"ในวันแต่งงานฉันตื่นเต้นมาก หญิงสาวทุกคนต้องการให้มีวันนั้น มันเป็นวันพิเศษสำหรับหญิงสาวทุกคน" ซิมรานจิต กล่าว
ในช่วงแต่งงานใหม่ๆ นั้น เธอมองเห็นแต่แง่ดีของสามีของเธอ
"เขาเป็นคนที่เอาใจใส่และห่วงใย ตอนแรกๆ ที่ฉันได้รู้จักเขา เขาสัญญากับฉันว่าจะทำให้ฉันมีความสุข ฉันเลยคิดว่าเขาเป็นคนดี"
ทั้งสองได้รู้จักกันที่ประเทศอินเดีย ครอบครัวของทั้งสองคนรู้จักกันอยู่แล้ว ดังนั้น จึงดูเหมือนเป็นคู่ที่เหมาะสมกันอย่างยิ่ง
สามีของเธอได้สัญชาติออสเตรเลียแล้ว ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปี เขาได้เป็นสปอนเซอร์วีซ่าคู่ครองให้เธอ ซึ่งนั่นทำให้เธอสามารถมาอาศัยอยู่กับเขาในออสเตรเลียได้
แต่หลังจากนั้น หลายอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป
"เขาควบคุมฉัน ไม่ว่าเขาจะต้องการอะไร ฉันก็ต้องทำ เช่น ฉันต้องทำความสะอาดบ้านตั้งแต่เช้าจนดึก ฉันต้องทำอาหารให้เขาและเพื่อนเขาด้วย และในตอนกลางคืนเขามักต้องการมีเพศสัมพันธ์เสมอ เขาไม่อนุญาตให้ฉันไปทำงาน ฉันเลยไม่มีเงิน ก็เลยออกไปข้างนอกไม่ได้ ไปซื้ออาหารไม่ได้ ฉันรู้สึกว่าจมปลัก ฉันร้องไห้อยู่บ่อยๆ และภาวนาขอให้พระเจ้าช่วยฉัน บางครั้งฉันก็รู้สึกอยากตาย"
ในออสเตรเลีย ผู้หญิง 1 ใน 6 และผู้ชาย 1 ใน 16 คนเคยมีประสบการณ์เป็นเหยื่อความรุนแรงทางร่างกายและ/หรือความรุนแรงทางเพศจากเงื้อมือของคู่ครอง
แต่สิ่งที่เราไม่รู้คือ มีเหยื่อสักกี่คนที่ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในออสเตรเลียเพื่อความรัก และขณะนี้ถือวีซ่าชั่วคราว โดยมีคู่ครองที่ใช้ความรุนแรงเป็นสปอนเซอร์วีซ่าให้
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ทางออกผู้หญิงเหยื่อความรุนแรง
คุณจาทินเดอร์ เคาร์ นักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งทำงานกับเหยื่ออย่างซิมรานจิต กล่าวว่า
"ระบบการอพยพย้ายถิ่นฐานที่นี่ขณะนี้ สามีคือสปอนเซอร์หลัก ดังนั้น หากมีการข่มเหงเกิดขึ้นที่บ้าน หรือเขาไม่พอใจภรรยา เขาอาจใช้เรื่องนี้มาขู่ เช่น ถ้าเธอบอกคนอื่น ฉันจะยกเลิกวีซ่าของเธอ ฉันจะถอนการเป็นสปอนเซอร์ให้เธอ" คุณเคาร์ ยกตัวอย่าง
โดยมากแล้ว จากการที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก และขาดความเข้าใจกฎหมายและบริการช่วยเหลือในออสเตรเลีย เหยื่อมักไม่รู้ว่าจะไปขอความช่วยเหลือได้จากที่ใด
พวกเขาวิตกว่าอาจถูกส่งกลับประเทศบ้านเกิด ซึ่งที่นั่นพวกเขาอาจต้องถูกทำให้อับอายจากญาติพี่น้องและชุมชน
คุณจาทินเดอร์ เคาร์ กล่าว่า ขณะที่มีบทบัญญัติด้านความรุนแรงในครอบครัวในพระราชบัญญัติการอพยพย้ายถิ่น ที่อนุญาตให้ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวบางคนสามารถอาศัยอยู่ต่อในออสเตรเลียได้ หลังออกจากความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรง แต่กระนั้น การยื่นเรื่องต่อกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียอาจเป็นเรื่องซับซ้อน
"คุณต้องขอหมายคุ้มครองกรณีความรุนแรงในครอบครัว หรือขอหลักฐานทางการแพทย์ หรือขอคำให้การจากพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ดังนั้น มันจึงค่อนข้างยากลำบากสำหรับเหยื่อที่จะพยายามรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นเพื่อส่งให้กระทรวงตรวจคนเข้าเมือง เพื่อที่ว่าพวกเขาจะเชื่อว่าเธอเป็นเหยื่อที่แท้จริงของความรุนแรงในครอบครัว" คุณเคาร์ นักสังคมสงเคราะห์ เผย
เชน ยานฮอง เคยอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงเช่นกัน
ผู้ก่อเหตุ ซึ่งก็คือสามีคนที่สองของเธอนั้น เคยเป็นสปอนเซอร์วีซ่าให้เธอ
แต่ขณะนี้ เธอได้เป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลียแล้ว แต่เธอเชื่อว่านี่คงไม่เกิดขึ้น หากเธอไม่ได้รับความช่วยเหลือจากบริการช่วยเหลือต่างๆ และเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์
"ฉันจำได้ว่าลูกชายของฉันเคยบอกฉันว่า 'แม่ ที่นี่มันดีจัง' ตอนนั้น พวกเราอยู่ในที่พักที่เป็นโมเต็ล แล้วเราก็มีอาหาร มีทุกอย่าง มีเสื้อผ้า และมีบัตรกำนัลไว้แลกของใช้ด้วย แม้แต่ตำรวจ องค์กรช่วยเหลือให้บัตรกำนัลเพื่อแลกของกับเรา เราจึงสามารถนำไปแลกซื้อสิ่งของได้"
เชน ยานฮอง ย้ำให้เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวคนอื่นๆ ให้ติดต่อบริการให้การสนับสนุนต่างๆ และขอความช่วยเหลือ มากกว่าจะทนอยู่กับคู่ครองที่ใช้ความรุนแรง
"ฉันรู้สึกว่าออสเตรเลียเป็นประเทศประเสริฐมาก ผู้คนทุกคน หรือผู้คนส่วนใหญ่มีความเห็นอกเห็นใจ และห่วงใยผู้อื่น และเป็นมืออาชีพมากในการที่พวกเขาให้ความช่วยเหลือคนอื่น"
หมายเหตุ: หากคุณ หรือคนที่คุณรู้จักได้รับผลกระทบจากการข่มเหงทางเพศ หรือความรุนแรงในครอบครัว ให้โทรศัพท์ไปยัง 1800RESPECT ที่หมายเลข 1800 737 732 หรือไปยังเว็บไซต์ สำหรับเหตุฉุกเฉิน โปรดโทรศัพท์ไปที่หมายเลข 000