ลูกจ้างทำงานในฟาร์มได้รับค่าจ้างเพียง 3 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงสำหรับการเก็บบลูเบอร์รีในพื้นที่ชายฝั่งทะเลทางเหนือของนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งการเปิดโปงดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงเรียกร้องให้มีการไต่สวนหาความจริงสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องนี้ในภาคอุตสาหกรรมพืชสวน ที่กำลังถูกตำหนิอย่างหนัก
สถาบันแมกเคลล์ (McKell Institute) ได้เปิดเผยผลของการสืบสวนที่กินเวลา 3 เดือน เกี่ยวกับงานเก็บบลูเบอร์รีในพื้นที่ คอฟส์ ฮาร์เบอร์ (Coffs Harbour)
การล็อกดาวน์เนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนาระบาด ส่งผลให้นักเดินทางแบกเป้ หรือแบ็กแพ็กเกอร์หลายพันคนแห่กันเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวในช่วงต้นปีนี้ จนทำให้เกิดการมีแรงงานมากเกินความต้องการ ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของออสเตรเลีย
นาตาลี ทริกเวลล์ วัย 46 ปี สูญเสียบ้านของเธอไปจากไฟป่าในเมืองนิมบิน (Nimbin) ของนิวเซาท์เวลส์ และขณะนั้นอาศัยอยู่ในรถคาราวาน เมื่อเธอไปทำงานเก็บผลเบอร์รี เนื่องจากความอับจนสิ้นหนทาง
“ฉันไปที่นั่นและพบว่าฉันมีรายได้ 15-20 ดอลลาร์ต่อวัน” เธอกล่าวในรายงาน
คุณทริกเวลล์ กล่าวว่า ไฟป่าไหม้ลามเข้ามาใกล้สวนผลไม้อย่างมาก จนเธอไม่สามารถมองเห็นผลเบอร์รีได้
เธอกล่าวหาว่า ผู้รับเหมาสัญญาจ้างไม่ยอมให้เธอออกจากที่นั่น
“แต่ฉันเดินก็ออกมา ฉันไม่ได้ค่าจ้างเลยสำหรับงาน 3 สัปดาห์ที่ทำไป เพราะวันนั้นวันเดียว”
นักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กเกอร์ และลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานคนอื่นๆ บอกเล่าเรื่องราวทำนองเดียวกัน ของการถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งมีทั้งการได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำอย่างมาก การต้องทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ และการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมอื่นๆ
แซลลี เป็นลูกจ้างอีกคนหนึ่ง ซึ่งได้รับข้อความเกือบ 2,000 ข้อความที่เรียกเธอว่า เป็น “หมู” และเป็น “หมา” หลังจากเธอเรียกร้องขอค่าจ้างที่เหลือจากนายหน้าจัดหาแรงงานของเธอ
นักเดินทางแบ็กแพ็กเกอร์ชาวเยอรมันผู้นี้ ได้รับค่าจ้างเพียง 3 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงสำหรับการทำงานกะหนึ่ง และได้ค่าจ้างเฉลี่ย 6.21 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงสำหรับการทำงาน 17 วันกับนายหน้าจัดหาแรงงานผู้หนึ่งในท้องถิ่น
เสียงเรียกร้องให้มีการไต่สวนหาความจริงสาธารณะ
นาย แดเนียล วอลตันเลขาธิการสหภาพลูกจ้างแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ความคิดที่ว่าการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างในฟาร์มนั้น จำกัดอยู่แค่ในฟาร์มไม่กี่แห่งนั้น ควรเลิกนำมาโต้แย้งเสียที
“รายงานข่าวที่น่าตกใจนี้เป็นหนึ่งในการศึกษาวิจัยที่มีมากมายเป็นภูเขา ซึ่งชี้ว่า ฟาร์มในออสเตรเลียกำลังกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะการขโมยค่าแรง การเอารัดเอาเปรียบ และการปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างไม่เหมาะสม” นายวอลตัน กล่าว
“มันไม่ใช่แค่คอฟส์ ฮาร์เบอร์ เท่านั้น เลือกจุดใดก็ได้ในแผนที่ แล้วคุณจะพบการเอารัดเอาเปรียบอย่างอุกอาจ”นายวอลตัน เรียกร้องให้นายเดวิด ลิตเติลพราวด์ รัฐมนตรีด้านเกษตรกรรมของสหพันธรัฐ สนับสนุนการไต่สวนหาความจริงสาธารณะ
AWU National Secretary Daniel Walton says "outrageous exploitation" is occurring on farms all over Australia. Source: AAP
นายลิตเติลพราวด์ กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่สนับสนุนการไต่สวนหาความจริงสาธารณะ แต่อยากให้มีการแก้ปัญหาผ่านการปรับปรุงกฎหมายของรัฐต่างๆ ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและสอดคล้องกันยิ่งขึ้นมากกว่า
“มันน่าอัปยศอดสู ไม่มีทางอื่นใดที่จะเสแสร้งให้ฟังดูรื่นหูเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้” เขาบอกกับ สกาย นิวส์
เขากล่าวว่า ปัญหานี้นั้นจำกัดอยู่แค่ฟาร์มส่วนน้อย แต่อาจทำลายเชื่อเสียงของงานเกษตรกรรม
รายงานดังกล่าว ยังเรียกร้องให้มีการปราบปรามนายหน้าจัดหาลูกจ้างที่ไร้จรรยาบรรณ เรียกร้องให้มีบทลงโทษที่แข็งแกร่งมากขึ้น เจ้าหน้าที่สืบสวนการปฏิบัติต่อลูกจ้างในที่ทำงานมีการกำกับดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎระเบียบมากขึ้น และปฏิรูปโครงการวีซ่าสำหรับลูกจ้างประเภทนี้ในออสเตรเลีย
รายงานดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีกฏหมายใหม่ เพื่อทำให้แน่ใจได้ว่า เกษตรกรจะต้องจ่ายค่าจ้างรายชั่วโมงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด
การสืบสวนดังกล่าว ยังพบว่า มีบริษัทจัดหาแรงงานที่ฉ้อฉลบางแห่งประกาศหาลูกจ้างทาง เฟซบุ๊ก (Facebook) วีแชท (WeChat) หรือ กัมทรี (Gumtree) และโฆษณาชวนเชื่ออย่างผิดๆ ว่างานเก็บผลไม้เป็นงานที่ได้ค่าจ้างสูงและเป็นงานที่สนุก
ผู้นำการเขียนรายงานฉบับนี้ คือนาย เอ็ด คาวานัฟ ยังได้สังเกตเห็นตู้คอนเทนเนอร์หลายตู้ ที่ถูกนำมาทำเป็นห้องพักตู้ละ 4 เตียงให้แก่ลูกจ้างจากหมู่เกาะแปซิฟิกได้เช่าเพื่ออาศัยอยู่ ในราคาค่าเช่าเหมือนกับบ้านพักตามชานเมือง
นักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กเกอร์ ต้องจ่ายเงินถึง 150 ดอลลาร์ต่อคน เพื่อจะอาศัยอยู่ในบ้านที่แชร์กัน 9-12 คน ซึ่งทำรายได้ให้เจ้าของบ้านพักเหล่านี้มากกว่าค่าเช่ามัธยฐานในย่านชานเมืองบางพื้นที่ในคอฟส์ ฮาร์เบอร์ ถึง 3 เท่า
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ลูกจ้างฟาร์มไม่น้อยได้ค่าแรงต่ำกว่ากฎหมาย
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
เศรษฐกิจออสฯ พ้นภาวะถดถอยครั้งใหญ่ในรอบเกือบ 30 ปี