ออสเตรเลียได้เผชิญหน้ากับภาวะเงินเฟ้อที่เลวร้ายที่สุดในรอบมากกว่า 2 ทศวรรษ ส่งผลให้ผู้ถือสินเชื่อกู้บ้านต้องจ่ายมากขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น
สำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย (ABS) ได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index หรือ CPI) ซึ่งชี้วัดภาวะเงินเฟ้อในระดับครัวเรือน โดยในไตรมาสเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.1 เมื่อไตรมาสเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคของออสเตรเลียสูงที่สุดในรอบเกือบ 22 ปี
ราคาน้ำมันและราคาอสังหาริมทรัพย์ เป็นองค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุดในการทำให้อัตราเงินเฟ้อในครั้งนี้เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาในระดับโลก และการบุกรุกยูเครนของรัสเซียซึ่งทำให้เกิดปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน
การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นในช่วงที่ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (cash rate) ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารต่าง ๆ ในความพยายามที่จะควบคุมสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อลงให้ได้ตามเป้าหมายที่ระหว่างร้อยละ 2-3หลังการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานติดกันถึง 3 ครั้งของธนาคารสำรองฯ ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอย่างเป็นทางการของออสเตรเลียขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.35 เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่ร้อยละ 0.1
Inflation has hit a high this century. Source: SBS
“ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลียกำลังเร่งดำเนินการด้วยวงจรที่เข้มงวดที่สุดในประวัติศาสตร์ และอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสเดือนมิถุนายนจะผนึกแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีกร้อยละ 0.5” การวิเคราะห์ของมูดีส์ ระบุก่อนการเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อ
ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) แนะว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นไปอีก และคาดว่าจะขึ้นไปถึงร้อยละ 7 ภายในสิ้นปีนี้
คำว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” กลายเป็นวาระสำคัญในการเมืองออสเตรเลียปีนี้ แต่สิ่งนี้หมายความว่าอย่างไร
ภาวะเงินเฟ้อหมายความว่าอย่างไร
แมตต์ กรัดนอฟฟ์ (Matt Grudnoff) นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันแห่งออสเตรเลีย (Australia Institute) อธิบายภาวะเงินเฟ้อว่าเป็น “การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคา”
“สิ่งที่สำคัญก็คือ มันจะต้องเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายกรัดนอฟฟ์ กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์
“ตัวอย่างเช่น เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่เคยเป็นมา นั่นทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่ถ้าราคาน้ำมันหยุดเพิ่มขึ้นและเริ่มลดลงมาหรือเป็นไปได้น้อยที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแม้จะอยู่ในระดับราคาที่สูง สิ่งนั้นไม่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มเติม นั่นเป็นสิ่งที่เกิดเพียงครั้งหนึ่ง”
อะไรทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
นายกรัดนอฟฟ์ กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้ออาจเกิดขึ้นจากปัจจัยขับเคลื่อนทั้งในด้านอุปทานหรืออุปสงค์ ซึ่งในตอนนี้สงครามในยูเครนและผลกระทบจากการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา กำลังทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่ขับเคลื่อนโดยปัญหาในเรื่องอุปทาน
“ภาวะเงินเฟ้อในตอนนี้กำลังเกิดขึ้นจากปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน” นายกรัดนอฟฟ์ กล่าว
“ ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ ผู้คนสลับจากการซื้อบริการมาเป็นการซื้อสินค้า เนื่องจากบ่อยครั้งที่บริการนั้นรวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว”
“สินค้าจำเป็นต้องมีการขนส่ง ซึ่งบริการไม่มีสิ่งนี้ ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณไปตัดผม หรือว่าไปดูหนัง เมื่อคุณเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ แต่ถ้าหากคุณซื้อสินค้า นั่นจำเป็นจะต้องมีการขนส่ง ซึ่งบ่อยครั้งมาจากต่างประเทศ”
“ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือโครงข่ายในการขนส่งแน่นขนัดจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น และทุกสิ่งก็ช้าลง พวกเขาจึงต้องขึ้นราคา”
นายกรัดนอฟฟ์ กล่าวอีกว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นได้มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อราคาโดยรวมของค่าครองชีพ และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังเป็นปัจจัยหนึ่งด้วยเช่นกัน
“สถานการณ์น้ำท่วมในออสเตรเลียได้ทำให้ของชำ อย่างผักกาดที่รู้จักกันดี มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย” นายกรัดนอฟฟ์ กล่าว
มีรูปแบบของภาวะเงินเฟ้อที่แตกต่างหรือไม่
คำว่าภาวะเงินเฟ้อนั้น อาจหมายความได้ถึงหลายสิ่ง เช่น อาจหมายถึงการลดมูลค่าของสกุลเงิน แต่โดยทั่วไปนั้น ภาวะเงินเฟ้อจะหมายถึงดัชนีราคาผู้บริโภค
“เราจะคิดว่าภาวะเงินเฟ้อในฐานะดัชนีราคาผู้บริโภค นั่นคือการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคจะซื้อและใช้” นายกรัดนอฟฟ์ กล่าว
นายกรัดนอฟฟ์ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค ชี้วัดเพียงสิ่งที่ได้รับการอุปโภคบริโภคหลังจากถูกซื้อมาแล้ว ไม่ใช่การลงทุนอย่างอสังหาริมทรัพย์ โดยกล่าวอีกว่า “หากราคาบ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนมากถูกขับเคลื่อนจากราคาที่ดินที่เพิ่มสูง นั่นจะไม่เพิ่มภาวะเงินเฟ้อขึ้นเลย เนื่องจากไม่ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค แต่ถือว่าเป็นการลงทุน”
ภาวะเงินเฟ้อถูกมองเป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไปหรือไม่
แม้บ่อยครั้งที่ภาวะเงินเฟ้อถูกมองว่าเป็นสิ่งเลวร้าย นายกรัดนอฟฟ์กล่าวว่า หากเกิดขึ้นในระดับที่ไม่สูงมากนัก ก็อาจเป็นสัญญาณของระบบเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต
“ภาวะเงินเฟ้อบางอย่างก็เป็นเรื่องดี อันที่จริงแล้วหากเราไม่มีภาวะเงินเฟ้อเลย ธนาคารสำรองฯ และรัฐบาลก็จะต้องเข้ามาและพยายามกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากการไม่มีภาวะเงินเฟ้อนั้น ตามปกติแล้วจะเกี่ยวข้องกับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจที่เชื่องช้าหรือไม่มีการเติบโตเลย”
สิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นก็คือ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อครั้งใหญ่และเกิดโดยไม่ได้คาดคิด นั่นคือสิ่งที่จะทำให้เรากังวล แต่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอของภาวะเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหา จริง ๆ แล้วถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น
ธนาคารสำรองฯ คืออะไร และจัดการภาวะเงินเฟ้ออย่างไร
ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) คือธนาคารกลางซึ่งเป็นอิสระ และอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลสหพันธรัฐ ในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมสำหรับธนาคารต่าง ๆ นายกรัดนอฟฟ์ กล่าวว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารสำรองนั้นอาจส่งผลต่ออุปทานและอุปสงค์ ซึ่งในทางกลับกันคือการจัดการกับอัตราเงินเฟ้อ
เขากล่าวอีกว่า ธนาคารสำรอง ฯ ทำหน้าที่เหมือนธนาคารของรัฐบาล ซึ่งจะติดต่อกับรัฐบาลและธนาคารอื่น ๆ และทำให้แน่ใจว่าระบบมีเสถียรภาพ
“สิ่งที่สำคัญที่สุดในแง่ของภาวะเงินเฟ้อก็คือ พวกเขาจะใช้นโยบายทางการเงิน ซึ่งก็คือการเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ” นายกรัดนอฟฟ์ กล่าว
นายกรัดนอฟฟ์ อธิบายว่า หากระบบเศรษฐกิจดำเนินไปได้ด้วยดีก็จะมีอุปสงค์เป็นจำนวนมาก
“หากคุณมีธุรกิจ ทันใดนั้นคุณก็มีอุปสงค์เป็นจำนวนมากสำหรับสินค้าของคุณ แรงงานของคุณก็เริ่มตึงไม้ตึงมือ แต่ผู้คนก็ยังต้องการสินค้าของคุณ คุณก็จะเพิ่มราคาสินค้าให้สูงขึ้น”
“แต่หากธุรกิจทุกแห่งทำแบบนี้เราก็จะมีภาวะเงินเฟ้อ อุปสงค์ที่เกินขึ้นมาจึงเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ”
"สิ่งที่ธนาคารสำรองฯ ทำคือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหมายถึงประชาชนส่วนหนึ่งในออสเตรเลียที่ถือสินเชื่อกู้บ้านจะต้องจ่ายค่าบ้านมากขึ้นกว่าเดิม"
“พวกเขาต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น จึงมีเงินเหลือน้อยที่จะนำไปใช้อย่างอื่น และทันใดนั้นพวกเขาก็ต้องการที่จะซื้อสินค้าน้อยลง”
“เมื่อถึงช่วงเวลาที่อุปสงค์เพิ่มสูงขึ้นและทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารสำรองฯ จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในความพยายามลดอุปสงค์ ดังนั้นจึงเป็นการลดอัตราเงินเฟ้อลง”
การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจึงลดอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
ออสเตรเลียเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม G20
ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อในออสเตรเลียอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประวัติเงินเฟ้อของออสเตรเลียเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายกรัดนอฟฟ์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่ม G20 ซึ่งต่างกำลังรับมือกับผลกระทบของการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสงครามในยุโรปทั้งนี้ กลุ่มประเทศ G20 คือกลุ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้บริหารธนาคารกลางจากประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 19 ประเทศ รวมกับสหภาพยุโรป ซึ่งทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจโลก เช่น เสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศ
Inflation in the G20 runs from 78.6 per cent to 2.3 per cent. Source: SBS
“หากภาวะเงินเฟ้อส่วนใหญ่เกิดจากแรงสะเทือนระดับโลกเหล่านี้ มันจึงไม่น่าประหลาดใจที่หลายประเทศส่วนมากกำลังประสบกับภาวะเงินเฟ้อในระดับสูง” นายกรัดนอฟฟ์ กล่าว
“หากเรามองในประเทศกลุ่ม G20 ออสเตรเลียนั้นอยู่เกือบท้าย ๆ ประเทศในกลุ่มนี้ส่วนมากนั้น อยู่ในระดับ (อัตราเงินเฟ้อ) สูงกว่าเรา ดังนั้นเราจึงมีอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงนักเมื่อเทียบกับส่วนที่เหลือของโลก”
แต่ถ้าหากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย ภาวะเงินเฟ้อในครั้งนี้ถือว่าค่อนข้างสูง เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เราเคยคุ้นชินกับอัตราเงินเฟ้อประมาณน้อยกว่า 2% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
“ปกติแล้ว ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงสะเทือนของอุปทานจะมีผลเพียงครั้งเดียวต่อภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้น หากราคาน้ำมันดิบและน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูง จากนั้นหยุดเพิ่มขึ้นไป คุณจะพบกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน เพราะไม่มีอะไรผลักดันราคาให้สูงขึ้นไปอีก”
“แต่มันก็จะหายไป เพราะว่าไม่มีอะไรผลักให้อัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นไปได้อีก”
“ดังนั้น มันอาจเป็นข้อถกเถียงที่ดีในประเด็นที่ว่า ธนาคารสำรอง ฯ ไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อภาวะเงินเฟ้อในครั้งนี้อย่างรุนแรง"
ภาวะเงินเฟ้อในครั้งนี้จะถูกชำระล้างไปเอง
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ผลสำรวจเผยคนออสเตรเลีย 8 ล้านคนมีปัญหาสุขภาพจิต