Feature

หรือออสเตรเลียกำลังเปลี่ยนโฉมหน้า ด้วยความเชื่อทางการเมืองที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่

ประเทศออสเตรเลียมีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากขึ้น ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็เริ่มตั้งคำถามกับพันธมิตรทางการเมืองแบบเดิม โดยหลายคนบอกว่าความรู้สึกของพวกเขานั้น "ซับซ้อน" และไม่อิงอยู่กับขั้วการเมืองใดขั้วหนึ่งอย่างชัดเจนอีกต่อไป

Photos of two young women and one young man against a background of an Australian and US flag

คนรุ่นใหม่ในออสเตรเลียมีแนวโน้มตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น Source: SBS

เอ็ดดูอาร์โด คาเซเรส-แซนโดวัล เติบโตขึ้นที่นครเพิร์ท เขาจำได้ว่าตอนเรียนประถมเคยถกเถียงเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 อย่างจริงจัง แต่กลับไม่มีใครพูดถึงการเลือกตั้งของออสเตรเลียในปีเดียวกันมากนัก

แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่หนุ่มลูกครึ่งชิลี-ออสเตรเลียคนนี้ก็ตัดสินใจศึกษาด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่แคนเบอร์รา

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพ่อแม่ส่งเสริมให้เขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับประเทศแถบเอเชียตั้งแต่เด็ก นักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 20 ปีกล่าวว่า

“พอเป็นวัยรุ่น ผมเริ่มรู้สึกว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป... ไม่ได้เน้นแค่ที่ยุโรปหรืออเมริกาอีกต่อไป แต่มุ่งหน้ามาทางเอเชีย”

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ในกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมีความความลังเลหรือความไม่มั่นใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐฯมาก

ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ผลสำรวจของสถาบันโลวี (Lowy Institute) ที่พบอย่างต่อเนื่องว่า ชาวออสเตรเลียที่มีพ่อหรือแม่อย่างน้อยหนึ่งคนเกิดในประเทศในเอเชีย มักมีระดับความไว้วางใจต่อสหรัฐฯ ต่ำกว่ากลุ่มที่ทั้งพ่อและแม่เกิดในออสเตรเลีย

A man wearing a dark puffy parka, cream pants and white sandshoes stands on a beach.
เอ็ดดูอาร์โด คาเซเรส-แซนโดวัลเล่าว่า พ่อแม่ชาวชิลี-ออสเตรเลียของเขาส่งเสริมให้เขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตั้งแต่ยังเด็ก Credit: Supplied
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าผู้มีพื้นเพครอบครัวจากเอเชียจำนวนไม่น้อย มองว่าพันธมิตรระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐฯ ไม่ได้มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศเท่ากับกลุ่มอื่น ๆ

มุมมองเช่นนี้อาจมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เมื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมของออสเตรเลียขยายตัวต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลล่าสุดของสำนักสถิติแห่งออสเตรเลียปี 2023 พบว่า ประชากรราว 31.5% ของออสเตรเลียเกิดในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 17.7% เมื่อปี 1911

เรีย เวอร์มา ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกวัย 19 ปี กล่าวว่า ประสบการณ์การย้ายถิ่นของพ่อแม่ชาวอินเดียที่ย้ายมาออสเตรเลียเมื่อสองทศวรรษก่อน

ทำให้เธอมีมุมมองที่ "ซับซ้อน" ต่อความสัมพันธ์ออสเตรเลีย–สหรัฐฯ นอกจากนี้ เธอยังกังวลว่าทั้งสองประเทศมีแนวโน้มจะลดจำนวนผู้ย้ายถิ่นในอนาคต

ทั้งเวอร์มาและคาเซเรส-แซนโดวัลต่างก็ต้องการเห็นนโยบายต่างประเทศของออสเตรเลียมีความเป็นอิสระมากขึ้น ในขณะที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไว้

 “ผมคิดว่าออสเตรเลียเริ่มเดินไปในทิศทางนี้แล้ว แต่ผมอยากเห็นประเทศเราทุ่มเต็มที่ในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย” คาเซเรส-แซนโดวัลกล่าว
A woman with a cream shirt standing inside
เรีย เวอร์มากล่าวว่า การย้ายถิ่นฐานเป็นโอกาสที่เปลี่ยนชีวิตของใครหลายคน รวมถึงพ่อแม่ของเธอด้วย Credit: Supplied

มุมมองต่อสหรัฐฯ เปลี่ยนไปอย่างละเอียดอ่อนระหว่างรุ่น

ที่ผ่านมา นโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของออสเตรเลียมักได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองขั้วการเมือง ทำให้ประเด็นนี้ไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

โดยจากผลสำรวจ Australian Electoral Study ปี 2022 มีเพียง 5% เท่านั้นที่มองว่านโยบายต่างประเทศเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้อาจเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งปีนี้ จากข้อมูลของเครื่องมือ Vote Compass ของ ABC พบว่ามีผู้เลือกตั้งให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศเพิ่มขึ้น

เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2022 โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 18 ถึง 29 ปี ซึ่งประเด็นนี้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากเป็นพิเศษ
เรจินา อึ้ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งวัย 19 ปีจากแคนเบอร์รา ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) และหวังจะทำงานด้านนโยบายต่างประเทศในอนาคต เผยว่าประเด็นนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่เธอใช้พิจารณาในการลงคะแนนเสียง

“สำหรับฉัน นโยบายต่างประเทศถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญลำดับต้น ๆ ในการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งนี้” เรจินากล่าว
A woman with brown hair and wearing a black and white horizontal striped tank top sits at a wooden table outside and smiles for the camera
เรจินา อึ้งกล่าวว่า นโยบายต่างประเทศเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญลำดับต้น ๆ ที่เธอจะใช้พิจารณาในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง Credit: Supplied
ดีแลน ราเฟล อดัมส์ นักศึกษาชาวออสเตรเลียเชื้อสายกรีกวัย 19 ปี กำลังจะใช้สิทธิ์เลือกตั้งระดับชาติครั้งแรกในชีวิต

เขาเล่าให้ SBS News ฟังว่า คนรุ่นเขาและเพื่อนร่วมรุ่นมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐฯ มากกว่าคนรุ่นพ่อแม่

“ผมรู้สึกว่าคนรุ่นเรานั้นเติบโตมากับสหรัฐฯ ทั้งวัฒนธรรมสมัยนิยม ไลฟ์สไตล์ และเกือบทุกแง่มุมของชีวิตสังคมจากฝั่งอเมริกา ล้วนกลมกลืนอยู่ในการเติบโตในออสเตรเลียของเรา”

อดัมส์บอกว่าเขาเคยเป็นผู้สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐฯ มาโดยตลอด แต่การกลับมาของรัฐบาลทรัมป์ ทำให้เขาเริ่ม “ตั้งคำถาม” กับความเป็นพันธมิตรนี้

แม้จะมีความลังเล แต่เขายืนยันว่าไม่ได้ “ต่อต้าน” พันธมิตรนี้

อดัมส์ให้ความเห็น โดยอ้างถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงที่รวมถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ

“ผมยังสนับสนุนความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อยู่ครับ เราเห็นได้จาก AUKUS และความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่สองประเทศพัฒนาร่วมกัน ไม่ว่าจะมีใครเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ก็ตาม”
A man wearing a dark blue suit jacket and blue striped shirt poses in front of  a hedge. There is a brick building behind the hedge.
ดีแลน ราเฟล อดัมส์กล่าวว่า สำหรับเขา “ความมั่นคงของชาติ” เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการเลือกตั้ง และเป็นปัจจัยหลักที่ใช้พิจารณาในการตัดสินใจว่าจะลงคะแนนให้ใคร Credit: Supplied
มุมมองของอดัมส์สะท้อนแนวโน้มในหมู่คนรุ่น Gen Z ของออสเตรเลีย ที่แม้จะยังสนับสนุนความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แต่ก็มีความระแวดระวังและตั้งคำถามกับพันธมิตรนี้มากขึ้น Lowy Institute ปี 2025

แม้จะมีข้อพิพาททางการค้า ผลสำรวจยังพบว่าคนออสเตรเลียส่วนใหญ่ยังมองว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ โดยมีเพียง 4% เท่านั้นที่มองว่า "ไม่สำคัญเลย"

ช่องว่างระหว่างรุ่นที่ชัดเจนมากขึ้น

ในกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีถึง 61% ที่มองว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ “สำคัญมาก” ขณะที่ในกลุ่มอายุ 18–29 ปี มีเพียง 41% เท่านั้นที่คิดเช่นนั้น

 ความแตกต่างระหว่างรุ่นยังสะท้อนผ่านระดับความเชื่อมั่นในสหรัฐฯ

ไรอัน นีลัม ผู้อำนวยการฝ่ายความคิดเห็นสาธารณะและนโยบายต่างประเทศของ Lowy Institute ระบุว่า ความเชื่อมั่นในสหรัฐฯ ในหมู่ผู้สูงวัยร่วงลงอย่างมาก จาก 72% ที่ตอบว่ามี “ความเชื่อมั่นสูงมาก” ในปี 2024 เหลือเพียง 39% ในปี 2025

ในขณะที่กลุ่มอายุ 18–29 ปี แม้ตัวเลขจะลดลงเพียง 4 จุด แต่ก็เริ่มจากระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำอยู่แล้ว และยังเป็นกลุ่มที่แสดงความเชื่อมั่นในสหรัฐฯ ต่ำที่สุดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2018
ช่องว่างระหว่างรุ่นยังสะท้อนให้เห็นในมุมมองต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เรียกร้องให้ประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ เพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศ

ผลสำรวจจาก Lowy Institute ระบุว่า มีเพียง 39% ของชาวออสเตรเลียอายุ 18–29 ปีที่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว ขณะที่ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป กลับมีถึง 61% ที่ให้การสนับสนุน

ในด้านความเชื่อมั่นต่อผู้นำทางการเมือง กลุ่มอายุ 18–29 ปีแสดงความเชื่อมั่นในความสามารถของนายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีซี ในการจัดการนโยบายต่างประเทศสูงที่สุดในทุกช่วงอายุ (54%) ขณะที่แสดงความไว้วางใจต่อนายปีเตอร์ ดัตตัน ผู้นำฝ่ายค้านในระดับต่ำสุดเพียง 11%

นโยบายพันธมิตรอาจส่งผลต่อคนรุ่นใหม่โดยตรง

ซาราห์ รามันตานิส ประธานบริหารองค์กร Young Australians in International Affairs ระบุว่า คนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามมากขึ้นว่านโยบายด้านความมั่นคงและการค้ากับสหรัฐฯ จะกระทบต่อความมั่นคงทางอาชีพและโอกาสทางเศรษฐกิจของพวกเขาอย่างไร

“ตัวอย่างเช่น...นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์กระตุ้นให้มีการผลิตในประเทศสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งหมายถึงความต้องการอะลูมิเนียมจากออสเตรเลียน้อยลง และนั่นอาจกระทบต่อการจ้างงานในภาคส่วนนี้” รามันตานิสกล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์

เธอยังชี้ว่า สงครามในกาซาได้ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมาก “เปลี่ยนมุมมองอย่างมีนัยสำคัญ” ต่อสหรัฐฯ และลดความเคารพศรัทธาในบทบาทของประเทศนี้

ขณะที่การที่ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศโลก ก็ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่วิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น
LISTEN TO
Vote new gen interview image

เสียงจากคนรุ่นใหม่ชุมชนไทย สะท้อนอนาคตการเมืองออสเตรเลีย

SBS Thai

11:10
ข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้าน (Coalition) ที่จะเพิ่มงบกลาโหมของออสเตรเลียเป็น 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) กลายเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลในหมู่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่

แม้นายปีเตอร์ ดัตตัน ผู้นำฝ่ายค้านจะยืนยันว่า งบดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับพันธมิตรระหว่างประเทศ

ดีแลน อดัมส์ ระบุว่า ในสถานการณ์โลกที่ไม่มั่นคง การเพิ่มงบกลาโหมถือเป็นเรื่องจำเป็น แต่เขากังวลว่า
นโยบายนี้อาจส่งผลเสียต่อเยาวชน
ในขณะที่อาหารแพงขึ้น คิวรอพบแพทย์ยาวนาน และการลดหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ผมรู้สึกกลัวที่เห็นรัฐบาลให้ความสำคัญกับกลาโหมมากกว่าด้านสุขภาพหรือการศึกษา
ดีแลน อดัมส์
ขณะเดียวกัน เอ็ดดูอาร์โด คาเซเรส-แซนโดวัล เห็นด้วยว่าออสเตรเลียควรพัฒนาขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศ แต่ตั้งคำถามว่าหากเงิน 3% ของ GDP มุ่งสู่ระบบอุตสาหกรรมทางทหารของสหรัฐฯ ออสเตรเลียจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเพียงใด

“ถ้าเราทุ่มงบขนาดนี้ให้กับระบบอุตสาหกรรมทหารของอเมริกา เราจะได้รับความจริงใจและหลักประกันด้านความมั่นคงตอบกลับมาหรือไม่?” เขากล่าว “ในฐานะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวออสเตรเลีย ผมต้องการความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา”

ความหวังต่ออาชีพการทูตถูกลดทอนลงด้วยความไม่แน่นอน

เยาวชนหลายคนที่ให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศในเลือกตั้งครั้งนี้ต่างฝันอยากทำงานในสายนี้ แต่ค่าครองชีพที่พุ่งสูง และการแข่งขันในตลาดแรงงานอาจทำให้ความฝันนั้นเลือนหาย

 แต่เดิม เส้นทางอาชีพนักการทูตมักเริ่มต้นผ่านการเข้ารับราชการ แต่ข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีแนวโน้มจะลดตำแหน่งงานภาครัฐลงถึง 41,000 ตำแหน่งใน 5 ปีข้างหน้า ก็สร้างความกังวลว่าจะทำให้โอกาสยิ่งลดน้อยลง

 ซาราห์ รามันตานิส ผู้บริหารองค์กร Young Australians in International Affairs ระบุว่า คนรุ่นใหม่จำนวนมากเริ่มหันไปมองโอกาสในองค์กรความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในต่างประเทศแทน
ฉันคิดว่าหลายคนเริ่มหมดหวังกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนผ่านการทำงานกับรัฐบาล โดยเฉพาะในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งในออสเตรเลียและต่างประเทศ
 ซาราห์ รามันตานิส ผู้บริหารองค์กร Young Australians in International Affairs
เธอยังหวังว่ารัฐบาลใหม่จะยังคงสนับสนุนโครงการเพื่อเยาวชน เช่น New Colombo Plan ซึ่งเป็นทุนการศึกษาของกระทรวงการต่างประเทศและการค้า (DFAT) เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยได้เรียนรู้ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

รวมถึงการส่งเสริมการจ้างงานในสายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ตอบโจทย์คุณค่าของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน หรือบทบาทในเวทีโลก

สำหรับผู้ที่ทำงานในสายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่แล้ว หลายคนตั้งความหวังว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้จะนำไปสู่การมีตัวแทนจากชาวออสเตรเลียที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้นในรัฐสภา

 แคโรไลน์ หวัง นักวิเคราะห์ด้านจีนศึกษาจากซิดนีย์ วัยสามสิบต้น ๆ กล่าวว่า

 “ฉันอยากเห็นชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียมีบทบาทในพื้นที่สาธารณะมากกว่านี้”

“โดยเฉพาะในประเด็นนโยบายต่างประเทศหรือบทสนทนาระดับชาติ หากเรานำความหลากหลายเข้ามาในวงถกเถียงสาธารณะ เราจะได้ประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะจากคนที่มีความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งสามารถเติมเต็มการถกเถียงด้วยประสบการณ์และมุมมองที่แตกต่าง”


ติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่  หรือ และ

Share

Published

By Wing Kuang
Presented by Chayada Powell
Source: SBS


Share this with family and friends