หลายๆ คน คงสังเกตเห็นว่าช่วงนี้เงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนลงมาก นอกจากจะทำให้การเดินทางไปต่างประเทศแพงขึ้นแล้ว ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียที่อ่อนค่าลงยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจออสเตรเลียทุกภาคส่วนที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า น้ำมัน ไปจนถึงของชำ ซึ่งอาจทำให้งบประมาณครัวเรือนตึงตัวมากขึ้น
เหตุใดค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียจึงอ่อนค่าลง?
*ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ค่าเงินออสเตรเลียเมื่อเทียบเป็นเงินบาทแล้วอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 21.16 บาท
ซึ่งการที่ดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงมาหลายเดือนแล้วนั้นมีสาเหตุเป็นเพราะอะไร
ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้บริโภคและผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา Griffith University แกรม ฮิวจ์ กล่าวว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อมูลค่าของค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น เขาอธิบายว่าอาจ
"ปัจจุบันมีการคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะปรับลดลงน้อยลง ทำให้สินทรัพย์ของสหรัฐฯ น่าดึงดูดใจนักลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น รวมถึงดอลลาร์ออสเตรเลียด้วย"
"ประการที่สอง มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่อาจไม่ได้ผล จึงทำให้ค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าลง และส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย”
“ราคาที่ลดลงของสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ เช่น แร่เหล็กและถ่านหิน ประกอบกับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นและความเสี่ยงต่อสงครามการค้า เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียด้วยเช่นกัน”
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันออสเตรเลีย เกรก เจอริโช อธิบายเพิ่มเติมว่าการที่เงินดอลลาร์ออสเตรเลียมีความผันแปรกับอุปทานจากการส่งออกไปยังจีน ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของแดนมังกรย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจและความผันผวนของค่าเงินของออสเตรเลีย เขาอธิบายว่า
“การที่โดนัลด์ ทรัมป์อาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ หมายความว่าหากสินค้าเหล่านั้นมีราคาเท่าเดิม มูลค่าของสกุลเงินจีนจะต้องลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าของดอลลาร์ออสเตรเลีย”
เงินดอลลาร์อ่อนค่ากับการส่งเงินกลับบ้าน
อีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลกระทบกับคนไทยหลายๆ คนที่อยู่ต่างแดนคือการมีภาระที่จะต้องช่วยเหลือทางการเงินให้กับที่ครอบครัวที่เมืองไทย และการที่‘ค่าครองชีพแพง-ค่าเงินดอลลาร์อ่อน’ นี้ส่งผลกระทบกับพวกเขาอย่างไร
เอสบีเอสไทยจะพาคุณไปสำรวจความคิดเห็นของคนในชุมชนไทยในออสเตรเลียในประเด็นดังกล่าว
คุณ เปตอง นักเรียนในนครเมลเบิร์น เปิดเผยว่า การถือวีซ่านักเรียนซึ่งมีการจำกัดชั่วโมงทำงานทำให้รายได้ลดลงกว่าตอนที่ยังถือวีซ่า Work and holiday ทำให้กระทบต่อชีวิตพอสมควรและต้องมีการใช้ส่วนของเงินออมมาแบ่งเบาภาระในชีวิตประจำวันบ้าง
“ปีแรกไป work holiday ช่วงนั้นค่าเงินยังโอเคอยู่ แต่พอปัจจุบันเนี้ยตอนนี้เป็นนักเรียน ซึ่งมันก็จะจํากัดทางชั่วโมงเรียนด้วย แล้วก็ชั่วโมงทํางานด้วยครับ แล้วบวกกับค่าเงินที่ลดลงอีกอะครับ ก็ effect พอสมควรครับ แต่ก็ก็ถือว่าก็ยังใช้ชีวิตได้อยู่”
![more_than_64000_people_are_in_australia_illegally_after_overstaying_work_and_tourist_visas_aap_dean_lewins.jpg](https://images.sbs.com.au/drupal/yourlanguage/public/more_than_64000_people_are_in_australia_illegally_after_overstaying_work_and_tourist_visas_aap_dean_lewins.jpg?imwidth=1280)
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียที่อ่อนค่าลงยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจออสเตรเลียทุกภาคส่วน
“ เพราะเราอยู่ที่นี่แล้วก็ได้รายได้เป็นเงินออสเตรเลีย แล้วพอเอากลับไปเป็นเงินบาท มันรู้สึกมันน้อยน้อยน่าใจหาย คือมันมันลดลงเร็วมากในช่วงที่ผ่านมา ตอนนี้เนี่ยก็ต้องซัพพอร์ตลูกเรียนหนังสือ มันก็คือมันก็มีทั้ง 2 ทาง ”
ส่วนคุณหมิว บอกว่าการที่ค่าครองชีพที่ออสเตรเลียแพง กระทบกับการใช้ชีวิตของเธอพอสมควรเพราะต้องรัดเข็มขัดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และเมื่อเงินออสเตรเลียอ่อนค่า ก็ยิ่งทำให้เธอต้องทำงาน 2 งานควบคู่กันเพื่อมีรายได้พอที่จะส่งกลับไปช่วยเหลือที่บ้าน
“ก็เยอะอยู่เหมือนกัน เพราะว่าเหมือนต้องทํางานมากขึ้นค่ะ ด้วยความที่เราส่งเงินกลับบ้านตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตอนที่มาออสเตรเลียคือค่าเงินประมาณ 23 -24 ทํางานนิดหน่อยก็มีเงินเหลือเก็บมีส่งกลับบ้าน"
แต่ว่าเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา เงินมันเริ่มลดลงก็เลยต้องทํางาน 2 จ็อบ หรือว่าเซฟเงินมากขึ้นไม่สามารถกินของที่เราแบบ enjoy ในการกินได้มากเหมือนเมื่อก่อนต้องวางแผนในระดับดีมากๆ เพื่อมีเงินส่งให้ที่บ้านคุณ หมิว สมาชิกชุมชนไทยในออสเตรเลีย
การช่วยเหลือของรัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลไทยในเรื่องภาวะเศรษฐกิจ
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 ชาวออสเตรเลียมากกว่าหนึ่งล้านคนจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากการจัดทำดัชนีการชำระเงินของ Centrelink ในบางรายการ เช่น Youth Allowance และผู้รับ Austudy จะได้รับเงินเพิ่มสูงสุด 30.60 ดอลลาร์ทุกสองสัปดาห์
ผู้รับเงินบำนาญเพื่อสนับสนุนผู้ทุพพลภาพที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปีและไม่มีบุตรในความอุปการะใดๆ จะได้รับเงินเพิ่มสูงสุด 30.10 ดอลลาร์ และเงินช่วยเหลือผู้ดูแลจะเพิ่มขึ้น 5.80 ดอลลาร์
ส่วนการปรับลดดอกเบี้ยนั้น ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) มีการประชุมคณะกรรมการครั้งสุดท้ายของปี 2024 ซึ่งสรุปว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยเงินสดอย่างเป็นทางการไว้ที่ร้อยละ 4.35
คณะกรรมการ RBA กล่าวว่า แม้ว่าจะเชื่อมั่นว่าว่าอัตราเงินเฟ้อ "เป็นไปตามเป้าที่คาดไว้อย่างช้าๆ และมั่นคง" แต่ในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อยัง "สูงเกินไป" ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะนี้ ซึ่ง RBA ตั้งเป้าลดอัตราเงินเฟ้อให้เหลือที่ร้อยละ 2 -3
อาจารย์อาวุโสจากคณะการเมือง เศรษฐศาสตร์ และสังคม มหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา จอห์น ฮอว์กินส์ กล่าวว่าในปีหน้า เขาคาดว่าอัตราเงินเฟ้อโดยรวมจะ "อยู่ในระดับปานกลาง"
ดร. ฮอว์กินส์ กล่าวว่าการลดอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสเดือนธันวาคมซึ่ง "มีความเป็นไปได้" ที่ RBA จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนกุมภาพันธ์”
![Australian money](https://images.sbs.com.au/drupal/yourlanguage/public/podcast_images/australian_money.jpg?imwidth=1280)
อาจารย์อาวุโสจากคณะการเมือง เศรษฐศาสตร์ และสังคม มหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา จอห์น ฮอว์กินส์ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อโดยรวมจะ "อยู่ในระดับปานกลาง" Source: AAP / AAP Image/Joel Carrett
ปัจจุบันผลกระทบด้านเงินเฟ้อไม่เพียงแต่จะกระทบระบบเศรษฐกิจออสเตรเลียเท่านั้น แต่ยังขยายเป็นวงกว้าง ซึ่งในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยก็ได้รับผลพวงนี้เช่นกัน
คนไทยในออสเตรเลียมีความคิดเห็นอย่างไร และคิดว่ารัฐบาลของออสเตรเลียและไทยมีการบริหารจัดการปัญหานี้อย่างไร เอสบีเอสไทยรวบรวมความคิดเห็นของพวกเขาไว้ดังนี้
คุณจารุลักษณ์ รู้สึกว่าสถานการณ์เงินเฟ้อของเมืองไทยหนักกว่าออสเตรเลียเพราะอย่างน้อยออสเตรเลียยังมีการช่วยเหลือจากรัฐบาลแต่เมื่อเทียบกับที่ประเทศไทยที่รายได้ต่อหัวต่ำกว่ามากและการช่วยเหลือของรัฐบาลยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม
“คิดว่าที่เมืองไทยหนักกว่าเยอะ เพราะทุกคนจะบ่นมากที่นี่ยังเหมือนกับว่าเรายังมีรัฐบาล support มี benefit ที่เป็น security benefit ที่ช่วยคนชั้นกลาง แต่ที่บ้านเรารู้สึกค่อนข้างยากค่ะ ค่าครองชีพคือสูงมาก แต่รายได้คนไทยมันไม่ทันค่ะ เค้าเรียกว่าค่าแรงขั้นต่ำาที่ทางรัฐบาลพยายามปรับขึ้นแต่ก็เข้าใจว่ายังไม่สําเร็จตรงนั้นอย่างเต็มที่”
ส่วนคุณเปตองชี้ว่า รายรับเมืองไทยไม่แปรผันตามค่าครองชีพซึ่งทำให้การใช้ชีวิตในเมืองไทยยากกว่าที่ออสเตรเลีย
“ตอนที่ตอนที่ต้องกลับเมืองไทยอ่ะครับ รู้สึกว่าของมันแพงขึ้นหรือเปล่านะ หรือว่าหรือว่ามันเป็นราคาปกติอยู่แล้ว แต่แค่เราไม่ชินเฉยๆอะไรอย่างนี้ครับ แต่ก็รู้สึกว่าของก็แพงขึ้น พอสมควรครับ"
อย่างที่บอกว่ารายรับเมืองไทยมันก็ไม่ได้วิ่งตามค่าครองชีพบ้านเรา ซึ่งมันอาจจะมีความลําบากในการใช้วิตในเมืองไทย ถ้าเทียบกับทีนี่คุณ เปตอง สมาชิกชุมชนไทยในออสเตรเลีย
คุณหมิวเปิดเผยว่าอยากให้ประเทศไทยมีสวัสดิการเหมือนออสเตรเลียโดยเฉพาเรื่องระบบการดูแลสวัสดิการหลังเกษียณหรือการดูแลผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยให้คนสามารถมีรายได้เพียงพอในการใช้ชีวิตเมื่อแก่ตัวลง
“รู้สึกว่ามันต่างกันมากมากเลยค่ะ ในเรื่องของสวัสดิการของผู้สูงอายุ รู้สึกว่าที่ออสเตรเลีย ผู้สูงอายุทุกคนที่นี่คือเค้ามีความสุขในการใช้ชีวิตกันมากมากเลยค่ะ คือเค้าไปคาเฟตอนเช้ากันทุกคนไปจับกลุ่มนั่งดื่มคอฟฟี่คุยกันทุกเช้า เค้าไม่มีการกังวลเรื่องเงินกันเลยค่ะ เพราะว่าที่เนี่ยตอนที่เราทํางานกันในวัยที่เราสามารถทํางานได้ค่ะ เค้ามีซุปเปอร์ (Superannuation)ที่เค้าเซฟเอาไว้ใช้ตอนเค้าแก่”
ที่ไทยคุณปู่คุณย่าของเรา ก็คือกังวลเรื่องการใช้เงิน แม้กระทั่งป่วยก็ไม่อยากไปโรงพยาบาลเพราะว่ากังวลเรื่องค่าใช้จ่ายไม่อยากเป็นภาระของลูกหลานคุณ หมิว สมาชิกชุมชนไทยในออสเตรเลีย
แล้วก็สวัสดิการได้แค่เล็กๆน้อยๆ จากรัฐบาล ซึ่งมันเห็นความแตกต่างแบบชัดเจนมากๆ เลยค่ะ อยากให้ประเทศไทยพัฒนาในเรื่อง Medicare (ระบบประกันสุขภาพ) แล้วก็การดูแลผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตามล่าสุดในวันที่ 27 มกราคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรี ได้เปิดตัวโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ โดยกรมบัญชีกลางได้ทำการโอนเงิน 10,000 บาท ให้แก่ผู้ได้รับสิทธิของโครงการฯ จำนวน 3,025,596ราย
ซึ่งรัฐบาลคาดว่า โครงการฯ จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ต่อ
ยอดในการประกอบอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ รวมทั้งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น
กลยุทธ์ฝ่าคลื่นเศรษฐกิจ
คนไทยในออสเตรเลียเปิดเผยว่าในการอยู่รอดในเศรษฐกิจเช่นนี้ พวกเขาใช้วิธีการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการ ประหยัด การเลือกซื้อสินค้า ทำงานมากขึ้น หรือลดการทานอาหารนอกบ้านลง เป็นต้น
คุณ หมิว เปิดเผยว่า นอกจากทำงานมากขึ้นแล้ว ยังต้องรัดเข็มขัดในทุกทางเพื่อที่จะลดรายจ่าย เช่น ลดการทานข้าวนอกบ้านและประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ เป็นต้น
“ออสเตรเลียก็ทุกอย่างก็แพงขึ้นมากเลยค่ะ ค่าน้ำ ค่าไฟก็แพงขึ้นมากๆก็อยู่กันแบบทนร้อนทนหนาวไม่เปิดแอร์คอนดิชั่นเพื่อประหยัดเงินกันให้ได้มากที่สุดเลยค่ะ”
อ่านเพิ่มเติม
![Image for read more article 'อ่านเพิ่มเติม'](https://images.sbs.com.au/dims4/default/29dcd29/2147483647/strip/true/crop/5567x3131+1+63/resize/1280x720!/quality/90/?url=http%3A%2F%2Fsbs-au-brightspot.s3.amazonaws.com%2Fe0%2Fdb%2Faab7b8c84ddb89e7285e5481416d%2F20211022001588298070-original.jpg&imwidth=1280)
งานเดียวไม่พอ ออสฯ พบปชช.ควบหลายงานสู้ค่าครองชีพ
คุณสุทธินีย์ ชี้ว่า เธออยู่ประเทศออสเตรเลียมานานจนรู้สึกว่าเป็นเป็นวงจรของเศรษฐกิจแต่การจะอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้คือการที่ต้องมีการวางแผนค่าใช้จ่ายให้รัดกุมมากขึ้น
“แต่ว่าเราก็ชินเพราะเราอยู่มานานแล้วเราก็รู้ว่ามันขึ้นมันลง แต่ว่าเราก็ต้องบริหารจัดการว่าเราจะต้องอยู่ยังไง เราจะต้องหารายได้เพิ่มยังไงหรือ save budget ยังไง”
คุณ จารุลักษณ์ แบ่งปันเคล็ดลับการประหยัดว่าบริหารจัดการด้านการเงินเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การเลือกซื้อของที่ลดราคา เป็นต้น
“ถ้าสมมุติซื้อของ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่นี่เนี่ยค่อนข้างจะมีโปรโมชั่นที่แบบเราก็เลือกซื้อ แล้วก็อาจจะสต๊อกของไว้หน่อยนึงอะไรประมาณอย่างนั้น น่าจะใช้วิธีนั้นในการบริหารจัดการเงินมากกว่าค่ะ”
การคาดการณ์ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียจะเป็นอย่างไร?
ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้บริโภคและผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา Griffith University แกรม ฮิวจ์ กล่าวว่าสถานการณ์ยังมีความผันผวนทำให้การคาดการณ์การเคลื่อนไหวของสกุลเงินเป็น "เรื่องยุ่งยาก" แต่ก็มีตัวบ่งชี้ที่ต้องจับตามอง เขากล่าวว่า
"การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางออสเตรเลีย ประสิทธิภาพของเศรษฐกิจโลก และความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์สหรัฐ ล้วนมีบทบาททั้งสิ้น"
"มีความเสี่ยงที่เงินดอลลาร์จะยังอ่อนค่าต่อไป"
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
สามารถติดตามเราได้ในช่องทางใหม่ทาง Instagram ที่