เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม เหตุแผ่นดินไหวที่เมืองมัณฑะเลย์ ภาคกลางของประเทศเมียนมา ส่งผลให้พื้นที่หลายแห่งได้รับแรงสั่นสะเทือนและเกิดความเสียหายในวงกว้างทั้งในเมียนมาและประเทศไทย
สื่อรายงานว่าความรุนแรงที่จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหววัดได้ถึง 7.7 แม็กนิจูด และมีความลึกถึง 10 กิโลเมตร บ้านเรือนและอาคารในเมียนมาถล่มลงมาทั้งจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งแรกและอาฟเตอร์ช็อกในวันเดียวกัน
สำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยเมื่อวันพุธ (2 เมษายน) ว่ารัฐบาลทหารเมียนมารายงานตัวเลขของผู้เสียชีวิตในประเทศพุ่งถึง 2,700 ราย พบผู้บาดเจ็บกว่า 4,500 ราย และยังสูญหายอีก 441 ราย
ส่วนฝั่งประเทศไทยมีรายงานความเสียหายทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรายงานตัวเลขล่าสุด เมื่อวันพุธ (2 เมษายน) ระบุว่าในกรุงเทพมหานครมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 22 ราย บาดเจ็บ 35 ราย และสูญหาย 74 ราย

เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินของรัสเซีย และสุนัขกู้ภัยเข้าร่วมปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม Source: SIPA USA / Irina Velmatova/TASS/Sipa USA/AAP Image
ความเสียหายครั้งใหญ่ของกรุงเทพมหานครหนีไม่พ้นอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มลงมาระหว่างเกิดแผ่นดินไหว อาคารดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีความสูง 30 ชั้น ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร 2 ใกล้กับตลาดนัดจตุจักร
สื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างรายงานภาพและวิดิโอจากเหตุการณ์ตึกถล่มดังกล่าว ทั้งยังมีบทสัมภาษณ์ของผู้ประสบภัยและครอบครัวของผู้สูญหายที่ยังรอคอยความหวังว่าเจ้าหน้าที่กู้ภัยอาจพาคนในครอบครัวของพวกเขากลับบ้านได้ในที่สุด
ล่าสุดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team)
ซึ่งเป็นกลุ่มสหวิชาชีพที่ให้การช่วยเหลือทางด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต ได้แก่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยาคลินิก นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิตและผู้ที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มสหวิชาชีพดังกล่าวได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือ ณ โรงพยาบาลสนาม ที่จุดเกิดเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้กำลังใจและเข้าช่วยเหลือด้านสภาพจิตใจให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจากเหตุอาคารถล่ม
ภาวะเครียดคุกคามจากเหตุภัยพิบัติและการเสพสื่อ
ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวอาจประสบภาวะเครียด กังวล และยังนึกถึงเหตุการณ์คุกคามชีวิตแม้ว่าจะสถานการณ์จะกลับมาปกติแล้ว
อาการที่ว่าอาจเป็นสัญญาณของ Post Traumatic Stress Disorder (PTSD) หรือภาวะที่สภาพจิตใจได้รับการกระทบกระเทือนหลังประสบเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งสามารถเกิดได้ในกลุ่มคนที่เผชิญเหตุภัยพิบัติ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม พายุ หรือแผ่นดินไหว เป็นต้น
ในปีนี้ออสเตรเลียเองก็ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง เช่นการเกิดพายุทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ถึง 4 ครั้ง ตามมาด้วยพายุไซโคลนอัลเฟรดในเดือนที่ผ่านมา ทั้งยังมีไฟป่ารุนแรงที่มักพบในรัฐนิวเซาท์เวลส์และวิกตอเรีย และภัยแล้งในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย
ในปี 2022 หน่วยงาน Climate Council ได้สำรวจความเห็นของชาวออสเตรเลียทั่วประเทศที่เคยเผชิญกับเหตุภัยพิบัติว่าได้รับผลกระทบด้านจิตใจอย่างไรบ้าง
ร้อยละ 73 ระบุว่าพวกเขามีอาการวิตกกังวล ร้อยละ 56 ระบุว่ามีปัญหาการนอนหลับ ร้อยละ 49 ระบุว่ามีอาการซึมเศร้า และร้อยละ 30 ระบุว่าพวกเขามีอาการของภาวะ PTSD
ข้อมูลจากศูนย์สนับสนุนบาดแผลจิตใจแห่งออสเตรเลีย หรือ (ATSC) อธิบายว่าผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุภัยพิบัติรุนแรงอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างหนักจากความสูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียสมาชิกในครอบครัวหรือคนรู้จัก สูญเสียสัตว์เลี้ยง หรือเหตุคุกคามชีวิต
ผู้ที่เผชิญเหตุภัยพิบัติอาจมีอาการหวนนึกถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ อาจลามไปถึงมีอาการนอนไม่หลับ หรือหลับมากจนผิดปกติ และตื่นตระหนกกับสิ่งเร้าที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เดิม
เช่น เสียงสิ่งของตกลงจากพื้น เสียงตะโกน หรือกลิ่นควัน รวมไปถึงพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่เกิดเหตุ หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุภัยพิบัติ
นอกจากนี้ภาวะ PTSD ยังส่งผลทางร่างกาย เช่น ภาวะหัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อหดตัว (muscle tension) ภาวะเบื่ออาหาร หรือทานอาหารมากเกินไป ไม่มีสมาธิ หายใจหอบและถี่ และภาวะหมดแรง
ซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากความเครียดที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะตื่นตัวตลอดเวลา เพื่อคอยรับมือกับเหตุภัยพิบัติที่อาจคุกคามชีวิต แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะจบลงไปแล้ว
กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะ PTSD นั้นเกิดได้กับผู้ประสบภัยโดยตรง เช่น ผู้ที่ติดอยู่ในซากอาคาร ผู้ที่เอาชีวิตรอดจากไฟป่าหรือน้ำท่วม ครอบครัวหรือเพื่อนของผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เห็นภาพเหตุการณ์รุนแรง รวมถึงเด็กและคนแก่ที่มีสภาพจิตใจเปราะบาง เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม
ถกปัญหาสุขภาพจิตของ “คนไทยไกลบ้าน”
ภาวะเครียดและตื่นตระหนกยังเกิดได้หลังจากเสพสื่อภัยพิบัติติดต่อกันเป็นเวลานาน ตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเผยแพร่ภาพและวิดิโอทั้งจากสำนักข่าวและบัญชีของผู้ใช้งานในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งในเมียนมาและประเทศไทย
ทั้งเนื้อหาดังกล่าวมักพูดถึงเหตุการณ์ความสูญเสีย และภาพเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจ ซึ่งอาจกระทบกระเทือนจิตใจของผู้ติดตามข่าวสารได้เช่นกัน
รับมืออย่างไรเมื่อสภาพจิตใจได้รับผลกระทบ
คุณมณีวรรณ์ (มาย) อนุชาติเกียรติกุล นักจิตบำบัดคนไทย จากคลินิกจิตบำบัดออนไลน์ Flow of Life Psychotherapy ให้คำแนะนำว่าผู้ที่ประสบภัยพิบัติควรสังเกตร่างกายและจิตใจตัวเองว่าตอบสนองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร เพื่อหาทางรับมือที่เหมาะสม
พยายามดึงตัวเองกลับมาอยู่ในปัจจุบัน ปกติเวลาที่เราเพิ่งเจอเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ บางทีเราอาจเผลอไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกครั้งซ้ำๆ โดยที่เราไม่รู้ตัวคุณมณีวรรณ์ (มาย) อนุชาติเกียรติกุล นักจิตบำบัดคนไทย
คุณมายยังย้ำว่าผู้ประสบภัยควรระลึกเสมอว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นได้ผ่านไปแล้ว และตอนนี้ผู้ประสบภัยอยู่ในภาวะที่ปลอดภัยแล้ว
ในมุมมองของนักจิตบำบัด คุณมายอธิบายว่าอาการหลังจากเผชิญเหตุการณ์รุนแรงนั้นมีหลายรูปแบบ และแต่ละคนก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
เช่น เห็นเหตุการณ์ในอดีตซ้ำๆ เกิดฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์บ่อยๆ เริ่มปลีกตัวออกจากคนรอบข้าง ชีวิตประจำวันผิดแผกไป รวมถึงมีอาการหงุดหงิด ตกใจง่าย รวมเป็นระยะเวลามากกว่า 2-4 สัปดาห์

คุณมณีวรรณ์ (มาย) อนุชาติเกียรติกุล นักจิตบำบัดคนไทย Credit: Supplied
เช่น ทักษะล้มแล้วลุก การมีระบบช่วยเหลือที่แข็งแรง มีทักษะรับมือกับความเครียดที่ดี มีความตระหนักรู้ว่าตนเองต้องการความช่วยเหลือแบบไหน เป็นต้น
ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตในออสเตรเลีย
ในออสเตรเลียมีบริการสายด่วนสุขภาพจิตทั่วประเทศ เช่น
หรือในประเทศไทยสามาถติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งเป็นบริการฟรี 12 คู่สาย ตลอด 24 ชัวโมง