บทวิเคราะห์ฉบับใหม่ชี้ คนโสดชาวออสเตรเลียที่มีรายได้เทียบเท่าค่าจ้างขั้นต่ำมีกำลังจ่ายค่าเช่าได้เพียงร้อยละ 1.2 ของอสังหาริมทรัพย์ที่ประกาศให้เช่า ส่วนผู้รับเงินจ๊อบซีกเกอร์กว่า 1.24 ล้านคน มีรายรับพอจ่ายค่าเช่าได้เพียงสามแห่งจากประกาศทั้งหมดที่สำรวจในรายงาน
รายงานสถานการณ์ความสามารถในการจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัยทั่วประเทศ (Rental Affordability Snapshot) เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (29 เม.ย.) โดยองค์กรแองกลิแคร์ (Anglicare) ระบุว่า ที่พักอาศัยค่าเช่าเอื้อมถึงสำหรับผู้มีรายได้เทียบเท่าค่าจ้างขั้นต่ำ มีจำนวนลดลงกว่าครึ่งจาก 1,688 แห่งเมื่อปี 2020 เหลือเพียง 859 แห่งในปีนี้
นางเคซี แชมเบอส์ (Kasy Chambers) กรรมการบริหารองค์กรแองกลิแคร์ กล่าวว่า “ไม่ช่วยเพิ่ม” ความสามารถในการจ่ายค่าที่พักอาศัยแต่อย่างใด อีกทั้งตอนนี้จำนวนที่พักอาศัยให้เช่าในราคาจ่ายได้ยังลดน้อยลงกว่าช่วงก่อนเพิ่มเงินสวัสดิการ
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลมอร์ริสันถูกวิจารณ์ท่าทีต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ
“เราจึงจำเป็นต้องยกระดับจ๊อบซีกเกอร์และเงินสวัสดิการอื่น ๆ ให้อยู่เหนือเส้นความยากจน ถ้าเราไม่ทำเช่นนั้น คนตกงานจะยิ่งกดดันเรื่องที่อยู่อาศัย จนอาจถึงขั้นกลายเป็นคนไร้บ้าน” นางแชมเบอส์กล่าว
จากการสำรวจประกาศที่พักอาศัยให้เช่า 74,000 แห่ง มีเพียงสามแห่งที่ไม่เกินกำลังคนโสดที่รับเงินสวัสดิการจ๊อบซีกเกอร์ ส่วนผู้รับเงินช่วยเหลือคนพิการ (Disability Support Pension) จ่ายค่าเช่าได้ 236 แห่ง และผู้รับเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ (Aged Care Pension) จ่ายค่าเช่าได้ 386 แห่ง
ที่พักอาศัยทั้งสามแห่งที่จ่ายค่าเช่าได้ด้วยเงินจ๊อบซีกเกอร์เป็นประเภทอาศัยร่วมกับผู้อื่น ตั้งอยู่ในนครบริสเบน นครเพิร์ท และภูมิภาครีเวอรินา (Riverina) รัฐนิวเซาท์เวลส์ ไม่พบที่พักราคาจ่ายได้ในนครซิดนีย์หรือนครเมลเบิร์น
ทั่วประเทศไม่พบที่พักอาศัยที่มีค่าเช่าอยู่ในระดับจ่ายได้สำหรับเยาวชนที่อาศัยเบี้ยยังชีพเยาวชน (Youth Allowance) แม้แต่บ้านที่อาศัยร่วมกับผู้อื่น
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
คำสั่งห้ามขับไล่ผู้เช่าบ้านช่วงโควิดสิ้นสุดสัปดาห์นี้
สำหรับคู่ครองที่ตกงานและมีบุตร มีที่พักให้เช่าราคาจ่ายได้ราว 270 แห่ง ลดลงจาก 589 แห่งเมื่อปีก่อน
รายงานระบุว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อยประสบความยากลำบากกว่าเดิมกับตลาดที่พักอาศัยให้เช่าเมื่อเทียบกับบทวิเคราะห์ของปีที่แล้ว
บทวิเคราะห์นี้อิงเกณฑ์มาตรฐานวัดความสามารถในการจ่ายค่าเช่าที่ร้อยละ 30 ของรายได้ครัวเรือน ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ทั่วไป
ด้านนางแชมเบอส์เรียกร้องรัฐบาลให้ความสำคัญเร่งด่วนกับประเด็นที่พักอาศัยที่จ่ายได้ในแผนงบประมาณแผ่นดินที่มีกำหนดเผยแพร่รายละเอียดช่วงเดือนหน้า ขณะที่ประเทศเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19
นางแชมเบอส์ยังเพิ่มเติมด้วยว่า ประเทศขาดแคลนที่พักอาศัยราคาเอื้อมถึงอย่างน้อย 500,000 แห่ง
“เราได้ยินมาตลอดว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวที่ว่านี้ทอดทิ้งคนไว้ข้างหลังมากเหลือเกิน” นางแชมเบอส์กล่าว
“การลงทุนในที่พักอาศัยอาจเป็นวิธีที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการต่อกรกับวิกฤติค่าเช่า รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนภูมิภาคเมื่อผ่านพ้นปีอันยากลำบากนี้”
นางคาสซานดรา โกลดีย์ (Cassandra Goldie) ประธานบริหารสภาบริการสังคมออสเตรเลีย (Australian Council of Social Services) กล่าวว่า ผู้มีรายได้น้อยในออสเตรเลีย “เสี่ยงอย่างยิ่งต่อการตกอยู่ในภาวะไร้บ้าน” เนื่องจากอัตราการว่างงานและทำงานต่ำกว่าระดับเพิ่มสูงขึ้นเคียงคู่ค่าเช่าที่พักอาศัย
“รัฐบาลต้องจัดการกับพายุใหญ่ที่กำลังก่อตัวตรงหน้าเรานี้ ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังท่ามกลางวิกฤติ ไม่ปล่อยให้พวกเขาต้องอยู่อย่างแร้นแค้นและกลายเป็นคนไร้บ้าน”
“หมายความว่า ต้องรับรองว่าเงินอุดหนุนรายได้จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนออกจากความยากจน ตลอดจนลงทุนสร้างเคหะสงเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนที่พักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย พร้อมกับสร้างงานหลายพันตำแหน่ง”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
5 ข้อควรรู้เมื่อลูกอยู่หน้าจอ