เจ้าของร้านอาหารและร้านกาแฟต่างออกมาเรียกร้องให้คงอัตราค่าแรงขั้นต่ำ หลังสหภาพแรงงานมีการเสนอเรื่อง “ค่าแรงดำรงชีพ (Living Wage)" เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งจะมีผลต่อการปรับขึ้นของอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยกลุ่มนายจ้างและนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกมาเตือนว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้เกิดการเลิกจ้างพนักงาน
Restaurant and Catering Australia ซึ่งเป็นตัวแทนของกิจการกว่า 45,000 แห่งทั่วออสเตรเลียระบุว่า ต้องการให้อัตราค่าแรงขั้นต่ำนั้นคงเดิม คือ $18.93 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง หรือ $719.20 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ก่อนหักภาษี
ด้านสมาคมค้าปลีกในออสเตรเลีย (Retailers Association) ได้สนับสนุนให้มีการเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำขึ้นร้อยละ 1.8 ซึ่งจะเพิ่มจากอัตราขั้นต่ำรายสัปดาห์เดิมไปอีก $12.95 ดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่านโยบายเพิ่มอัตราค่าแรงของสภาสหภาพแรงงานออสเตรเลียที่ $43 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์จากอัตราปัจจุบัน
นางจุเลียนา เพยน์ (Juliana Payne) ประธานบริหาร สภาสหภาพแรงงานออสเตรเลีย ระบุกับเอสบีเอส นิวส์ ว่า คณะทำงานของเธอไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับการขึ้นอัตราค่าแรงได้ เนื่องจากการแข่งขันในภาคส่วนต่างๆ ที่มีอยู่ในระดับสูง
ขณะที่พรรคแรงงานได้ให้สัญญาณว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย ที่จะโน้มน้าวให้คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์กปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ล่าสุดยังไม่มีการชี้แจงรายละเอียดใดๆ ในส่วนนี้
ด้าน นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาย้ำคำเตือนของเขาเมื่อวานนี้ (13 มี.ค.) โดยกล่าวว่า แผนของพรรคแรงงานจะบีบให้นายจ้างต้องลดตำแหน่งงานลง เพื่อให้สามารถจ่ายค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับคนอื่นๆ ได้
นางเจนนิเฟอร์ เวสตาคอตต์ ประธานกรรมการบริหาร สภาธุรกิจออสเตรเลีย ได้เตือนบรรดาธุรกิจขนาดเล็กว่า อาจจะรู้สึกได้ถึงความบานปลายของการตัดสินใจต่างๆ จากรัฐบาล
“ดิฉันต้องการให้ผู้คนได้รับค่าแรงในอัตราที่สูงขึ้น แต่ก็ไม่ต้องการให้ค่าแรงที่สูงขึ้นทำให้เกิดการสูญเสียตำแหน่งงาน ถ้าธุรกิจใดไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่สามารถสร้างความสำเร็จได้มากขึ้น การจ่ายค่าแรงที่สูงขึ้นจะทำให้พวกเขามีอยู่ 3 ตัวเลือก คือ เลิกจ้างพนักงาน เพิ่มราคาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค หรือไม่ก็ต้องตัดงบประมาณให้น้อยลง” นางเวสทาคอตต์กล่าวกับสกาย นิวส์ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (14 มี.ค.)
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
สหภาพแรงงานเสนอแฟร์เวิร์กขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ