นโยบายภาษีของทรัมป์อาจกระทบคนออสซี่หลายกลุ่ม เหตุตลาดโลกปั่นป่วน-รัฐมนตรีคลังเตือนออสเตรเลียอาจต้องลดดอกเบี้ยหลายครั้ง
รัฐมนตรีคลัง จิม ชาลเมอร์ส เตือนว่า ภาวะตึงเครียดด้านการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น กำลังกดดันเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก และอาจนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในอนาคต
ในการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เขาระบุว่าภาษีนำเข้าชุดใหม่ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วต่อประเทศคู่ค้า รวมถึงออสเตรเลียด้วยนั้น ได้สร้างแรงกระแทกรุนแรงต่อตลาดทั่วโลก
ตลาดหุ้นออสเตรเลียประสบกับการร่วงลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่าหนึ่งปี โดยดัชนีหุ้นบริษัทใหญ่ 200 อันดับแรก (ASX 200) เปิดตลาดวันนี้ต่ำลงกว่า 6% ภายในไม่กี่นาทีแรกของการซื้อขาย
รัฐมนตรีคลังยังระบุเพิ่มเติมว่าค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียกำลังมีความผันผวนอย่างมาก และผลกระทบจากภาษีใหม่นี้อาจส่งผลแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุของประชากร เช่น ผู้เกษียณอายุที่มีเงินลงทุนในหุ้น กับคนทำงานที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
อ่านเพิ่มเติม
จีน หรือ สหรัฐฯ ใครสำคัญกว่า?
นาย ชาลเมอร์ส ระบุว่า ความปั่นป่วนในตลาดในขณะนี้สะท้อนถึงความคาดหวังของนักลงทุนว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจลดดอกเบี้ยครั้งถัดไปในเดือนพฤษภาคมอีก 0.5%
ตอนนี้เรากำลังเห็นความผันผวนอย่างรุนแรงทั้งในตลาดหุ้นโลกและในตลาดภายในประเทศรัฐมนตรีคลัง จิม ชาลเมอร์ส
“ความผันผวนนี้ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศจีน แต่ก็สะท้อนถึงความคาดหวังของตลาดที่เชื่อว่าออสเตรเลียจะมีการปรับลดดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งภายในปีนี้ โดยจะอาจจะเริ่มในเดือนพฤษภาคม”
การประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้คาดว่าธนาคารกลางจะต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการเติบโต ขณะเดียวกันก็ยังต้องพยายามควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเหมาะสม
ทำไมธนาคารกลางออสเตรเลียอาจต้องลดดอกเบี้ย?
ดร.แซค กรอส อาจารย์อาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) กล่าวว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) กำลังพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบจากภาษีนำเข้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจส่งผลให้เงินเฟ้อลดลงและการว่างงานในออสเตรเลียเพิ่มขึ้น
“เมื่อเงินเฟ้อลดลง บวกกับการว่างงานเพิ่มขึ้น เท่ากับ สถานการณ์ที่ควรลดดอกเบี้ย” ดร.กรอสกล่าวกับ SBS News
แม้ว่าภาษีของสหรัฐฯ จะทำให้เงินเฟ้อในอเมริกาเพิ่มขึ้นจากภาษีสินค้านำเข้า แต่ออสเตรเลียอาจได้รับผลกระทบในทิศทางตรงกันข้าม โดยอาจเกิดภาวะเงินเฟ้อลดลง (deflation) แทน

ผู้ว่าการ RBA มิเชล บุลล็อก คาดเตรียมลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปี 2025 หลังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในเดือนเมษายน Source: AAP / Lukas Coch
ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมบางกลุ่มในออสเตรเลีย เช่น อุตสาหกรรมเนื้อวัว ซึ่งจะถูกเก็บภาษี 10% โดยตรง อาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก นำไปสู่การจ้างงานที่ลดลงในหลายพื้นที่
ดร.แซค กรอส ระบุว่า
“ถ้าเราพบว่ามีการว่างงานเพิ่มขึ้นในบริษัทหรือตามเมืองที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเนื้อวัว นั่นก็จะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธนาคารกลางอาจต้องพิจารณาลดดอกเบี้ย”
โดยรวมแล้ว เขากล่าวว่า “น่าจะมีแนวโน้มที่ส่งผลเสียมากกว่าผลดี” สำหรับคนออสเตรเลีย
คนกลุ่มไหนจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจนี้มากที่สุด
ดร.แซค กรอส ระบุว่า กลุ่มคนวัย 50–60 ปี อาจได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความผันผวนของตลาดหุ้นในขณะนี้
“คนในวัย 50–60 ปีมักถือหุ้นในพอร์ตค่อนข้างมาก เพราะยังไม่แก่ถึงขั้น 80–90 ปี แต่ในขณะเดียวกัน เวลาทำงานที่เหลืออยู่ก็ไม่มากแล้ว การที่มูลค่าหุ้นลดลง 10% จึงกระทบพวกเขาค่อนข้างแรง” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ผลกระทบต่อระบบเงินเกษียณ (superannuation) โดยรวมน่าจะ “จำกัด” เนื่องจากนักลงทุนรุ่นใหม่ที่มีความเสี่ยงสูงสุด ยังมีเวลาอีกมากในการฟื้นพอร์ตลงทุนในระยะยาว
ขณะเดียวกัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ว่าการธนาคารกลาง Michelle Bullock ประกาศว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับเดิม โดยการตัดสินใจครั้งต่อไปของธนาคารกลาง (RBA) จะมีขึ้นในวันที่ 20 พฤษภาคม
ก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ ธนาคารกลางได้ลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2020 จาก 4.35% เหลือ 4.1% หลังจากที่มีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง 13 ครั้งนับตั้งแต่พฤษภาคม 2022