'อย่าจุดระเบิดตัวเองนะ': คำพูดของผู้จัดการที่ทำลูกจ้างมุสลิมน้ำตานอง

รายงานล่าสุดพบว่า เหตุการณ์ความหวาดกลัวอิสลามในออสเตรเลียได้ย้ายจากสถานที่สาธารณะ เช่นศูนย์การค้า ไปยังที่ทำงานและโรงเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ

OFFICE WORK

มีรายงานเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ความหวาดกลัวอิสลามในออสเตรเลียในที่ทำงานและโรงเรียน

ประเด็นสำคัญ
  • มีรายงานเหตุการณ์การเลือกปฏิบัติในที่ทำงานและโรงเรียนเพิ่มขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา
  • มีรายงานเหตุการณ์ความหวาดกลัวอิสลามในพื้นที่สาธารณะน้อยลง
  • การลดลงดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการข้อจำกัดต่างๆ ในล็อกดาวน์ช่วงโควิดระบาดใหญ่
ชายชาวมุสลิมผู้นั้นกำลังอ่านหนังสือนโยบายต่างประเทศในที่ทำงาน เมื่อหัวหน้าของเขาเข้ามาถามว่าหนังสือเล่มนั้นเกี่ยวกับอะไร

“ผมบอกเขาว่ามันเป็นหนังสือเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับปากีสถาน และความเกี่ยวข้องของพวกเขาในอัฟกานิสถาน” ลูกจ้างคนดังกล่าวเล่า

เขากล่าวว่า คำพูดตอบโต้ของหัวหน้านั้น "ไม่เหมาะสม" จนทำให้เขาน้ำตานอง ขณะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เพื่อนฟังในภายหลัง

“เขาพูดว่า “อย่าอ่านหนังสือเลย เพราะคุณอาจลงเอยด้วยการจุดระเบิดตัวเองในออสเตรเลีย” ลูกจ้างคนดังกล่าวเล่าถึงคำพูดของหัวหน้างานของเขา

“หลังจากนั้น เขาก็บอกว่า ‘คุณอ่านคัมภีร์อัลกุรอานไหม คุณอ่านคัมภีร์อัลกุรอานหรือเปล่า?

นักเรียนมุสลิมถูกครูทำให้ 'อับอาย'

เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งการร้องเรียนเรื่องการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน ซึ่งถูกรายงานเข้ามาโดยชาวมุสลิม ต่อสำนักทะเบียนด้านความกลัวอิสลามแห่งออสเตรเลีย (Islamophobia Register of Australia)

รายงานล่าสุดจากองค์กรแห่งนี้ที่เผยแพร่ในวันอังคาร (21 มี.ค.) ระบุว่า จำนวนรายงานที่สำนักงานได้รับเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานและโรงเรียนเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ในอีกเหตุการณ์หนึ่งนั้น นักเรียนชาวปาเลสไตน์อายุ 12 ปีกำลังถือธงปาเลสไตน์อยู่ เมื่อครูถามว่าทำไมเขาถึง "ถือธงผู้ก่อการร้าย"

เด็กคนดังกล่าวรายงานว่า เขารู้สึก “ถูกกระทบกระเทือนทางจิตใจและ … ถูกทำให้อับอายต่อหน้าเพื่อนร่วมชั้น” รายงานระบุ
กรณีที่สามเกี่ยวข้องกับผู้หญิงคนหนึ่งที่มีการเสนองานให้เธอทำก่อนที่เธอจะส่งเรซูเมไปด้วยซ้ำ แต่หลังจากที่เธอแนบรูปภาพของตัวเองที่มีผ้าคลุมศีรษะแบบอิสลามลงในใบสมัคร ข้อเสนอที่จะให้เธอทำงานก็ถูกยกเลิกไป

“วันต่อมา เธอ (เจ้าของธุรกิจ) โทรหาฉันและเริ่มถามว่า ฉันรู้ไหมว่าเธอขายอะไร และเธอแค่ “คิด” (ที่จะให้งานทำ) เฉยๆ แต่เพราะฉันเป็นมุสลิม และเธอไม่แน่ใจว่าฉันจะรู้สึกอย่างไรกับการขายสินค้าที่บริษัทของเธอขาย ” หญิงคนนั้นเล่า

“เธอบอกอีกว่าเธอไม่รู้ว่าลูกค้าของเธอจะมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อ ‘ต้องติดต่อธุรกิจกับคนอย่างฉัน’ และไม่คิดว่าพวกเขาจะรับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เธอกล่าวต่อไปว่าเธอถามเรื่องนี้เพียงเพราะเธอทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นและคิดว่ามันคงจะดูไม่ดี”
สารจากเราคือ เรามีบริการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเหยื่อ เราสามารถให้การสนับสนุนพวกเขาได้

เหตุใดการล่วงละเมิดจึงเปลี่ยนจากชาวมุสลิมเป็นผู้มีเชื้อสายเอเชียในออสเตรเลีย

เมื่อมีการเริ่มเก็บรวบรวมรายงานเหตุการณ์เหล่านี้ครั้งแรกในปี 2014 รายงานส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ที่เหยื่อไม่รู้จักผู้กระทำความผิด โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ เช่น ศูนย์การค้าและในบริการขนส่งสาธารณะ แต่เหตุการณ์ที่เกิดจากผู้ที่มีความสัมพันธ์กับเหยื่อเพิ่มขึ้นจาก 21 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018-2019 เป็น 24 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020-2021 สำนักทะเบียนด้านความกลัวอิสลามแห่งออสเตรเลีย (Islamophobia Register of Australia) ระบุ

คุณชารารา แอตไต ผู้อำนวยการบริหารของสำนักทะเบียนแห่งนี้ กล่าวว่า การมีรายงานเข้ามาเพิ่มขึ้นอาจไม่ใช่เพียงเพราะมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานมากขึ้น แต่ยังเป็นเพราะมีคนรายงานกันมากขึ้นเนื่องจากมีการสนับสนุนทางกฎหมายมากขึ้นสำหรับเหยื่อ

ในขณะที่โดยรวมแล้ว จำนวนเหตุการณ์ที่รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ลดลง คือจาก 248 เรื่องร้องเรียนในปี 2018-19 เป็น 90 เรื่องในปี 2020-21 การลดลงดังกล่าวมีสาเหตุมาจากข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิด -19 ที่ลด “โอกาส” การก่อเหตุของผู้กระทำผิด ซึ่งถูกขัดขวางจากการเว้นระยะห่างทางสังคมและการล็อกดาวน์

อย่างไรก็ตาม มี “การเปลี่ยนเป้าหมายชั่วคราว” จากชาวมุสลิมไปยังผู้มีเชื้อสายเอเชียในออสเตรเลีย

“การเพิ่มขึ้นอย่างมากของการต่อต้านชาวเอเชียและเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชียในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้รายงานความเกลียดชังชาวมุสลิมและการเหยียดชาวมุสลิมลดลงชั่วคราว” รายงานระบุ

คุณแอตไตเป็นห่วงว่า โดยรวมแล้วจำนวนรายงานที่มีเข้ามานั้นต่ำกว่าความเป็นจริง "อย่างมหาศาล" และมีผู้พบเห็นเหตุการณ์แต่ไม่เข้าไปแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือเหยื่อมากขึ้นเรื่อยๆ

“บางครั้งก็มีความรู้สึกว่า 'จะรายงานไปเพื่ออะไรกัน' และผู้คนไม่เห็นประโยชน์ (ของการรายงาน)” คุณแอตไต กล่าว

“สารจากเราคือ เรามีบริการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเหยื่อ เราสามารถให้การสนับสนุนพวกเขาได้”

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 21 March 2023 11:53am
By Rashida Yosufzai
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends