ฝันร้ายไม่จางหายจากพิษโควิด-19

แม้กายจะปลอดไวรัสแล้ว แต่สาวไทยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในบริสเบน ยังคงมีฝันร้ายที่คาใจจากความทรมานจนร่างกายแทบทนไม่ไหวเพราะเชื้อนี้ ขณะเดียวกัน เมื่อรอดตายมาได้ ไวรัสมัจจุราชนี้ก็สอนให้เธอรู้คุณค่าของชีวิต

คุณเบียร์คนไทยในออสเตรเลียที่ป่วยหนักเพราะติดเชื้อโควิด-19 แต่รอดตายมาได้

คุณเบียร์คนไทยในออสเตรเลียที่ป่วยหนักเพราะติดเชื้อโควิด-19 แต่รอดตายมาได้ Source: Supplied

ทั้งๆ ที่ไม่ได้เพิ่งเดินทางไปกลับมาจากต่างประเทศ และที่รู้ๆ ก็ไม่ได้ใกล้ชิดกับใครที่กลับจากต่างประเทศ แต่คุณเบียร์ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวสาวไทยวัย 40 ปี ในนครบริสเบน ที่ใช้ชีวิตไปตามปกติ ก็ติดเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างเป็นปริศนา

ติดเชื้อมาอย่างปริศนา

“เพราะว่าเรากลัว เราเห็นคนเป็นแล้วตาย เราก็จะล้างมือ เราก็จะใส่หน้ากากอนามัยตลอดตอนที่ออกไปข้างนอก คือเราจะป้องกันตัวเหมือนกับทุกคนที่ทำ แต่ว่า เชื้อโรคน่ะ เรามองไม่เห็นอย่างที่ว่านะคะ” คุณเบียร์ กล่าว

ข้อสันนิษฐานที่ใกล้เคียงที่สุด ที่คุณเบียร์นึกออกว่าอาจนำเชื้อโรคร้ายมาสู่เธอคือ งานของเธอที่เป็นคนขับรถอูเบอร์รับส่งผู้คนในบริสเบน

“แต่ตอนที่เราขับรถอูเบอร์ เราไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย เพราะเราคิดว่ามันเป็นพื้นที่ของเรา ในรถของเราเองมันปลอดภัย และเราก็ไม่รับคนจากสนามบิน แต่จะแค่ส่งคนไปสนามบินเฉยๆ เหมือนเราจะปกป้องตัวเองมาก ไปไหนมาไหนกลับมาก็ล้างมือ”

เมื่อมีข่าวโควิด-19 มากขึ้น คุณเบียร์จึงเลิกพักการขับรถอูเบอร์ไว้เพื่อป้องกันตัว ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง แต่หลังจากนั้นไม่นาน เธอเกิดอาการป่วยที่น่าสงสัย
ฟังคุณเบียร์เล่าจากปากของเธอเอง

คนไทยในออสฯ เล่าพิษสงเชื้อมัจจุราชโควิด-19

คุณเบียร์ คนไทยในบริสเบนที่ติดเชื้อโควิด-19
คุณเบียร์ คนไทยในบริสเบนที่ติดเชื้อโควิด-19 Source: Supplied

อาการป่วยที่น่าสงสัย

ก่อนจะล้มป่วย ร่างกายของเราเกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตามข้อพับต่างๆ มันจะรู้สึกเจ็บจี๊ดๆ ตลอดเหมือนเราไปออกกำลังกายมา แล้วร่างกายเราก็อ่อนเพลีย ก็จะเป็นอย่างนั้นก่อนที่จะมีไข้ต่ำๆ มีไข้พร้อมปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออยู่ 2 คืน 2 วัน คุณเบียร์ เล่า

เธอจึงไปรับการตรวจหาเชื้อที่ศูนย์ตรวจโคโรนาไวรัสที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

“เขาเอาไม้พลาสติกพันสำลียาวๆ แหย่เข้าไปในช่องปาก ลึกถึงคอ แล้วใช้ไม้พลาสติกพันลำสีเหมือนกันแหย่เข้าไปในจมูก ลึกถึงหลอดลม ลึกมาก คิดว่าประมาณคืบกว่าที่เขาแหย่ลงไปในโพรงจมูกน่ะค่ะ น้ำตานี่ไหลเลย เจ็บมาก”  

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่บอกคุณเบียร์ว่าวันรุ่งขึ้นจะแจ้งผลการตรวจ ระหว่างนี้ให้กลับบ้านทันที ห้ามออกจากบ้านจนกว่าเจ้าหน้าที่จะติดต่อไป

ผลปรากฎว่ายืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาแน่นอน แต่คุณเบียร์ไม่แปลกใจ เพราะอาการป่วยที่เริ่มเป็นแตกต่างจากอาการทั่วๆ ไปที่เธอเคยเป็นมา

ไข้หวัดทั่วไป หรือป่วยทั่วไป เรากินยาพาราก็หาย ตัวก็จะเย็นลง สักวันสองวัน อาการก็จะดีขึ้น แต่สำหรับการป่วยครั้งนี้ เราปวดหัว มีไข้ตลอดเวลา แล้วเราก็ไม่สบายจนไม่สามารถนอนหลับได้เลย ในช่วงเวลานั้น จึงคิดว่ามันต้องมีอะไรอย่างหนึ่งที่มันไม่ปกติ คุณเบียร์ตั้งข้อสังเกต

เมื่อรู้ผลการตรวจเชื้อ เธอรู้สึกวิตกอย่างมาก เพราะเกรงว่าลูกชายวัย 13 ปี ที่อาศัยอยู่ด้วยกันจะติดเชื้อโควิด-19 ด้วย จึงได้มีการตรวจเชื้อให้ลูกชาย แต่โชคดีที่ลูกชายไม่ติดเชื้อ

ฝันร้ายเมื่อติดเชื้อ

จากนั้น ทั้งสองแม่ลูกต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน คุณเบียร์ต้องใช้ชีวิตแต่ในห้องของตัว และแยกตัวออกจากลูกชายที่อยู่ในบ้านเดียวกันให้มากที่สุด และต้องรักษาความสะอาดอย่างมาก ขณะที่มีเพื่อนฝูงช่วยนำอาหารมาส่งให้ที่หน้าห้องอะพาร์ตเมนต์

คุณเบียร์เล่าว่า ทุกวันจะมีหมอและพยาบาลโทรศัพท์มาสอบถามเพื่อประเมินอาการป่วยของเธอ แต่ในเบื้องต้นหมอลงความเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องไปอยู่โรงพยาบาล เพราะคุณเบียร์เพิ่งมีอาการแค่เป็นไข้และปวดศีรษะเท่านั้น

ในประเทศนี้ ถ้าคุณไม่ได้ไม่สบายถึงขั้นโคม่า หรือคุณยังหายใจเองได้ คุณจะต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ให้กินแค่ยาพารา (ยาราเซตามอล) วนไปอย่างนั้นแหละค่ะ

แต่พอวันที่ 6 ของการป่วยของคุณเบียร์เริ่มรุนแรงขึ้นถึงขั้นที่เธอตัดสินใจเรียกรถพยาบาลมารับ “เพราะเราป่วยมาตั้ง 5 วันแล้ว มีไข้ตลอดไม่หยุดเลย แต่อาการปวดเมื่อยร่างกายเริ่มหายไป แต่ปวดหัวมากปวดตลอด 5 วัน หัวจะระเบิด”

เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์ได้ฉีดยาแก้ปวดแก่คุณเบียร์พร้อมให้น้ำเกลือ จากนั้น เมื่ออาการดีขึ้น จึงส่งกลับบ้าน แต่วันต่อมา อาการหายใจติดขัดเริ่มเกิดขึ้น คุณเบียร์จึงต้องเรียกรถพยาบาลอีกเป็นหนที่ 2 และเมื่อไปถึงโรงพยาบาล ก็ได้รับออกซิเจน ได้ฉีดยาแก้ปวด และได้รับการให้น้ำเกลือ จากนั้นถูกส่งกลับบ้านอีก
รถพยาบาลที่มารับคุณเบียร์โดยเจ้าหน้าที่แต่งตัวด้วยชุดป้องกันเชื้อ
รถพยาบาลที่มารับคุณเบียร์โดยเจ้าหน้าที่แต่งตัวด้วยชุดป้องกันเชื้อ Source: Pixabay
เหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งเป็นหนที่ 3 และเมื่อถึงวันที่ 8 ของการป่วย แพทย์และพยาบาลเริ่มเห็นว่า หลังจากมีอาการป่วยติดต่อกันมา 7 วัน ร่างกายของคุณเบียร์ก็อ่อนแอลงอย่างมากจนอวัยวะสำคัญในร่างกายแทบทำงานเองต่อไปไม่ได้ จึงเตรียมความพร้อมในการจะรับคุณเบียร์เข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล ประกอบกับขณะนั้นเอง คุณเบียร์เริ่มมีอาการหายใจไม่ออก และรู้สึกเหนื่อยอ่อนอย่างที่สุด

ป่วยบางตายจนเกือบไม่รอด

“วันที่ 8 ของการป่วย เราเริ่มหายใจไม่ค่อยได้ เมื่อรถพยาบาลมาถึง ต้องนำรถเข็นขึ้นมารับเราถึงบนตึกอะพาร์ตเมนต์ พอไปถึงรถ ก็เริ่มให้ออกซิเจน พอไปถึงโรงพยาบาล เขาก็พาเราเข้าห้องไอซียู (ห้องฉุกเฉิน) ไปทันที”

ตอนนั้นรู้สึกว่า ต้องตายแน่ๆ ร่างกายเราไม่มีแรง แล้วเราก็หายใจเองไม่ได้แล้วก่อนหน้านี้ เราไม่ร้องไห้ แต่ตอนที่อยู่ในห้องไอซียู เรารู้สึกว่าน้ำตาไหล เรารู้สึกว่า เราไม่มีแรงอีกแล้ว เราสู้ไม่ไหวแล้ว

คุณเบียร์ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจขณะที่อยู่ในห้องไอซียู 2 วัน ขณะที่อาการไอเริ่มปรากฎมากขึ้นเรื่อยๆ

ช่วงนั้นเริ่มไอมากขึ้นๆ พอไอทีเนี่ย ข้างในมันปอดมันร้าวไปหมดเลย เพราะตอนนั้นเชื้อมันลงปอดแล้วมันเจ็บ มันร้าวไปหมดข้างใน แม้แต่พูดยังแทบไม่ได้

มันทรมานจริงๆ โรคนี้ เราถึงบอกกับเพื่อนๆ ถ้าไม่อยากตาย อยู่บ้านกันเถอะ

แต่สุดท้าย คุณเบียร์ไม่ยอมแพ้ พยายามอย่างที่สุดที่จะฝืนความอ่อนล้าของร่างกาย ด้วยการหายใจเองให้ได้ เหมือนปาฏิหาริย์ที่ทำให้เธออาการดีขึ้น

“เราพยายามอย่างที่สุดที่จะหายใจเองให้ได้ เพราะเครื่องช่วยหายใจที่สอดเข้าไปทางจมูกและปากมันทำให้เราเจ็บ เราจึงพยายามหายใจเอง จะได้ไม่ต้องเจ็บ”

เมื่อหายใจเองได้แล้ว เธอจึงถูกย้ายออกจากห้องไอซียูมาอยู่ในห้องพิเศษสำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่มีความรัดกุมอย่างมากในการป้องการการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นและสู่เจ้าหน้าที่การแพทย์

ห้องเหมือนห้องนักโทษกักกัน เป็นห้อง 2 ชั้น มีห้องน้ำห้องใหญ่อยู่ข้างใน แต่จะมีห้องเล็กอยู่ด้านนอกเหมือนเป็นห้องสองชั้น เมื่อเขาจะมาตรวจชีพจร มาให้ยา หรือตรวจเลือด เขาต้องใส่ชุดป้องกันอย่างดีมา ทุกครั้งที่เขาตรวจเราเสร็จ เขาต้องถอดชุดข้างหน้า ทุกครั้งที่เขาเข้ามาหาเรา เขาจะต้องเปลี่ยนชุดป้องกันเชื้อโรคทั้งหมดทุกครั้งเพราะเชื้อนี้มันอันตราย คุณเบียร์ เล่า
คุณเบียร์ขณะกำลังได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล
คุณเบียร์ขณะกำลังได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล Source: Supplied
ในช่วงหลังจากออกจากห้องไอซียูแล้วนั่งเอง ที่คุณเบียร์คาดว่าแพทย์เริ่มให้ยาที่ช่วยให้เธอมีอาการดีขึ้น เริ่มรับประทานอาหารได้บ้าง ร่างกายมีเรี่ยวมีแรงมากขึ้น เธอจึงได้ขออนุญาตแพทย์กลับบ้านก่อนเวลาที่แพทย์เห็นสมควร เพราะเนื่องจากลูกชายวัย 13 ปี ของเธอ ที่แม้จะไม่พบเชื้อในร่างกายแต่ก็กำลังแยกตัวเพื่อกักโรค และต้องอยู่ที่บ้านคนเดียวตามลำพังมาหลายวันช่วงที่คุณเบียร์อยู่โรงพยาบาล

นับจากวันนั้น คุณเบียร์ได้กลับมากักตัวอยู่ที่บ้านและรักษาตัวต่อไปจนอาการดีขึ้นตามลำดับ ก่อนที่สุดท้าย ผลการตรวจเชื้อจะพบว่าเธอปลอดจากไวรัสโคโรนาแล้ว และสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้

บทเรียนชีวิตจากโควิด-19

แม้เชื้อไวรัสโควิด-19 จะหายใจจากร่างกายของเธอแล้ว แต่แผลเป็นที่เชื้อนี้ได้ทิ้งไว้ในใจของคุณเบียร์ยังคงอยู่

“เราไม่อยากให้คนอื่นมาเจอแบบเรา รัฐบาลเขาสั่งอะไร ก็เชื่อเขาเถอะนะคะ”

“ถ้าอยู่บ้านแล้วเราปลอดภัย ถ้าอยู่บ้านแล้วเราไม่เดือดร้อนอะไร ก็อยู่บ้านกันเถอะค่ะ เพราะเชื้อโรคตัวนี้ยังไม่มีวัคซีนและยังไม่มียารักษา เพราะฉะนั้น ขอให้อยู่บ้าน ปลอดภัยไว้ก่อน และดูแลคนที่คุณรัก” คุณเบียร์ ย้ำ

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์เฉียดตายจากไวรัสโคโรนาได้ส่งผลให้คุณเบียร์มองชีวิตต่างไปจากเมื่อก่อน

มันทำให้เรารู้จักกับคุณค่าของชีวิตมากขึ้น มันทำให้เรารู้ว่าความสุขอยู่กับเราได้ไม่นาน ถ้าวันนี้เราทำอะไรแล้วมีความสุข เราก็ควรทำเพราะชีวิตไม่ได้ยืนยาวอย่างที่เราคิด

“แต่ก่อนเราคิดแต่ว่าเราต้องทำงาน ต้องหาเงิน ลูกชายคนเล็กของเราก็ใช้ชีวิตแบบดูแลตัวเอง แต่หลังจากนี้ เรามีแผนว่าจะทำอะไรให้เขาที่เมื่อก่อนเราไม่เคยได้ทำ อะไรที่เราทำให้เขาแล้วเรามีความสุข เราจะทำ เพราะชีวิตมันสั้น ถ้าวันหนึ่งเราต้องจากไปโดยไม่สามารถบอกลาใครได้ หรือเราไม่สามารถดูแลคนที่เรารักได้ มันเจ็บปวดนะคะ” คุณเบียร์ กล่าวทิ้งท้าย
ฟังคุณเบียร์เล่าจากปากของเธอเอง

คนไทยในออสฯ เล่าพิษสงเชื้อมัจจุราชโควิด-19



ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร และให้ตรวจสอบข้อจำกัดในรัฐของคุณเกี่ยวกับการชุมนุมรวมกลุ่มกัน

หากคุณเชื่อว่าคุณอาจติดเชื้อไวรัสโคโรนา ให้โทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ (อย่าเดินทางไปที่คลินิก) หรือให้ติดต่อโทรศัพท์สายด่วนด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา ที่หมายเลข 1800 020 080

หากคุณเริ่มมีปัญหาหายใจติดขัด หรือกำลังประสบสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ ให้โทรศัพท์ไปที่หมายเลข 000 เพื่อเรียกรถพยาบาล

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 1 May 2020 2:19pm
Updated 1 May 2020 3:35pm
By Parisuth Sodsai
Presented by SBS Thai
Source: SBS Thai

Share this with family and friends