ท่ามกลางการระบาดของเชื้อโควิดที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่คุณแพต เพ็ญพิสุทธิ์ คนไทยในเมลเบิร์น ยังคงมีงานให้ทำอย่างมั่นคงและแทบไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนาเลย เธอเล่าให้เอสบีเอส ไทย ฟังถึงงานของเธอ ซึ่งเป็นงานที่ดี รายได้ดี แต่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ในตำแหน่งนักปฏิบัติการในห้องแล็บตรวจสอบคุณภาพขนแกะ
“งานในห้องแล็บอาจจะแปลกใหม่สำหรับคนไทยทั่วไป แต่มันก็ไม่เกินความสามารถของเรา ถ้าเราเรียนรู้เร็ว มีความตั้งใจ ขยัน และรอบคอบ ก็ทำได้ แล้วอีกอย่างคือ รายได้ดีมาก สวัสดิการดี สิ่งแวดล้อมในการทำงานก็ดีค่ะ” คุณแพต กล่าวถึงเหตุผลที่เธออยากแนะนำงานนี้ให้คนไทยในออสเตรเลียได้รู้จัก
คุณแพต เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในห้องทดลองหรือห้องแล็บของบริษัท ออสเตรเลียน วูล เทสติง ออทอริตี (Australian Wool Testing Authority หรือ AWTA) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทตรวจสอบคุณภาพขนแกะที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยคุณแพตประจำอยู่ที่ห้องปฏิบัติการของบริษัท ที่มีสาขาอยู่ในนครเมลเบิร์น (ห้องปฏิบัติการอีกแห่งหนึ่งของบริษัทตั้งอยู่ที่เวสเทิร์นออสเตรเลีย)
ในแต่ละวันคุณแพตจะรับตัวอย่างขนแกะจากลูกค้านำมาลงทะเบียนเข้าระบบ จากนั้นจึงนำไปทำการทดสอบตามประเภทต่างๆ ดังที่ลูกค้าระบุมา ซึ่งขั้นตอนจะเริ่มด้วยการคัดแยกขนแกะ การชั่งน้ำหนักขนแกะ และเอาเข้าเครื่องซักหรือทำความสะอาดขนแกะ ก่อนจะนำไปเข้าตู้อบให้แห้ง แล้วจึงเริ่มต้นการนำขนแกะเข้าเครื่องวัดลักษณะทางกายภาพ ทั้งความหนา ความยาว ความแข็งแรงของเส้นขน รวมไปถึง การทดสอบลักษณะทางชีวภาพของขนแกะ คุณแพตอธิบายถึงลักษณะงานในแต่ละวัน
เธอกล่าวต่อไปว่า คนที่เหมาะจะทำงานนี้ได้ต้องมีทักษะหลักๆ ที่สำคัญคือ “ต้องเป็นคนที่สนใจในรายละเอียด มีความรอบคอบ เรียนรู้งานได้เร็ว ตอนที่แพตเข้าเริ่มฝึกงาน จะเป็นการทำงานกับตัวอย่างขนแกะจากลูกค้าจริงๆ เขาจะไม่มีขนแกะทดลองให้เราฝึกงาน แต่จะเป็นการฝึกงานกับชิ้นงานจริงๆ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเรียนรู้งานเร็ว อีกอย่าง คนที่ทำงานนี้จะต้องมีร่างกายแข็งแรง เพราะจะต้องยืน ต้องเดินทั้งวัน นอกจากนั้น ต้องมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐาน เพราะจะมีการล็อกอินเข้าระบบคอมพิวเตอร์ มีการสแกนหรือยิงบาร์โค้ด มีการตั้งค่าเครื่องชั่งน้ำหนัก” คุณแพต กล่าว

คุณแพตกับตัวอย่างขนแกะที่ต้องทำการทดสอบคุณภาพ Source: Supplied
เธอเล่าว่า ตัวเธอเองนั้น มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาบ้าง เพราะเรียนจบปริญญาตรีสายวิทยาศาสตร์ที่เมืองไทย แต่ย้ำว่า ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร “ถ้ามีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาก่อน ก็ดี แต่ถ้าไม่มี แพตคิดว่าไม่เป็นไร เพราะเพื่อนร่วมงานของแพตหลายคนเป็นเด็กมัธยมปลายจบใหม่ แต่เขายังได้งานนี้ แพตเลยคิดว่า น่าจะอยู่ที่ ‘can do attitude’ (ทัศนคติที่คิดว่าเราสามารถทำได้ และเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้) มากกว่า”
หลายคนอาจสงสัยว่างานในห้องแล็บทดสอบคุณภาพขนแกะที่คุณแพตทำนี้ ต้องมีทักษะภาษาอังกฤษระดับไหน คุณแพตตอบในประเด็นนี้ว่า “เราต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานถึงปานกลาง คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ได้เข้าใจ รู้ว่าหัวหน้าบอกอะไร สั่งอะไร เข้าใจว่าเพื่อนร่วมงานต้องการสื่อสารอะไรกับเรา ส่วนการเขียนเราไม่ต้องเขียนรายงานอะไร เพราะจะมีเจ้าหน้าที่ในสำนักงานที่จะเขียนรายงานผลการทดลองส่งให้ลูกค้าอยู่แล้ว เรามีหน้าที่แค่ปฏิบัติการในห้องแล็บแค่นั้นค่ะ”
แม้ว่าในช่วงที่มีการระบาดหนักของเชื้อโควิด-19 ในนครเมลเบิร์น ซึ่งทำให้ธุรกิจหลากหลายประเภทต้องปิดทำการชั่วคราวหรือถูกจำกัดการทำงาน แต่งานในห้องแล็บตรวจสอบขนแกะของคุณแพตไม่ได้รับผลกระทบและดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง
“ช่วงโควิด งานแพตไม่ได้รับผลกระทบเลยด้วยซ้ำ เพราะงานห้องแล็บถูกจัดให้เป็นบริการที่จำเป็น เราเลยไปทำงานกันทุกวัน ไม่โดนสั่งปิดแต่อย่างใด อีกอย่าง งานก็ดี เงินดี รายได้ดี ปฏิบัติต่อพนักงานดี” สาวไทยในเมลเบิร์น ผู้นี้กล่าว
แต่กว่าจะมาถึงจุดที่มีงานที่มั่นคงในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์สมใจ คุณแพตย้ำว่า น่าจะเป็นเพราะประสบการณ์ทำงานที่หลากหลายในออสเตรเลีย จากการที่ไม่เลือกงาน และทุ่มเทให้กับมัน ไม่ว่างานนั้นจะเล็กน้อยแค่ไหน

ในห้องแล็บตรวจสอบคุณภาพขนแกะในเมลเบิร์น Source: Supplied
“แพตเคยทำงานมาหลายที่มาก มีทักษะการทำงานเยอะและเคยทำงานมาหลากหลาย เคยทำงานมาตั้งแต่เป็นพนักงานทำความสะอาดเครื่องบิน ทำงานร้านก๋วยเตี๋ยวเป็นคิทเชน แฮนด์ ทำงานที่ไปรษณีย์ ทำงานรีดผ้าแบบอุตสาหกรรม ทำงานผลิตม่านมู่ลี่ เป็นประสบการณ์ที่เราผ่านมาจริงๆ เรารู้ว่าควรทำยังไง ไม่ควรทำยังไง น่าจะเป็นจุดนี้ ที่ทำให้แพตได้งาน” คุณแพต เผย
เธอยังฝากข้อคิดถึงคนไทยที่อาจจะเพิ่งย้ายมาอยู่ใหม่ในออสเตรเลียหรือเพิ่งก้าวเข้าสู่ตลาดงานในประเทศนี้ว่า “งานบางอย่างมันไม่ได้เป็นการลดตัวเองลงไปทำเลย แต่เราต้องทำเพราะเราต้องการประสบการณ์ โดยเริ่มก้าวเข้ามาจากตรงนั้น"
"เมื่อหกปีก่อน แพตทำงานทำความสะอาดเครื่องบิน ล้างห้องน้ำบนเครื่องบิน ทั้งๆ ที่จบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์มาจากเมืองไทย เคยเป็นซูเปอร์ไวเซอร์ในสำนักงานใหญ่ๆ มา แล้วต้องมาทำงานแบบนี้ ถ้าแพตยังถือตัวอยู่ ป่านนี้แพตคงไม่ได้มายืนถึงจุดนี้ จึงอยากฝากไว้ว่า ให้หนักเอาเบาสู้ และถ้าเราไม่เริ่มที่จะก้าวเดิน มันก็จะไม่ไปถึงจุดที่เราอยากไปถึง” คุณแพต เพ็ญพิสุทธิ์ คนไทยในเมลเบิร์น กล่าวทิ้งท้าย
ฟังสัมภาษณ์คุณแพต ที่พูดคุยเพิ่มเติมการสมัครงานในตำแหน่งนี้ และคำแนะนำทำตัวอย่างไรให้เพื่อนร่วมงานและเจ้านายรัก ที่นี่
LISTEN TO

งานดีเงินดีในห้องแล็บตรวจสอบขนแกะ
SBS Thai
19/11/202016:16
ฟังเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เจ้าหน้าที่ล้างเครื่องมือแพทย์:งานที่ไม่เกินเอื้อม
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

หลักสูตรช่วยเหลือผู้อพยพที่มีวุฒิครูให้ทำงานได้ในออสเตรเลีย