ผลการวิจัยล้มล้างคำพังเพยเรื่องเมาค้าง

NEWS: การศึกษาวิจัยล่าสุดโครงการหนึ่งล้มล้างคำพังเพยที่มีมานานเกี่ยวกับการเมาค้าง และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายประเภทผสมกัน โดยพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปนั้นนำสู่ความมึนเมาเพราะดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอยู่ดี โดยไม่ได้มาจากสาเหตุอื่น

white wine

Source: Pixabay

You can read the full article in English

มีคำพังเพยในภาษาอังกฤษ ที่ว่า "Beer before wine and you'll feel fine; wine before beer and you'll feel queer,"  ซึ่งมีความหมายทำนองว่า ดื่มเบียร์ก่อนไวน์ แล้วคุณจะไม่เป็นไร ดื่มไวน์ก่อนเบียร์ แล้วคุณจะรู้สึกแย่ หรือ "Grape or grain but never the twain" หมายถึง องุ่นหรือธัญพืช แต่อย่าผสมทั้งสองอย่าง  แต่การศึกษาวิจัยล่าสุดได้ล้มล้างคำพังเพยและความเชื่อที่แพร่หลายดังกล่าวเกี่ยวกับการเมาค้าง

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่มาจากมหาวิทยาลัยวิตเทน/เฮอร์เดกเคอร์ ในประเทศเยอรมนี ต้องการพิสูจน์คำพังเพยดังกล่าวว่าจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นคำพังเพยที่มีในภาษาเยอรมัน และภาษาอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นนักวิจัยกลุ่มนี้จึงได้ทำการทดสอบทางวิทยาศาสตร์กับผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลุ่มหนึ่ง

ผลการวิจัยพบว่า ไม่ว่าคุณจะดื่มเบียร์หรือไวน์ก่อน แต่อาการเมาค้างของคุณจะแย่พอๆ กัน “การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ก็คือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอยู่ดี” ทีมวิจัยดังกล่าวเขียนในวารสาร อเมริกัน เจอร์นัล ออฟ คลินิคัล นูทริชัน ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันศุกร์ (8 ก.พ.)

“เราแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคำพังเพยดังกล่าวนั้นผิด อย่างน้อยสำหรับการดื่มไวน์ขาวและการดื่มลาเกอร์เบียร์” นายไค เฮนเซน นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้นำทีมวิจัยดังกล่าว ระบุ

ทีมนักวิจัยที่ว่าได้แบ่งอาสาสมัคร 90 คนที่อายุราว 19-40 ปีออกเป็น 3 กลุ่ม อาสาสมัครทุกคนจะต้องปฏิบัติเหมือนกันคือ ต้องดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในระดับที่เรียกว่าเมา คือมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร

คนกลุ่มแรกดื่มเบียร์อย่างเดียว คนกลุ่มที่สองดื่มไวน์อย่างเดียว ใครที่ดื่มถึงระดับที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดที่ 0.5 มิลลิกรัม ให้เปลี่ยนไปดื่มเครื่องแอลกอฮอล์อีกประเภท นั่นคือหากดื่มเบียร์ก่อน ก็เปลี่ยนไปดื่มไวน์ต่ออีก 4 แก้วใหญ่ หากดื่มไวน์ก่อน ก็เปลี่ยนไปดื่มเบียร์อีก 1.5 ลิตร

ส่วนคนในกลุ่มที่ 3 นั้นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเดียวไปตลอดคืน ไม่ว่าจะเป็นเบียร์หรือไวน์

ในคืนที่สอง อาสาสมัครเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนกลุ่มกัน เพื่อทดลอง

ผลการวิจัยพบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใดก่อนหรือหลังไม่ได้ส่งผลต่อระดับการเมาค้าง เพศของผู้ดื่ม น้ำหนักตัวของผู้ดื่ม และพฤติกรรมการดื่มทั่วๆ ไปก็ไม่มีผลต่อระดับการเมาค้างเช่นกัน

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 11 February 2019 2:25pm
Presented by Parisuth Sodsai
Source: AAP


Share this with family and friends