐเซาท์ออสเตรเลีย และรัฐวิกตอเรีย

ไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น (Japanese Encephalitis Virus หรือ JEV) พบได้ในสุกรและนก แต่สามารถแพร่เชื้อสู่คนได้ผ่านการถูกยุงกัด แม้ผู้คนส่วนมากจะไม่มีอาการใด ๆ จากไวรัสดังกล่าว แต่ในบางกรณีไวรัสนี้อาจนำไปสู่การติดเชื้อในสมองที่รุนแรงถึงชีวิตได้

ไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นพบได้ทั่วประเทศปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะทอร์เรส สเตรท แต่ก็พบได้เป็นบางครั้งในออสเตรเลียแผ่นดินใหญ่โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์

ซอนยา เบนเนตต์ (Sonya Bennett) รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของออสเตรเลียได้ประกาศให้โรคไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นเป็น “อุบัติการณ์โรคติดต่อที่มีความสำคัญระดับชาติ (communicable disease incident of national significance)”

เมื่อบ่ายวานนี้ (8 มี.ค.) มีผู้ติดเชื้อไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นในออสเตรเลียที่ได้รับการยืนยันแล้ว 9 ราย ซึ่งรวมถึงชายและเด็กคนหนึ่งในพื้นที่ชนบทของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ขณะที่ผู้ติดเชื้อคนอื่น ๆ กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค

ในคืนวันเดียวกัน หน่วยงานสาธารณสุขรัฐวิกตอเรียยืนยันว่า ชายคนหนึ่งในวัยราว 60 ปีจากพื้นที่ทางเหนือของรัฐวิกตอเรีย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยผลชันสูตรได้เปิดเผยว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น โดยจนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังคงอยู่ในระหว่างการสอบสวนว่า ชายคนดังกล่าวติดเชื้อไวรัสนี้มาได้อย่างไร

“เราขอแสดงความเสียใจไปยังเพื่อนและครอบครัวของเขาในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้”  โฆษกหน่วยงานสาธารณสุขรัฐวิกตอเรีย กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

โรคไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นอันตรายแค่ไหน

ดร.อาลี เซด (Dr Ali Zaid) นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ (Griffith University) กล่าวว่า ไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นคือ “ฟลาวิไวรัส” ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกและไข้เหลือง  โดยมนุษย์ร้อยละ 99 ที่ติดเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นจะยังคงมีสุขภาพดีโดยไม่แสดงอาการใด ๆ แต่ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนนำไปสู่โรคไข้สมองอักเสบ

“แต่ประมาณหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ติดเชื้อนี้อาจพัฒนาอาการไปสู่โรคติดต่ออย่างไข้สมองอักเสบได้” ดร.เซด กล่าว

“ในประมาณ 20% ของผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย ไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้”

Malaysian vets vaccinate pigs to prevent Japanese encephalitis virus during an outbreak in 1999.
สัตวแพทย์ในมาเลเซียกำลังฉีดวัคซีนให้หมูเพื่อป้องกันไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น (JEV) ในการแพร่ระบาดปี 1999 Source: AAP / ALAN TEH/AP


โรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) คือคำจำกัดความทางการแพทย์ของอาการสมองบวม โดยในมนุษย์มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ เป็นไข้ คอตึง และในบางกรณีอาจเป็นอัมพาตได้

จนถึงขณะนี้ มีการตรวจพบไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นในโรงเรือนสุกรจำนวน 42 แห่งทั่วรัฐควีนส์แลนด์ รัฐวิกตอเรีย รัฐเซาท์ออสเตรเลีย และรัฐนิวเซาท์เวลส์

ไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นแพร่เชื้อได้อย่างไร

มนุษย์ได้รับเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นผ่านการถูกยุงกัด แต่อย่างไรก็ตามไวรัสนี้ไม่อาจแพร่กระจายจากคนสู่คน และมนุษย์ก็ไม่สามารถติดเชื้อไวรัสนี้ได้จากการรับประทานผลิตภัณฑ์เนื้อหมู

หมูและนกน้ำ คือแหล่งเพาะพันธุ์ไวรัสชนิดนี้ โดยยุงที่มากัดพวกมันจะติดเชื้อ ซึ่งกลายเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่มนุษย์ในที่สุด ในประเทศมาเลเซีย มีการฆ่าหมูนับแสนตัวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นเมื่อช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990
สำหรับในออสเตรเลีย การติดเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นในมนุษย์จำกัดอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือสุดของรัฐควีนส์แลนด์ แต่คาดว่าสภาพอากาศที่รุนแรงซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เป็นสาเหตุที่ทำให้ไวรัสดังกล่าวแพร่กระจายลงมายังพื้นที่ทางใต้ของประเทศ

รอย ฮอล (Roy Hall) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าวว่า ไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นที่เข้ามายังออสเตรเลียแผ่นดินใหญ่ เป็นไปได้ว่าจะมาจากประเทศปาปัวนิวกินี หรืออินโดนีเซีย

“การแพร่กระจายของมันไปยังพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย เกิดหลังจากฝนที่ตกอย่างหนักในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ และในลุ่มน้ำเมอร์รีย์ดาร์ลิง (Murray Darling basin) ซึ่งเป็นจุดที่ไวรัสถูกนำพาลงมายังพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้โดยนกน้ำที่ติดเชื้อและบินลงใต้ ซึ่งเชื้อไวรัสจะหมุนเวียนอยู่ในตัวนกและยุงจากแหล่งน้ำที่พวกมันอยู่อาศัย”

จะทำอย่างไรให้ปลอดภัย

หน่วยงานสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ได้เน้นถึงความสำคัญของการปกป้องตัวคุณจากการถูกยุงกัด เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น (JEV) ซึ่งรวมถึงการปกปิดผิวหนังที่เปลือยเปล่า หรือทายากันยุงเมื่ออยู่นอกบ้าน

“ใช้ยากันยุงที่มีสาร DEET (N, N-diethyl-meta-toluamide) หรือพิคาริดิน (Picaridin) หลีกเลี่ยงการอยู่ข้างนอกในช่วงพลบค่ำและรุ่งสาง และกำจัดน้ำขังรอบบริเวณบ้าน คือวิธีที่ดีที่สุดในการจำกัดการแพร่พันธุ์ของยุงเหล่านี้” ดร.เซด กล่าว

ศาสตราจารย์เคน ลีเดอร์ (Prof Kain Leder) หัวหน้าหน่วยงานโรคติดต่อจากมหาวิทยาลัยโมแนช กล่าวว่า ในออสเตรเลียมีวัคซีนไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น 2 ชนิด แต่ตามปกติแล้วจะฉีดให้กับผู้เดินทางเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้หากไวรัสนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

“เมื่อจำนวนและขอบเขตการติดเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นในอนาคตขยายวง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาจต้องพิจารณาขยายคำแนะนำการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่มีแนวโน้มจะติดเชื้อ” ศาสตราจารย์ลีเดอร์ กล่าว


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด

หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่  
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

วิธีขอรับเงินเยียวยาน้ำท่วมจากรัฐบาลออสเตรเลีย


Share
Published 9 March 2022 2:42pm
By Steven Trask
Presented by Tinrawat Banyat

Share this with family and friends