ที่ปรึกษาของธนาคารคอมมอนเวลธ์บางคน ยังคงเรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้าที่เสียชีวิตไปแล้ว ในกรณีหนึ่งนั้น เป็นเวลายาวนานกว่าทศวรรษ เรื่องนี้ถูกเปิดเผยในการไต่ส่วนหาความจริงสาธารณะ รอยัล คอมมิชชัน (Royal Commission)
นักวางแผนทางการเงินของบริษัทในเครือชื่อ เคานต์ ไฟแนนเชียล (Count Financial) ผู้หนึ่งทราบว่าลูกค้าของเขานั้นเสียชีวิตลงตั้งแต่เดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2004 แต่ก็ยังคงเรียกเก็บเงินจำนวนเกือบ $1000 ดอลลาร์ต่อปี ในเดือนธันวาคมของปี 2015
“เมื่อนักวางแผนคนดังกล่าวถูกถามเขาบอกว่าเขาไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไร และเขาได้พยายามติดต่อกับทางกองทรัพย์สินสาธารณะ (public trustee) แล้ว แต่ว่าไม่ได้รับการติดต่อกลับ” เอกสารทางการเงินของของเคานต์ ไฟแนนเชียล ระบุ
ได้มีคำแนะนำซึ่งรวมถึงการให้คืนค่าบริการเหล่านั้นให้กับกองมรดกของลูกค้า และอาจมีการทำการตักเตือนที่ปรึกษาคนดังกล่าว
การสืบสวนเมื่อปี 2015 ยังแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างลูกค้ารายอื่นๆ ซึ่งบางกรณีลูกค้าได้เสียชีวิตลงไปแล้ว แต่นักวางแผนทางการเงินของเคานต์ ไฟแนนเชียล ก็ยังเรียกเก็บค่าให้คำปรึกษาหรือค่าบริการต่างๆ แต่ทว่าลูกค้ากลับไม่ได้รับบริการเหล่านั้น
ธนาคารคอมมอนเวลธ์ถูกเรียกว่าเป็นธนาคาร “เหรียญทอง” ในเรื่องปัญหาการ “เรียกเก็บเงินแต่ไม่ให้บริการ” ท่ามกลางธนาคารขนาดใหญ่ทั้งสี่แห่งของประเทศออสเตรเลียและบริษัทบริหารเงินทุน เอเอ็มพี (AMP)
ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารคอมมอนเวลธ์ นางมารีแอนน์ เพอร์คอวิช ผู้ซึ่งมีความรับผิดชอบโดยรวมต่อธุรกิจของบริษัทด้านการให้คำปรึกษาทางการเงิน ในช่วงปี 2012 ถึง 2016 กล่าวว่า ธนาคารนั้นขอโทษต่อคำร้องเรียนของลูกค้าเมื่อถูกคาดคั้นโดยทนายความอาวุโส ผู้ทำหน้าที่ช่วยกรรมาธิการไต่สวน ซึ่งคือนายไมเคิล ฮ็อดจ์ ทนายความแห่งพระองค์ (Queen's Counsel) เธอก็ยอมรับว่า บริการวางแผนทางการเงินของธนาคารดังกล่าวนั้นทราบอยู่แล้ว ว่ามีปัญหา “เรียกเก็บเงินแต่ไม่ให้บริการ” ตั้งแต่ก่อนที่จะถูกหมายเตือนเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2014 จากคณะกรรมาธิการด้านหลักทรัพย์และการลงทุนแห่งออสเตรเลีย (ASIC)
ผู้บริหารทั่วไประดับสูงของ คอมมอนเวลธ์ ไพรเวท นางมารีแอนน์ เพอร์คอวิช (ขวา) เดินทางออกจากการไต่ส่วนสาธารณะรอยัลคอมมิชชันในนครเมลเบิร์นเรื่องบริการต่างๆ ของธนาคาร (ภาพโดย AAP-SBS) Source: AAP, SBS
นายฮ็อดจ์กล่าวว่า “คุณทราบก่อนหน้านั้น”
นางเพอร์คอวิชตอบว่า “เราทราบเกี่ยวกับการร้องเรียนต่างๆ ซึ่งเป็นกรณีที่เดี่ยวๆ แต่เราไม่ทราบว่าเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นระบบ จนกระทั่งปี 2014”
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
นโยบายดาบเขียวของจีนทำขยะกองพะเนินในออสเตรเลีย