ชาวออสฯ เกินครึ่งหนุนปูทางให้ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวได้อยู่ถาวร

งานวิจัยล่าสุดพบชาวออสเตรเลียเกินครึ่งอยากให้ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวทุกประเภทได้โอกาสปักหลักอยู่ที่นี่ถาวร ด้านคนทำงานเพื่อผู้อพยพย้ายถิ่นแนะใช้โอกาสช่วงโควิดปฏิรูประบบวีซ่า

Almost 80 percent of Australians support a pathway to permanent residency for migrants who have lived and worked here for several years, new research shows.

Almost 80 percent of Australians support a pathway to permanent residency for migrants who have lived and worked here for several years, new research shows. Source: AAP

งานวิจัยล่าสุดที่พบว่า ชาวออสเตรเลียส่วนมากสนับสนุนให้มีหนทางสู่การเป็นประชากรถาวร สำหรับผู้อพยพย้ายถิ่นที่ได้อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศนี้เป็นเวลาหลายปี

การสำรวจที่ดำเนินการโดยศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Law Centre) จากชาวออสเตรเลียจำนวน 1,095 คน พบว่า ร้อยละ 78 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเชื่อว่า ผู้ที่อาศัยและทำงานอยู่ที่นี่ด้วยวีซ่าชั่วคราว “ควรมีความมั่นคง เพื่อที่พวกเขาจะได้วางแผนชีวิตในแบบที่พวกเขาต้องการได้”

การสำรวจดังกล่าวมีขึ้นหลังรายงานที่จัดทำโดยศูนย์คนทำงานอพยพย้ายถิ่น (Migrant Workers Centre) เมื่อปีที่ผ่านมาเปิดเผยว่า มีความเชื่อมโยงที่เหนียวแน่นระหว่างการถูกเอารัดเอาเปรียบในสถานที่ทำงาน และผู้มีสถานะวีซ่าชั่วคราว โดยได้ให้เหตุผลว่าควรที่จะมีหนทางที่มากขึ้นในการได้เป็นประชากรถาวรในออสเตรเลีย

ผลสำรวจล่าสุดที่ได้มีการสำรวจเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 58 เชื่อว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนคนทำงานในงานเฉพาะทาง และอีกร้อยละ 33 เชื่อว่าพวกเขาทำงานที่ได้ค่าจ้างน้อยซึ่งชาวออสเตรเลียไม่ต้องการที่จะทำ

ในบรรดาผู้ที่ได้รับการสำรวจความเห็น ร้อยละ 54 เชื่อว่าผู้อพยพย้ายถิ่นนำความหลายหลายทางวัฒนธรรมมายังออสเตรเลีย และร้อยละ 24 เชื่อว่าผู้อพยพย้ายถิ่นจะชะลอการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของออสเตรเลียได้

ร้อยละ 79 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเห็นด้วยว่า “หากผู้อพยพย้ายถิ่นอาศัยและทำงานอยู่ในออสเตรเลียอยู่แล้วพวกเขาควรที่จะมีหนทางสู่การได้เป็นประชากรถาวร” และร้อยละ 55 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเห็นด้วยว่า “ผู้อพยพย้ายถิ่นควรมีความสามารถในการวางแผนอนาคตของตัวเองที่นี่ไม่ว่าจะถือวีซ่าชนิดใดก็ตาม”

นายเดวิด เบิร์ก (David Burke) ผู้อำนวยการด้านกฎหมายจากศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Law Centre) กล่าวว่า ทุกคนควรมีโอกาสได้วางแผนชีวิตอย่างที่ตนเองต้องการ

“แต่ระบบวีซ่าของรัฐบาลสหพันธรัฐทำให้ผู้คนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และบ่อยครั้งที่พวกเขาไม่ได้อยู่กับครอบครัวอย่างพร้อมหน้า แม้ว่าพวกเขาจะอาศัยและทำงานอยู่ที่นี่มาหลายปีแล้ว” นายเบิร์ก กล่าว

“ผลสำรวจเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ผู้คนรับรู้ได้ถึงความไม่ยุติธรรมของนโยบายต่าง ๆ ที่ปล่อยให้เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนของพวกเขาตกอยู่ในความไม่แน่นอนเพียงเพราะวีซ่าที่ผู้คนเหล่านั้นถืออยู่”
นายแมตต์ คันเคล (Matt Kunkel) ประธานบริหารศูนย์คนทำงานอพยพย้ายถิ่น (Migrant Workers Centre) กล่าวว่า ระบบการอพยพย้ายถิ่นฐานของออสเตรเลียในขณะนี้ต้องพึ่งพาผู้ที่ถือวีซ่าชั่วคราวเป็นอย่างมาก

“สิ่งที่เราพลาดไปจริง ๆ นั่นก็คือโอกาสที่จะมอบความมั่นคงให้กับผู้อพยพย้ายถิ่นในการวางแผนสำหรับอนาคต และการมอบวีซ่าที่มีความถาวรซึ่งทำให้พวกเขาสามารถปักหลักและสร้างชุมชนไปพร้อมกับพวกเราที่เหลือ” นายคันเคล กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

“สิ่งที่เราพบเห็นจากบรรดาผู้ถือวีซ่าชั่วคราวเหล่านี้คือสถานภาพที่ยากลำบากสำหรับคนทำงานอพยพย้ายถิ่นในสถานที่ทำงาน รวมถึงผลกระทบอย่างมากต่อสภาพจิตใจจากการที่ต้องเป็นผู้ถือวีซ่าชั่วคราวอย่างถาวร ต้องเปลี่ยนจากวีซ่าชั่วคราวชนิดหนึ่งสู่อีกชนิดหนึ่ง โดยไม่มีความมั่นคงของการได้ลงหลักปักฐาน”

นายคันเคล กล่าวอีกว่า ข้อได้เปรียบของระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้คนเดินทางมายังออสเตรเลียได้เป็นการชั่วคราว “ให้ประโยชน์เพียงด้านเดียว”  และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยากลำบากสำหรับผู้ที่มองหาโอกาสในการตั้งหลักปักฐานอย่างถาวร

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รายงาน ‘Living in Limbo’ ของศูนย์คนทำงานอพยพย้ายถิ่น จากการสำรวจผู้ถือวีซ่าชั่วคราวกว่า 700 คน พบว่าร้อยละ 65 มีประสบการณ์ถูกขโมยค่าจ้าง และ 1 ใน 4 จากผู้ถือวีซ่าชั่วคราวที่ได้รับการสำรวจเคยเผชิญหน้ากับการเอารัดเอาเปรียบแรงงานในรูปแบบอื่น ๆ

รายงานดังกล่าวยังพบอีกว่า ในบรรดาคนทำงานที่ได้รับการสำรวจในรายงานนี้ ร้อยละ 91 ของผู้ที่เคยประสบเหตุถูกขโมยค่าจ้างเดินทางมาถึงออสเตรเลียในวีซ่าที่ไม่มีหนทางสู่การเป็นประชากรถาวร

“สิ่งที่เรื่องนี้แสดงให้เราเห็นก็คือ วีซ่าชั่วคราวเหล่านี้มีความท้าทายอย่างมาก นั่นก็เพราะว่าเมื่อใดที่คนทำงานมีสิทธิ์อาศัยอยู่อย่างถาวร หรือมีหนทางสู่การได้เป็นประชากรถาวร เราจะพบเห็นการถูกล่วงละเมิดในสถานประกอบการในลักษณะนี้ลดน้อยลง” นายคันเคล กล่าว

“เราจำเป็นต้องคิดกันใหม่ในเรื่องของระบบการอพยพย้ายถิ่น ที่จะนำการอพยพย้ายถิ่นถาวรกลับสู่แกนหลักของระบบนี้ และเปิดโอกาสให้คนทำงานอพยพย้ายถิ่นที่เดินทางมาประเทศนี้ในวางแผนในอนาคต และมีหนทางที่แท้จริงในการตั้งหลักปักฐานและสร้างชุมชนไปพร้อมกับพวกเราที่เหลือ”

นับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาเริ่มต้น ทำให้การอพยพย้ายถิ่นมายังออสเตรเลียลดลงอย่างหนัก จากมาตรการจำกัดห้ามการเดินทาง และการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าการอพยพย้ายถิ่นจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งภายในปีนี้

นายเบิร์ก ผู้อำนวยการด้านกฎหมายจากศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Law Centre) กล่าวว่า ช่วงเวลา 2 ปีของการหยุดชะงักโครงการอพยพย้ายถิ่นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ ทำให้ประเทศนี้มีโอกาสที่จะ “รีเซ็ตแนวทางการอพยพย้ายถิ่นอีกครั้ง”

“บรรดาผู้นำทางการเมืองของเราควรดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อทำให้แน่ใจว่าระบบนี้สะท้อนกับคุณค่าของชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ขอลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียได้มีอนาคตที่มั่นคง” นายเบิร์ก กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง นายอเล็กซ์ ฮอว์ก (Alex Hawke) รัฐมนตรีตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลีย แต่ยังไม่มีการตอบรับหรือให้ความเห็นใด ๆ


 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดต่อสอบถามบริการสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 020 080

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 



Share
Published 3 February 2022 11:39am
Updated 12 August 2022 2:54pm
By Emma Brancatisano, Claire Slattery
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS News


Share this with family and friends