LISTEN TO
จากเด็กท้องนาสู่นักเรียนนอก
SBS Thai
21/08/202029:42
วัยเด็กในท้องนา
คุณนันทนาย้อนถึงพื้นเพชีวิตวัยเยาว์ว่า เธอเป็นเด็กบ้านนอกจากครอบครัวชาวนาฐานะยากจนใน จ.หนองบัวลำภู ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ปลูกผัก เลี้ยงควาย รับจ้างหาเงินช่วยครอบครัวมาแต่เด็ก
ตอนนั้นเห็นเพื่อนได้เล่นก็น้อยใจบ้าง เพื่อนนั่งรถขับมอเตอร์ไซค์ก็รู้สึกอายที่ตัวเองไม่มีอย่างเขา
วันหนึ่งไปรับจ้างถางหญ้าแล้วเห็นครูที่โรงเรียนเลยวิ่งไปแอบเพราะอายครู กระทั่งเห็นสายตาของแม่มองมา
“เรารู้ว่าพ่อแม่อยากให้เรามีทุกอย่างเหมือนคนอื่น เราเลยรู้ว่าจะแคร์แค่ความรู้สึกของเราไม่ได้ พ่อแม่เจ็บปวดกว่าเรา”
เหตุการณ์นั้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตสำหรับคุณนันทนา
“เราจะไม่อายในสิ่งที่เราเป็น เราจะต้องยอมรับในสิ่งที่เราเป็น เราจะไม่อยู่อย่างนี้ตลอดไป”
ความฝันภาษาอังกฤษ
ภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่คุณนันทนาชอบมาตั้งแต่เด็ก เวลาตามพ่อแม่ไปทำงานในนา สัญญาณคลื่นวิทยุชัด เธอมักเปิดวิทยุฟังรายการสอนภาษาอังกฤษของวิทยุเสียงอเมริกา หรือ VOA ภาคภาษาลาว เวลาไปรับจ้างฟังรายการวิทยุของกศน.ไปด้วย
พอจบมัธยมสอบได้ทุนราชภัฏสาขาครู แม้ใจอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์แต่สุดท้ายตัดใจเลือกทุนครู ด้วยเห็นว่าถ้าเธอเลือกเรียนตามใจอยาก ฐานะทางบ้านคงไม่อาจส่งน้องเรียนได้อีกคน
โอกาสมาถึง เมื่อเป็นครูสอนได้ระยะหนึ่ง คุณนันทนาสอบได้ทุน IFP ของมูลนิธิฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ทุนให้เวลาเรียนภาษาอังกฤษที่ไทยก่อน เมื่อสอบภาษาอังกฤษผ่านถึงจะสมัครมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้ตอนนั้นคุณนันทนารู้สึกว่าทักษะภาษาอังกฤษของเธอยังไม่ถึงขั้นไปเรียนต่างประเทศ หนำซ้ำรุ่นพี่ศิษย์เก่ายังบอกว่า ความสำเร็จของการเรียนภาษาคือต้องฝันเป็นภาษาอังกฤษ
English multiple choice test on table Source: Getty Images
“แต่นันไม่เคยฝันเป็นภาษาอังกฤษเลยค่ะ (หัวเราะ)”
เรียนรู้ที่จะผิดพลาด
สุดท้ายคุณนันทนาได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในฮาวาย หลังจากนั้นเดินทางต่อบนเส้นทางการศึกษาจนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ด้วยทุนรัฐบาลออสเตรเลีย
ประสบการณ์อยู่ร่วมกับชาวต่างชาติต่างภาษา นอกจากฝึกให้เปิดใจเรียนรู้คนที่แตกต่างจากเรา คุณนันทนากล่าวว่า อีกบทเรียนหนึ่งคือ รู้จักผิดพลาด เธอยกตัวอย่างว่าเคยไม่เข้าใจคำถามของคนต่างชาติ ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงอาย แต่ที่จริงคือการเรียนรู้
“บางทีเราทำผิดบ่อย ๆ เราจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติของคนที่เราจะทำผิด การทำผิดทำให้เราเรียนรู้มากขึ้น”
อีกประการคือสร้างความมั่นใจเพื่อก้าวข้ามความกลัว คุณนันทนาเล่าว่า เคยสมัครทุนได้เสนองานวิจัยที่การประชุมวิชาการของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แม้แต่เพื่อนต่างชาติก็ทึ่งในความกล้า
“มันน่ากลัวอยู่ แต่เราก็ไม่ควรกลัวมากจนเกินไป มันไม่ได้เลวร้ายเหมือนที่เราคิด” เธอกล่าว
“เราคิดว่าคนที่ตั้งคำถามกับเราจะน่ากลัว ที่จริงไม่ใช่ คำถามทำให้ต้องคิดตอบคำถาม... เหมือนเขาสอนเรา ให้เราคิดมากกว่าที่เราเรียน”
Source: Pixabay/Richard Mcall
เตรียมพร้อมคว้าโอกาส
จากพื้นเพลูกชาวนาช่วยหาเลี้ยงครอบครัวแต่เล็ก คุณนันทนาบอกว่า แม้เทียบกันแล้วหลายคนเกิดมามีต้นทุนมากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราทำอะไรไม่ได้
“โอกาสเป็นสิ่งที่นำชีวิตเราไปสู่การเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าโอกาสนั้นยังมาไม่ถึงเรา แต่เราก็ไม่ควรจะท้อ เราควรทำตัวให้พร้อมกับโอกาสที่ยังมาไม่ถึง”
คุณนันทนาบอกว่า การได้มาเรียนต่างประเทศก็ไม่ใช่สิ่งที่เธอคิดฝัน แต่เตรียมตัวฝึกภาษาไว้ แม้ทีละเล็กละน้อยก็ถือเป็นต้นทุนสำหรับโอกาสที่อาจยังไม่มีหรือยังมาไม่ถึง
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การยอมรับในตัวเอง ยอมรับจุดด้อยของตนและมองตามความเป็นจริง ไม่ดูถูกตัวเอง
ความจน ความด้อยโอกาสเป็นแรงบันดาลใจ นันอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น อยากแข็งแกร่งขึ้นเพื่อที่นันจะมีโอกาสได้ช่วยคนอื่น
เมื่อยอมรับตัวเองแล้วจึงเสริมจุดแข็งเติมจุดด้อย คิดถึงโอกาสและอุปสรรค เมื่อประกอบกับทัศนคติเน้นมุ่งสู่เป้าหมายแล้ว คุณนันทนาบอกว่า คนเราจะไม่หยุดเติบโต
“ถึงวันนี้เรายังทำสิ่งนั้นไม่ได้ แต่สักวันหนึ่งเราจะทำสิ่งนั้นได้... ฉันจะทำสิ่งนี้ได้ดีขึ้นทุก ๆ วัน”
ดร.นันทนา ทัพทะมาตย์ เผยเส้นทางชีวิตจากจากเด็กท้องนาสู่นักเรียนนอก ตั้งแต่ความตั้งใจไปจนถึงความกังวล ตลอดจนประสบการณ์ในต่างประเทศที่เปลี่ยนมุมมองของเธอ นำความด้อยโอกาสมาเป็นแรงผลักดันหล่อหลอมเด็กสาวที่ไม่มั่นใจให้ก้าวมาสู่จุดที่ยืนอยู่ทุกวันนี้ พร้อมฝากเคล็ดลับวิธีคิดอย่างมีกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในชีวิต ฟังบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้
LISTEN TO
จากเด็กท้องนาสู่นักเรียนนอก
SBS Thai
21/08/202029:42
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
จากนายทหารสู่อาจารย์สอนภาษาในกองทัพออสเตรเลีย