ประเด็นที่สำคัญในบทความ
- การวิจัยแสดงให้เห็นว่า 90% ของผู้หญิงที่มีภูมิหลังเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมเคยถูกรังควาญในที่สาธารณะ
- แคมเปญใหม่มีเป้าหมายเพื่อลดการรังควาญตามท้องถนนโดยสอนผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ให้เข้าไปแทรกแซงได้อย่างปลอดภัย
คุณรูวิมโบ โทการา เคยถูกรังควาญโดยคนแปลกหน้าในที่สาธารณะหลายต่อหลายครั้งจนนับไม่ถ้วน
แต่นักสังคมสงเคราะห์ด้านการช่วยเหลือเด็กและเยาวชน วัย 26 ปีผู้นี้กล่าวว่าเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้โดดเด่นกว่าครั้งอื่นๆ
“ฉันกำลังรอขึ้นรถรางกลับบ้าน และระหว่างที่รอก็มีชายคนหนึ่งพูดจาส่อเสียดเหยียดเชื้อชาติ และขณะที่ฉันกำลังจะข้ามถนนไปขึ้นรถราง เขาก็ถุยน้ำลายใส่ผมของฉัน” คุณ โทการา บอกกับเอสบีเอส นิวส์
“ฉันรู้สึกขยะแขยงมาก อย่างแรกเพราะฉันถูกถ่มน้ำลายใส่ผม ในขณะเดียวกัน ฉันก็รู้สึกไม่ปลอดภัยจริงๆ เพราะไม่รู้ว่าคนๆ นี้จะสามารถทำอะไรได้บ้าง หรือเขาจะทำร้ายร่างกายฉันหรือเปล่า"
แม้จะมีคนเห็นเหตุการณ์มากมาย แต่ก็ไม่มีใครก้าวเข้ามาช่วยเหลือ
“คงจะดีถ้ามีคนเข้ามาแทรกแซง หรือถามว่าฉันโอเคไหมหลังจากนั้น” คุณ โทการา กล่าว
เรื่องราวอย่างที่เกิดกับคุณโทการาพบได้บ่อยครั้งจนเกินไป โดยมีการวิจัยใหม่ที่ดำเนินการโดยบริษัทวิจัยตลาด อิพโซส (Ipsos) ซึ่งพบว่าผู้หญิงในออสเตรเลียร้อยละ 78 เคยถูกรังควาญในที่สาธารณะ
อัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90 ในกลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในชนกลุ่มน้อยของสังคม รวมทั้ง ผู้ที่เป็นชาวพื้นเมือง ผู้ที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ผู้ที่มีความทุพพลภาพ ผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQI+ หรือผู้ที่มีรายได้ต่ำมาก
คุณรูวิมโบ โทการา นักสังคมสงเคราะห์ด้านเยาวชน ที่กำลังช่วยสอนผู้คนให้รู้วิธีตอบโต้เมื่อพบเห็นการก่อกวนรังควาญตามท้องถนน Source: Supplied
ดร.เบียงคา ไฟล์บอร์น อาจารย์อาวุโสด้านอาชญวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งที่ผู้คนไม่เข้าไปแทรกแซงก็คือพวกเขาไม่ตระหนักจริงๆ ว่าการรังควาญกำลังเกิดขึ้น
“พฤติกรรมเหล่านี้จำนวนมากจริงๆ แล้วค่อนข้างแนบเนียบหรือคลุมเครือตามลักษณะของมัน ดังนั้นจึงไม่ชัดเจนสำหรับคนอื่นที่จะมองเห็นว่ามีบางอย่างที่จำเป็นต้องแทรกแซง” ดร.ไฟล์บอร์น บอกกับ เอสบีเอส นิวส์
“อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ผู้คนอาจไม่รู้จริงๆ ว่าจะเข้าไปแทรกแซงหรือแทรกแซงอย่างปลอดภัยได้อย่างไร ดังนั้นนั่นจึงอาจสร้างอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงในการที่จะทำอะไรสักอย่าง (เพื่อแทรกแซง)”
ดร.ไฟล์บอร์น กล่าวว่าบางคนอาจไม่มองว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของพวกเขาที่จะต้องเข้าไปแทรกแซง
"เราดีรู้ว่า มีสิ่งที่เรียกกันว่า ปรากฎการณ์ ยืนมุง ยืนดู แต่ไม่มีใครช่วย (bystander effect) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีคนอยู่รอบๆ เป็นจำนวนมาก ก็สันนิษฐานกันว่าจะมีคนอื่นก้าวเข้าไปช่วยเหลือและทำอะไรสักอย่าง" ดร.ไฟล์บอร์น กล่าว
องค์กรแพลน อิมเตอร์เนชันแนล ออสเตรเลีย (Plan International Australia) ตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ผ่านแคมเปญ Stand Up Against Street Harassment (ยืนขึ้นเพื่อสู้การรังควาญตามท้องถนน) ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทเครื่องสำอาง L'Oreal Paris และกลุ่มเอ็นจีโอ Right to Be ในสหรัฐฯ
องค์กรการกุศลเพื่อสิทธิสตรีดังกล่าวกำลังจัดฝึกอบรมออนไลน์ให้แก่ผู้คน โดยนำโดยนักสังคมสงเคราะห์ด้านเด็ฏและเยาวชน 6 คน รวมทั้งคุณโทการา ให้รู้วิธีตอบโต้เมื่อพบเห็นการรังควาญตามท้องถนนโดยไม่ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น
“มันใช้วิธีที่เรียกว่า 5 ดี (5Ds) ซึ่งได้แก่ การเบี่ยงเบนความสนใจ (distract) มอบหมายหน้าที่ (delegate) บันทึกรายละเอียด (document) ชี้นำแนวทาง (direct) และทำให้ช้าลง (delay)” คุณ ซูซาน เลเกนา ผู้บริหารระดับสูงของ แพลน อิมเตอร์เนชันแนล ออสเตรเลีย กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์
“ถ้าไม่อยากเข้าไปแทรกแซงโดยตรง อาจจะจดบันทึกว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วไปแจ้งความกับตำรวจหรือกับเจ้าหน้าที่ก็ได้ หากคุณรู้สึกประหม่าที่จะทำเช่นนั้น คุณก็อาจเข้าไปแทรกแซงหรือทำให้ผู้ก่อเหตุทำได้ช้าลง หรือแค่ไปยืนอยู่ระหว่างคนที่ถูกรังควาญ”
รองศาสตราจารย์ นิโคล คาล์มส์ ผู้อำนวยการ เอ็กซ์วายแซด แล็บ (XYX Lab) ของมหาวิทยาลัยโมนาช กล่าวว่า เธอเห็นว่าแคมเปญนี้เป็นโอกาสอันดีในการสร้างความตระหนักรู้ และแก้ไขความท้าทายที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ นั่นคือการที่มันถูกมองเป็นเรื่องปกติ
“แม้แต่ผู้หญิงเองก็คาดว่าตนเองจะต้องถูกคุกคามทางเพศ” รองศาสตราจารย์ คาล์มส์ บอกกับเอสบีเอส นิวส์
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนผู้หญิง มองว่ามันเป็นสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งพวกเธอจะต้องรับมือในที่ต่างๆ ในเมือง”
ขณะที่การเข้าแทรกแซงของผู้พบเห็นเหตุการณ์มีบทบาทสำคัญในการหยุดยั้งการคุกคามทางเพศ ดร.ไฟล์บอร์น กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการทำอะไรมากกว่านี้เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นตอ
“ที่สุดแล้ว เราต้องพุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมและการกระทำของผู้ชายที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ และท้าทายทัศนคติและบรรทัดฐานทางสังคมเหล่านี้ ที่มองว่าการรังควาญตามท้องถนนเป็นเรื่องปกติตั้งแต่แรก” ดร.ไฟล์บอร์น กล่าว
"นั่นจะเกี่ยวข้องกับแนวทางรับมือในระยะยาว เช่น การให้การศึกษาในโรงเรียน การให้การศึกษาในชุมชน และแคมเปญสร้างความตระหนักรู้"
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ผู้หญิงในออสเตรเลียรู้สึกไม่ปลอดภัยยามค่ำคืน