รัฐบาลออสฯ แจงแผนสะสางใบสมัครวีซ่าตกค้าง เล็ง ‘แรงงานมีทักษะ’

รมต.มหาดไทยออสฯ แจงแผนรัฐบาลเร่งสะสางใบสมัครวีซ่าตกค้างที่มีมากกเกือบล้านฉบับ เล็งพิจารณาแรงงานมีทักษะรอขอพีอาร์จากนอกประเทศเป็นอันดับแรก ผู้เชี่ยวชาญแนะรัฐบาลควรมีแผนที่ยั่งยืน และการฝึกอบรมทักษะที่รองรับ

Skilled workers prioritised amid a backlog of almost one million visa applications

Skilled workers prioritised amid a backlog of almost one million visa applications Source: SBS

ประเด็นสำคัญ

  • ออสเตรเลียกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน จากการปิดพรมแดนระหว่างประเทศในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ถึงแม้พรมแดนจะเปิดแล้ว แต่ก็ถูกซ้ำเติมจากปัญหาใบสมัครวีซ่าคงค้างเกือบล้านฉบับ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแรงงานที่จะเข้ามาเติมตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ได้
  • รัฐบาลมุ่งเน้นอย่างจริงจังที่จะจัดการปัญหานี้ ทั้งการทุ่มเททรัพยากรและกำลังคนไปยังหน่วยงานพิจารณาใบสมัครวีซ่าที่คงค้าง รมต.มหาดไทยย้ำว่า รัฐบาลกำลังเล็งแรงงานที่มีทักษะซึ่งอยู่ในต่างประเทศและได้ยื่นสมัครไว้แล้ว โดยมี 3 สายงานที่รัฐบาลเล็งไว้ คือ สุขภาพ การศึกษา และการดูแลผู้สูงอายุ
  • ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า รัฐบาลควรมีแผนในโครงการอพยพย้ายถิ่นที่ยั่งยืน รวมถึงมีการปรึกษาหารือกับชุมชนในออสเตรเลีย และมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลลงทุนในด้านการฝึกอบรมเพื่อให้แน่ใจว่าผู้อพยพย้ายถิ่นได้รับทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน

ปัญหาวีซ่าคงค้างของออสเตรเลียกำลังจะได้รับการจัดการ ด้วยการจัดความสำคัญในการพิจารณาใบสมัครขอสถานะประชากรถาวร (พีอาร์) จำนวนกว่า 60,000 ฉบับที่ยื่นโดยแรงงานทักษะที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นอันดับแรก ขณะที่รัฐบาลสหพันรัฐกำลังมุ่งเน้นเพื่อตอบสนองต่อปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เลวร้ายลงจากความล่าช้าในการประมวลเอกสารวีซ่า

มีการเปิดเผยว่าปัญหาคำร้องวีซ่าคงค้างที่รัฐบาลกำลังเผชิญนั้นอยู่ในระดับเกือบ 1 ล้านฉบับในวีซ่าหลายประเภท ซึ่งมีสาเหตุมาจากผลกระทบของการปิดพรมแดนระหว่างประเทศจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

หน่วยงานมหาดไทยออสเตรเลียได้เปลี่ยนเส้นทางในการจัดสรรทรัพยากรและดึงคนทำงานเข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อจัดการกับปัญหาวีซ่าที่มีความติดขัดที่ได้ทำให้เวลารอผลเอกสารของผู้สมัครเลวร้ายลงไปกว่าเดิม
แต่ นางแคลร์ โอนีล (Clare O’Neil) รัฐมนตรีมหาดไทยของออสเตรเลีย ได้ออกมายืนยันแล้วในตอนนี้ว่าจะให้ความสำคัญกับแบบคำร้องจากแรงงานทักษะที่อยู่ในต่างประเทศ โดยจะมุ่งเน้นในส่วนของงานด้านสุขภาพ การศึกษา และงานดูแลผู้สูงอายุ

สิ่งสำคัญอย่างแท้จริงสำหรับฉันก็คือ อะไรบ้างที่เราทำได้ภายใต้ข้อจำกัดของระบบเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา (เอกสารคงค้าง) ได้อย่างรวดเร็ว” นางโอนีล กล่าวกับวิทยุเอบีซีเมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.)

“การเปลี่ยนแปลงที่ว่าก็คือ การจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่อยู่ในต่างประเทศซึ่งต้องการที่จะมาที่นี่เพื่อทำงาน และการจัดการแบบคำร้องเหล่านั้นอย่างเร็วที่สุดเท่าที่เราจะทำได้”
มันเหมือนหยดน้ำในทะเลเมื่อเราพูดถึงเอกสารคงค้างที่มีเกือบ 1 ล้านฉบับ
ตัวเลขจากรัฐบาลใหม่เปิดเผยว่า คำร้องขอวีซ่าทุกประเภทที่คงค้างในขณะนี้อยู่ที่ 961,016 ฉบับ โดยมี 560,187 ฉบับที่ยืนขอมาจากนอกออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึงจากคนทำงานมีทักษะที่ต้องการขอสถานะพีอาร์ 57,906 ฉบับ และอีก 13,806 ฉบับจากผู้ที่ยื่นขอจากต่างประเทศที่ต้องการขอวีซ่าชั่วคราว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แอนนา บูเช (Assoc Prof Anna Boucher) จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ อธิบายถึงปัญหาคำร้องขอวีซ่าคงค้างว่า “เป็นเรื่องใหญ่” และกล่าวว่า การตอบสนองระยะแรกเทียบได้เพียงก้าวแรกเท่านั้น

“มันเหมือนหยดน้ำในทะเลเมื่อเราพูดถึงเอกสารคงค้างที่มีเกือบ 1 ล้านฉบับ และเราต้องการคนทำงานเกือบครึ่งล้านคน ขณะที่อัตราการว่างงานนั้นกำลังลดลงเรื่อย ๆ” ผศ.บูเช กล่าว

“ถึงแม้พวกเขาจะรับผู้ถือวีซ่าถาวรทุกคนที่รออยู่ในคิว และผู้ถือวีซ่าชั่วคราวทั้งหมด มันก็ยังไม่มีทางครอบคลุมขอบเขตของปัญหาขาดแคลนแรงงานได้”

นางโอนีล รัฐมนตรีมหาดไทยออสเตรเลียยอมรับว่า แผนในระยะแรกนั้นคือการตอบสนองในระยะสั้น แต่ก็ได้ระบุว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะพูดคุยว่าโครงการอพยพย้ายถิ่นสามารถปรับเปลี่ยนใหม่มีความเหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวในการประชุมสุดยอดด้านแรงงานในวันที่ 1-2 ก.ย.นี้

“โครงการอพยพย้ายถิ่นของเราคือการดำเนินการเพื่อสร้างชาติอันศักดิ์สิทธิ์ที่เราจะต้องพิจารณา มีการสนทนาที่ดีกับชุมชนเกี่ยวกับเรื่องนี และออกแบบมันอย่างระมัดระวัง” นางโอนีล กล่าว

ข้อถกเถียงเรื่องการอพยพย้ายถิ่น

ในการประชุมสุดยอดด้านแรงงานของรัฐบาลเดือนกันยายนนี้ จะเป็นการรวมตัวของสหภาพแรงงาน นายจ้าง ภาคประชาสังคม และตัวแทนของรัฐบาล โดยจะมีเรื่องการอพยพย้ายถิ่นเป็นประเด็นสำคัญในการอภิปราย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บูเช กล่าวว่า มันเป็นเรื่องสำคัญในการหาจุดยืนร่วมกันในการอภิปรายนี้ และเตือนว่าหากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว  อาจเป็นการเติมเชื้อไฟให้แนวโน้มการเกลียดกลัวชาวต่างชาติ

“มันไม่ใช่เรื่องของขนาดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของภาพที่ละเอียดขึ้น และการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับโครงการอพยพย้ายถิ่น มันสำคัญแค่ไหน และความซับซ้อนบางอย่างของมันจะเป็นประโยชน์ได้อย่างไร”

ทั้งนี้ โครงการอพยพย้ายถิ่นถาวรในรัฐบาลนายสกอตต์ มอร์ริสัน ได้ถูกกำหนดเพดานรับสูงสุดไว้ที่ 160,000 ตำแหน่งต่อปี แต่ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การอพยพย้ายถิ่นถาวรตกลงไปสู่แดนลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

การกลับมาเปิดพรมแดนระหว่างประเทศของออสเตรเลียอีกครั้ง เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ทำให้จำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นฟื้นฟูอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่บรรดาธุรกิจต่าง ๆ ยังคงต้องรอเป็นเวลาหลายเดือนในการนำพนักงานมาเติมช่องว่างของแรงงานทักษะที่ขาดแคลน

ด้านหอการค้าออสเตรเลียได้เรียกร้องให้มีขยายเพดานรับในโครงการอพยพย้ายถิ่นเป็น 2 แสนคน เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงให้กับเส้นทางของระบบเศรษฐกิจในการฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19
จิม ชาลเมอส์ รัฐมนตรีคลังออสเตรเลียระบุว่า ธุรกิจต่าง ๆ ต้องการคนทำงาน โดยอธิบายถึงการขาดแคลนแรงานว่าเป็นอุปสรรคที่เหนี่ยวรั้งระบบเศรษฐกิจ

“การมุ่งเน้นไปที่แรงงานทักษะที่ธุรกิจต่าง ๆ กำลังเรียกร้อ งซึ่งกำลังอยู่คิวยาวของการรอผลเอกสารสมัครวีซ่า ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ฉลาดมากที่จะทำ” นายชาลเมอส์ กล่าว

“(แต่) เราจะต้องระวังการคิดว่าการอพยพย้ายถิ่นจะสามารถทดแทนบางสิ่งอื่น ๆ ที่เราต้องทำในการสร้างตลาดแรงงานที่ใหญ่ขึ้น มีผลิตผลมากขึ้น มีทักษะที่ดีขึ้น และมีค่าจ้างสูงขึ้นในประเทศนี้”

อัตราการว่างงานในออสเตรเลียนั้นลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 48 ปี แต่ถึงแม้ตลาดแรงงานจะมีความแข็งแรง แต่การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะนั้นยังคงเป็นความท้าทาย

ศาสตราจารย์โรเบิร์ต บรูนิก (Prof Robert Breunig) นักเศรษฐศาสตร์นโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการพิจารณาการลงทุนในการฝึกอบรม ในการอภิปรายเพื่อแก้ไขปัญหาความต้องการในตลาดแรงงานของออสเตรเลีย

“นี่เป็นความคิดที่ดี (การมุ่งเน้นไปที่ใบสมัครวีซ่าทักษะ) เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่การขาดแคลนแรงงานกำลังสร้างความเสียหายในระบบเศรษฐกิจ” ศาสตราจารย์บรูนิก กล่าว

“แต่ความท้าทายสำหรับออสเตรเลียก็คือ เราจะทำให้แน่ใจได้อย่างไรว่าระบบการศึกษาจองเรานั้นจะมอบทักษะให้กับผู้คนที่ตลาดแรงงานของเราต้องการ”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

หน้ากาก วัคซีน WFH: รวมคำแนะนำล่าสุดเกี่ยวกับโควิด-19 ในออสเตรเลีย


Share
Published 21 July 2022 5:27pm
Updated 21 July 2022 5:34pm
By Tom Stayner
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS News


Share this with family and friends