Feature

ภารกิจช่วยเหลือนกค็อกคาทูดำที่ใกล้สูญพันธุ์ของชาวออสเตรเลีย

นกค็อกคาทูดำสายพันธุ์พื้นเมืองของออสเตรเลียกำลังตกอยู่ในอันตราย นักอนุรักษ์และชุมชนเหล่านี้จึงเร่งฟื้นฟูถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารของพวกมัน

An illustration of a forest, red-tailed black cockatoo sitting on a branch with leaves.

นกค็อกคาทูดำสายพันธุ์พื้นเมืองของออสเตรเลียกำลังตกอยู่ในอันตราย Source: SBS

เมื่อหลายสิบปีก่อน ฝูงนกค็อกคาทูดำนับพันตัวเคยบินปกคลุมท้องฟ้าบริเวณบางพื้นที่ของฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย

แต่ทุกวันนี้ ฝูงส่วนใหญ่เหลือเพียงไม่กี่สิบกว่าตัว

จำนวนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของนกค็อกคาทูดำเหล่านี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ไซมอน เชอร์ริแมน (Simon Cherriman) มายังพื้นที่ป่าในเขตชานเมืองเฮเซลเมียร์ (Hazelmere) ของเมืองเพิร์ธ พร้อมกับสว่านและเศษไม้เก่า

เขามาที่นี่เพื่อแบ่งปันทักษะความรู้ในการสร้างรังเทียมให้กับกลุ่มอาสาสมัครที่มีความสนใจจะช่วยฟื้นฟูสายพันธุ์ค็อกคาทูดำพื้นเมืองของเวสเทิร์นออสเตรเลียทั้งสามสายพันธุ์
Six people standing outside around wooden boxes filled with pieces of wood
นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ไซมอน เชอร์ริแมน นำร่องการจัดเวิร์กช็อปให้ความรู้แก่อาสาสมัครเพื่อสร้างรังนกเทียมเพื่อนกค็อกคาทูสายพันธุ์ท้องถิ่นที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ Source: Supplied / Trillion Trees
นกค็อกคาทูดำ 4 ใน 5 สายพันธุ์ของออสเตรเลียกำลังตกอยู่ในอันตราย

ความเปราะบางที่เพิ่มขึ้นของพวกมันได้กระตุ้นให้ชุมชนทั่วประเทศต้องลงมือเพื่อปกป้องจำนวนประชากรนกที่ยังเหลืออยู่ และพยายามป้องกันไม่ให้นกสายพันธุ์เหล่านี้ต้องสูญพันธุ์

โดยเฉพาะสามสายพันธุ์ที่ได้กลายเป็นจุดสนใจของนักอนุรักษ์และกลุ่มปกป้องสิทธิสัตว์ ซึ่งขณะนี้ได้กลายเป็นประเด็นในทางคดีความ

นกค็อกคาทูดำที่กำลังตกอยู่ในอันตราย

ในบรรดา 4 สายพันธุ์ที่ถูกจัดว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ มีหนึ่งสายพันธุ์ที่มีประชากรน้อยที่สุด คือสายพันธุ์ย่อยของนกค็อกคาทูดำขนเงา (glossy black cockatoo) ซึ่งปัจจุบันจำกัดอยู่เฉพาะบน Kangaroo Island ของรัฐเซาท์ออสเตรเลีย

ขณะที่ประชากรของสายพันธุ์ย่อยชนิดนี้ในรัฐควีนส์แลนด์และนิวเซาท์เวลส์ยังถือว่าอยู่ในระดับคงที่ แต่ในเซาท์ออสเตรเลียนั้น เชื่อว่ามีจำนวนน้อยกว่า 500 ตัว และถูกจัดให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
อีกสายพันธุ์หนึ่งคือนกค็อกคาทูดำหางเหลือง ซึ่งพบได้ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย แทสมาเนีย และในรัฐที่อยู่ทางตะวันออก

จำนวนของพวกมันเป็นที่เข้าใจว่ากำลังลดลงเนื่องจากการสูญเสียถิ่นอาศัย แต่ในปัจจุบัน สายพันธุ์นี้ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ภายใต้พระราชบัญญัติการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ (Environmental Protection and Biodiversity Conservation Act)

รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียเป็นบ้านของอีกสามสายพันธุ์ที่กำลังเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์บอแด็ง (Baudin’s) ซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤต สายพันธุ์คาร์นาบี (Carnaby’s) ซึ่งอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์, และสายพันธุ์ค็อกคาทูดำหางแดงที่อาศัยในป่า ก็ถูกจัดว่าเปราะบาง

นักอนุรักษ์กล่าวว่า หากไม่สามารถชะลอจำนวนที่ลดลงได้ ทั้งสามสายพันธุ์มีแนวโน้มจะสูญพันธุ์ภายใน 20 ปี
Four black cockatoos, each with a white patch of feathers on the cheek, sit on the dead branches of a tree.
นกค็อกคาทูคาร์นาบีเป็นหนึ่งในค็อกคาทูดำทั้งสี่สายพันธุ์ของออสเตรเลียที่กำลังต้องเผชิญกับความสูญเสียที่อยู่อาศัย Source: AAP / K Lightbody

ฤดูร้อนแล้งและการสูญเสียถิ่นอาศัย

เวิร์กชอปของเชอร์ริแมนจัดโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Trillion Trees ซึ่งระดมอาสาสมัครหลายสิบคนเพื่อสร้างกล่องรังนกขนาดใหญ่ 11 กล่องสำหรับนกค็อกคาทูดำในเวสเทิร์นออสเตรเลีย

โดยเชอร์ริแมนได้บอกกับ SBS News ว่า รังเหล่านี้เลียนแบบโพรงต้นไม้ตามธรรมชาติของไม้เนื้อแข็งที่นกค็อกคาทูดำใช้ทำรัง

เขาได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก “การปีนต้นไม้ผจญภัยหลายครั้ง” ที่เขาเคยทำในขณะเติบโตในย่าน Perth Hills ช่วงปี 1990 ซึ่งเขาได้ร่วมมือกับนักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ WA (WA Museum) เพื่อทำให้ไอเดียนี้เป็นจริง โดยใช้ขนาดจากโพรงรังนกจริงมาเป็นแบบจำลอง

เขากล่าวว่าประชากรค็อกคาทูดำคาร์นาบีในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 20,000 ถึง 30,000 ตัว ในขณะที่สายพันธุ์หางแดงป่ามีประมาณ 10,000 ถึง 12,000 ตัว และสายพันธุ์บอแด็งมีประมาณ 2,000 ถึง 5,000 ตัว

“ก่อนหน้านี้ ประชากรนกป่าเหล่านี้เคยมีมากกว่า 20,000 ตัว และคาร์นาบีอาจเคยมีหลายแสนตัว” เขากล่าว
ค็อกคาทูทั้งสามสายพันธุ์นี้กำลังลดจำนวนประชากรอย่างมีนัยยะสำคัญ
การถางพื้นที่เพื่อจัดเป็นที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรมได้ลดพื้นที่ถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารของนกในเวสเทิร์นออสเตรเลีย

หนำซ้ำสภาพอากาศที่แห้งแล้งอย่างรุนแรงในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐช่วงฤดูร้อนปี 2023-2024 ซึ่งส่งผลให้พืชจำนวนมากตายอย่างรวดเร็ว จนเหล่านักวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบเหตุการณ์แล้งที่เคยเกิดขึ้นนี้กับการฟอกขาวของปะการังบนบก ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อความสามารถในการหาอาหารของนกด้วย

ในปี 2024 สวนสัตว์เพิร์ธรายงานว่ามีจำนวนนกค็อกคาทูดำที่ถูกนำเข้ามาเพื่อรับการรักษาเพิ่มขึ้น

ตัวเลขสถิติที่นำเสนอต่อรัฐสภาเวสเทิร์นออสเตรเลียเมื่อปีที่แล้วเผยว่า เป็นเวลากว่า 5 เดือนที่สวนสัตว์ต้องดูแลนกค็อกคาทูดำที่ป่วยหรือบาดเจ็บถึง 120 ตัว ซึ่งรวมถึงนกคาร์นาบีที่ผอมแห้ง 42 ตัว และบอแด็งที่ขาดอาหารอีก 2 ตัว

ดั๊ก ลอรี (Doug Laurie) ผู้จัดการฟื้นฟูระบบนิเวศของ Trillion Trees กล่าวว่า “เนื่องจากการสูญเสียถิ่นอาศัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความพร้อมของอาหารจึงลดลง”
LISTEN TO
Red list of endangered species now counts 742 Australian species image

Red list of endangered species now counts 742 Australian species

SBS News

05:38

ความพยายามของชุมชนท้องถิ่นเพื่อช่วยนกค็อกคาทูดำ

ชาวเพิร์ธและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้เพื่อสนับสนุนประชากรนกค็อกคาทูดำ ร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ เช่น Carnaby’s Crusaders ที่ได้จัดเวิร์กชอปในย่านต่าง ๆ ของเพิร์ธเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้สำหรับเป็นอาหารนก

แม้ลอรีกล่าวว่าการปลูกไม้พื้นเมือง เช่น ยูคาลิปต์ มารรี (marri) ฮาเคีย (hakea) กรีวิลเลีย (grevillea) แบงค์เซีย (banksia) และจาร์ราห์ (jarrah) ซึ่งนกค็อกคาทูดำใช้เป็นแหล่งอาหารและทำรัง จะช่วยแก้ไขการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพได้ เขาก็แนะนำแนวทางการปลูกแบบผสมร่วมด้วย

“พันธุ์ไม้จากต่างประเทศอย่างพีแคน (pecan) ช่วยเพิ่มผลผลิตที่เป็นอาหารได้เร็วกว่า” เขากล่าว

โดยเขายังเสริมอีกว่าการเข้าถึงน้ำก็เป็นปัญหาสำหรับนกในรัฐนี้ด้วย

แม้ว่าหลายกลุ่มในท้องถิ่นจะสนับสนุนให้ติดตั้งอ่างน้ำนกหรือแหล่งน้ำอื่น ๆ สำหรับนก หน่วยงานท้องถิ่นแห่งหนึ่งก็ได้เลือกแนวทางใหม่ร่วมด้วย โดยการติดตั้งสถานีน้ำดื่มสำหรับนกชื่อ 'Cockitroughs'
สถานีให้น้ำนกค็อกคาทูของเทศบาล Victoria Park หลายจุดได้ถูกติดตั้งอยู่บนเสาสูง 4 เมตร พร้อมระบบบำบัดน้ำเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำที่จัดให้จะสะอาดและใหม่อยู่เสมอ ซึ่งขณะนี้ได้มีการติดตั้งสถานีเหล่านี้แล้วในหลายพื้นที่ของรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย

นอกเหนือจากความพยายามในการปรับปรุงแหล่งอาหารและน้ำแล้ว กลุ่มพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินงานภายใต้ชื่อ Save The Black Cockatoos ก็ยังร่วมกันดำเนินการเพื่อยับยั้งการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมของนกค็อกคาทูสีดำทั้งสามสายพันธุ์ในรัฐด้วยเช่นกัน

หนึ่งในโครงการที่กลุ่มดังกล่าวพยายามหยุดยั้ง คือการขยายเหมืองแร่อะลูมิเนียมบอกไซท์บนพื้นที่ป่า Jarrah ขนาด 3,855 เฮกตาร์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนกทั้งสามสายพันธุ์ และเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้รับความสนใจจากนักแสดงฮอลลีวูด ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Leonardo DiCaprio) อีกด้วย

ด้วยแรงกดดันจากสังคมเช่นนี้ ได้ส่งผลให้รัฐบาลรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียต้องยกเลิกแผนเดิมในการตัดไม้จากพื้นที่ปลูกต้นสนขนาด 1,800 เฮกตาร์ในเขตทางตอนเหนือของเมืองเพิร์ธ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นกคาร์นาบี (Carnaby’s) อยู่อาศัยเพื่อหาอาหารและใช้เป็นที่พักพิงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวขาดแคลนต้นไม้พื้นเมือง

นกค็อกคาทูสีดำที่ไม่ค่อยแวววาว

นอกจากพื้นที่เวสเทิร์นออสเตรเลียแล้ว ความพยายามในการฟื้นฟูประชากรนกค็อกคาทูสีดำในพื้นที่อื่น ๆ ของออสเตรเลียก็เผชิญกับอุปสรรคเช่นกัน

นกค็อกคาทูสีดำขนเงาบนเกาะแคงการู หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กลอสซี (glossies)’ นั้น เป็นหนึ่งในนกที่มีความเฉพาะเจาะจงด้านอาหารมากที่สุดในโลก

ในปี 1995 มีนกกลอสซีเหลืออยู่เพียง 200 ตัว และแม้ว่าความพยายามจากโครงการฟื้นฟูนกค็อกคาทู glossy ดำแห่งเกาะแคงการู (Kangaroo Island Glossy Black-cockatoo Recovery Program) จะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่กระบวนการฟื้นฟูก็ได้รับผลกระทบรุนแรงจากไฟป่าช่วง Black Summer ปี 2019–2020

ไฟป่าครั้งนั้นผลาญทำลายพื้นที่ไปถึง 211,474 เฮกตาร์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งเกาะ และได้ทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของนกจำนวนมาก โดยนกเหล่านี้จะกินเฉพาะเมล็ดของต้น drooping sheoak เท่านั้น ซึ่งเป็นสายพันธุ์เฉพาะของ Allocasuarina ที่พบได้บนเกาะแคงการู และต้องใช้เวลาหลายปีในการเจริญเติบโต
Two black birds sitting on a tree branch,
นกค็อกคาทูดำขนเงาหรือ 'กลอสซี' ที่มีจำนวนนับบนเกาะแคงการูน้อยกว่า 500 ตัวในปัจจุบัน Source: Supplied / WWF-Australia / thinkMammoth
บางพื้นที่ของพืชพันธุ์ดังกล่าว อาจฟื้นฟูได้จากเมล็ดภายใน 15 ปีข้างหน้า และองค์กร Greening Australia กับกองทุนสัตว์ป่าโลกแห่งออสเตรเลีย (WWF Australia) ก็ได้ร่วมกันปลูกกล้าต้นไม้หลังเหตุการณ์ไฟไหม้ เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยในอนาคต

โดยเมื่อไม่นานมานี้ ในปี 2023 ทั้งสององค์กรกลับมาร่วมมือกันอีกครั้ง โดยได้ทำการปลูกไปมากกว่า 19,000 ต้น ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งนกค็อกคาทูจะกลับมาสู่แผ่นดินใหญ่อีกครั้ง

แต่กระบวนการฟื้นฟูน่าจะเป็นไปอย่างช้า ๆ

รายงานสำรวจประชากรในเดือนพฤศจิกายน 2023 ของนกค็อกคาทูดำขนเองบนเกาะแคงการู ได้มีการระบุว่ามีการนับจำนวนนกได้อย่างน้อย 453 ตัว

และในรายงานยังระบุว่า อาจต้องใช้เวลา “ประมาณ 15–20 ปี เพื่อให้ป่าไม้ที่ถูกไฟไหม้สามารถฟื้นตัวและเริ่มผลิตเมล็ดจากต้น drooping sheoak ได้”
มีแนวโน้มที่ค็อกคาทูดำขนเงาหรือ 'กลอสซี' กำลังขาดแคลนที่อยู่อาศัยพร้อมแหล่งอาหารในอีกหลายปีข้างหน้า อันเป็นผลกระทบจากไฟป่าครั้งใหญ่เมื่อหลายปีก่อน
Three men standing on hilly farming land which is covered in plastic shields protecting small seedlings
WWF Australia และ Greening Australia ร่วมมือกันเพื่อเพิ่มจำนวนต้น sheoaks บนเกาะแคงการูในเซาท์ออสเตรเลีย เพื่อหวังว่าวันนึงจะช่วยเพิ่มจำนวนค็อกคาทูดำขนเงาในพื้นที่ Source: Supplied / Quentin Jones/© WWF-Australia / thinkMammoth

นกค็อกคาทูในศาล

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์กร Wilderness Society ได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ทันยา พลิบบีเซก (Tanya Plibersek) โดยกล่าวหาว่าเธอล้มเหลวในการจัดทำและรักษาแผนฟื้นฟูที่กำหนดโดยกฎหมายสำหรับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

โดยนกค็อกคาทูสีดำทั้งสามสายพันธุ์พื้นเมืองของเวสเทิร์นออสเตรเลียนั้นได้ถูกระบุไว้ในใน 11 สายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องในคดีฟ้องร้องนี้

ทางองค์กร Wilderness Society กล่าวกับ SBS News ว่าอาจมีสัตว์สายพันธุ์อื่น ๆ อีกหลายร้อยสายพันธุ์ที่แผนฟื้นฟูหมดอายุแล้ว แต่พวกเขาเลือกหยิบยกสัตว์บางชนิดมาใช้เป็นตัวอย่างในคดีนี้

ในขณะที่แผนฟื้นฟูนกกลอสซี ที่จัดทำขึ้นในปี 2005 เดิมทีมีระยะเวลาไปจนถึงปี 2010 แต่จากรายงานที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันธ์รัฐบาล พบว่าแผนดังกล่าวยังไม่เคยได้รับการปรับปรุงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งหมายความว่า แผนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้คำนึงถึงการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยล่าสุดและความท้าทายอื่น ๆ ที่เหล่านกกลอสซีบนเกาะแคงการูต้องเผชิญอยู่
ทางด้านโฆษกของรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมไม่ได้ตอบคำถามของ SBS News ว่าแผนฟื้นฟูที่มีอยู่หมดอายุแล้วหรือไม่ แต่ระบุว่ากำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแผนใหม่

โฆษกยังกล่าวอีกด้วยว่า รัฐบาลอัลบาเนซี “ได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการหลายโครงการเพื่อช่วยฟื้นฟูนกค็อกคาทูสีดำในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย”

ส่วนทางด้านโฆษกของรัฐบาลรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ได้มีการกล่าวในแถลงการณ์ว่า กรมความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ และแหล่งท่องเที่ยว (DBCA) กำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลกลางเพื่อพัฒนาแผนฟื้นฟูใหม่สำหรับนกค็อกคาทูสามสายพันธุ์ในรัฐ

“รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์นกค็อกคาทูสีดำอันเป็นสัญลักษณ์ของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย โดยอิงจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ” โฆษกระบุ

“DBCA ยังคงพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อนกค็อกคาทูสีดำในเวสเทิร์นออสเตรเลียและแนวทางการรับมือที่เป็นไปได้”

Share
Published 23 April 2025 2:27pm
By Aleisha Orr
Presented by Wanvida Jiralertpaiboon
Source: SBS


Share this with family and friends