รายการวิทยุ เอสบีเอส ไทย ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ผู้ค้าปลีกอิสระบางรายอาจถูกบีบให้ปิดกิจการ เนื่องจากไม่มีเงินพอจะจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากการที่คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์คประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กลุ่มนายจ้างระบุ
แต่สหภาพแรงงาน กล่าวว่า ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างในอัตราค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมากจะยังคงต้องดิ้นรนหารายได้ให้พอเลี้ยงชีพต่อไป ถึงแม้จะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำสำหรับปีนี้แล้ว
นายจอช เดอ บรุน ซีอีโอ ของกลุ่มเอ็มจีเอ อินดีเพนเดนต์ รีเทลเลอร์ กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 3 จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อการอยู่รอดของอุตสาหกรรมธุรกิจค้าปลีกอิสระ โดยต้องหาเงินค่าแรงมาจ่ายเพิ่มนอกเหนือจากที่เพิ่มค่าแรงร้อยละ 3.5 เมื่อปีที่แล้ว และอีกร้อยละ 3.3 เมื่อปี 2017
นายเดอ บรุน กล่าวว่า ส่วนใหญ่ของร้านค้าซูเปอร์มาร์เกตอิสระ ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านขายปลีกวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวมักต้องเปิดให้บริการยาวนาน เพื่อจะได้กำไรเพียงเล็กน้อย
"ค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่นี้จะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อความยั่งยืนของธุรกิจเหล่านี้ และธุรกิจเหล่านี้จำนวนมากไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปิดกิจการ" นายเดอ บรุน ระบุในแถลงการณ์
กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ยังเตือนด้วยว่า ธุรกิจขนาดเล็กต่างๆ จะต้องดิ้นรนเพื่อจ่ายค่าแรงลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกคนละ 21.60 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นจำนวนเงินที่นายจ้างทั้งหมดจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นรวมกัน 3.1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ค่าจ้างขั้นต่ำออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์
นายรัสเซล ซิมเมอร์แมน ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า เขาหวังว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการแฟร์เวิร์คจะไม่ส่งผลให้มีร้านค้าปลีกอีกมากที่จะต้องปิดกิจการไป
"มีธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กมากเป็นจำนวนมากมายทีเดียว ที่ความจริงแล้ว ไม่สามารถดึงเงินค่าจ้างออกมาจากเงินในธุรกิจได้ เจ้าของธุรกิจที่มีรายได้แค่พอประทังธุรกิจไปวันๆ" เขาบอกกับผู้สื่อข่าว
"การตัดสินใจนี้จะสร้างความยากลำบากอย่างมากให้กับธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กบางแห่ง ซึ่งอาจกำลังดำเนินธุรกิจอย่างแร้นแค้นอยู่แล้วในขณะนี้"
สหภาพแรงงาน ยูไนเต็ด วอยซ์ กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นอีก 57 เซนต์ต่อชั่วโมงจะไม่สร้างความแตกต่างให้มากนักสำหรับลูกจ้างที่เป็นพนักงานทำความสะอาด ผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ทำงานในธุรกิจการให้บริการต้อนรับ และลูกจ้างค้าปลีก ที่ต้องดิ้นรนหารายได้ให้พอกับรายจ่ายต่างๆ ของตน
"นี่หมายถึงความไม่เท่าเทียมกันต่อไป และการดิ้นรนเพื่อหารายได้ประทังชีวิตต่อไป" นางโจ-แอน สโกฟิลด์ เลขาธิการแห่งชาติของยูไนเต็ด วอยซ์ กล่าว
นายเจอราร์ด ดไวเออร์ เลขาธิการแห่งชาติของสหภาพแรงงานเอสดีเอ กล่าวว่า ขณะที่การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มรายได้ที่จำเป็นให้แก่ลูกจ้าง แต่พนักงานค้าปลีกและลูกจ้างธุรกิจอาหารฟาสต์ฟูดจะยังคงไม่ได้ประโยชน์เต็มที่จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้
"จากการเติบโตของค่าจ้างที่ต่ำเป็นประวัติกาล และจากการตัดลดอัตราค่าจ้างเพิ่มพิเศษในการทำงานนอกเวลาทำการปกติ (penalty rate) ไม่ต้องสงสัยเลยว่าลูกจ้างจำนวนมากจะยังคงต้องดิ้นรนหารายได้ให้พอเลี้ยงชีพต่อไป" นายดไวเออร์ กล่าว
นางเคท คาร์แนล ผู้ตรวจการเพื่อธุรกิจขนาดเล็กและกิจการครอบครัว กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็ก แต่เธอก็สนับสนุนกระบวนการอิสระที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของแฟร์เวิร์ค
"ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นนั้นมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ และนั่นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งธุรกิจเหล่านั้นจำนวนมากก็กำลังดำเนินธุรกิจอย่างยากลำบากอยู่แล้วตอนนี้" นางคาร์แนล กล่าว
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
เที่ยวไทยเจาะลึกกับเจ้าถิ่น