เมื่อวานนี้ (23 ม.ค.) ที่กรุงเทพมหานคร สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์เรื่องการเลือกตั้งทั่วไป โดยมีใจความว่าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับแล้ว ผลก็คือภายใน 5 วันนับแต่วันนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษากำหนดวันเลือกตั้งหลังจากนั้นในวันเดียวกันนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่าได้มีการลงมติโดยกรรมการ กกต. ซึ่งผลไม่ได้เป็นเอกฉันท์ แต่ยึดเสียงข้างมาก และได้กล่าวยืนยันว่าจะมีวันเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. โดยถือว่า “เหมาะสม เพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่สามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมาย” สำหรับการเลือกวันที่ดังกล่าวบีบีซีไทยรายงานว่า เป็นไปตามข้อเสนอของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่เคยกล่าวว่า “น่าจะเหมาะสมที่สุด” นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ยังกล่าวเสริมว่า “ถ้าเลือกวันใดวันหนึ่งแล้วเป็นประโยชน์กับส่วนใหญ่ก็จะเลือกวันนั้น“
พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 (Public release of the Royal Decree/Priminister's Office, Government of Thailand) Source: Public release/Priminister's Office, Government of Thailand
โดยประธาน กกต. ได้เผยลำดับเวลาของการเลือกตั้งดังต่อไปนี้ (Source: BBC Thai, The Nation)
- 24 ม.ค. กกต. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา
- 28 ม.ค.-19 ก.พ. วันลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
- 4-8 ก.พ. วันรับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และพรรคการเมืองต้องแจ้งชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค
- 15 ก.พ. ประกาศรายชื่อผู้สมัคร
- 4-16 มี.ค. วันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
- 17 มี.ค. วันลงคะแนนเสียงนอกเขตเลือกตั้ง
- 24 มี.ค. วันเลือกตั้งทั่วไป
- 9 พ.ค. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง (กกต. มีเวลาแจกใบเหลือง-ใบแดง 46 วัน)
ส่วนเรื่องของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลได้ประสานงานให้ทาง กกต. ทราบเท่าที่จำเป็นถึงกำหนดการและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับพระราชพิธี เพื่อไม่ให้กิจกรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ยังต้องดำเนินการต่อหลังจากวันเลือกตั้ง ไปทับซ้อนหรือเสี่ยงต่อการทับซ้อนต่อกำหนดการพระราชพิธีดังกล่าว
เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาล คสช. ได้ยกเลิกการสั่งห้ามกิจกรรมทางการเมือง เพื่ออนุญาตให้พรรคการเมืองต่างๆ ทำการรณรงค์หาเสียงได้
โดยในครั้งนี้ จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย ตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557
ชาวไทยในประเทศออสเตรเลียต้องทำอย่างไรบ้าง?
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีบทบัญญัติเรื่องการเลือกตั้ง สิทธิและหน้าที่ของคนไทย เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดังนี้หมวด 4 หน้าที่ของคนไทย
- มาตรา 72 บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
- มาตรา 99 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือ มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
- สัญชาติไทย หรือผู้มีสัญชาติไทยโดยได้แปลงสัญชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
- อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง ในปีนี้ถึงว่า ต้องมีอายุครบ 18 ปีบริบรูณ์ภายในวันที่ 1 มกราคม 2562
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
- ไม่มีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้: ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช อยู่ในระหว่างถูกเพิงถอนสิทธิการเลือกตั้ง ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน หรือไม่สมประกอบ
สิ่งที่ท่านจะต้องทำ
- ท่านจะต้องมีบัตรประชาชนที่ไม่หมดอายุ
- ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (28 ม.ค.-19 ก.พ.) ซึ่งทำได้สองวิธี: (1) ลงทะเบียนด้วยตัวเองออนไลน์บนเว็บไซต์ของ กกต. (ขณะนี้ยังไม่เปิดทำการ) (2) ติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์ราให้ดำเนินการให้กับท่าน สามารถติดต่อได้เลยในขณะนี้ ตามรายละเอียดในพอดคาสต์ด้านล่าง ⬇
- ทำการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (4-16 มี.ค.) โดยบัตรเลือกตั้งของท่านจะถูกนำไปนับคะแนนที่ประเทศไทย
โปรดกดด้านล่างเพื่อฟังรายละเอียดขั้นตอนการทำบัตรประชาชนและลงทะเบียนเลือกตั้งในประเทศออสเตรเลีย
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ท่านทูตนันทนาเตือนตรวจสอบบัตรประชาชนเตรียมเลือกตั้ง