แฟร์เวิรก์ยื่นฟ้องเจ้าของร้านไทยกดค่าแรงในนิวคาสเซิล

ผู้ตรวจการแฟร์เวิร์กดำเนินคดีทางกฎหมายกับเจ้าของร้านอาหารไทยในเมืองนิวคาสเซิล รัฐนิวเซาท์เวลส์ หลังสอบพบจ่ายค่าแรงลูกจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนดร่วม 2 ปี

Prepared salad bows and hot pots on burners in a restaurant kitchen

Source: Kenny Luo via Unsplash

ผู้ตรวจการของแฟร์เวิร์ก (Fairwork Ombudsman) ได้ดำเนินคดีทางกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์สหพันธรัฐ (Federal Curcuit Court) โดยยื่นฟ้อง นายสุพล ปิยะศิริกุล (Supon Phiyasirikul) ผู้ดำเนินกิจการร้านอาหาร ไทย สแควร์ วอร์เนอร์ส เบย์  (Thai Square Warners Bay) ในเมืองนิวคาสเซิล รัฐนิวเซาท์เวลส์

แฟร์เวิร์กได้กล่าวว่า เจ้าของกิจการร้านอาหารดังกล่าวละเมิดประมวลกฎหมายแฟร์เวิร์ก (Fair Work Act) ในข้อหาเพิกเฉยต่อหนังสือแจ้งเตือนให้ปฏิบัติตามข้อตกลง (Compliance Notice) ที่ได้ระบุให้เจ้าของกิจการร้านอาหารดังกล่าวทำการคำนวณ และจ่ายค่าจ้างที่คงค้างให้ถูกต้อง ในกรณีจ่ายค่าแรงให้ลูกจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยพบว่าลูกจ้างบางส่วนเป็นผู้ถือวีซ่าออสเตรเลีย 

ที่ผ่านมา แฟร์เวิร์กได้ออกหนังสือแจ้งเตือนให้เจ้าของร้านอาหารดังกล่าวให้ปฏิบัติตามข้อตกลง ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2020 หลังผู้ตรวจการของแฟร์เวิร์กดำเนินการสอบสวนจนพบมูลเหตุที่ทำให้เชื่อว่า นายสุพลได้กระทำการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ทั้งค่าจ้างในชั่วโมงงานแบบปกติ ค่าจ้างเพิ่มพิเศษสำหรับลูกจ้างชั่วคราว (Casual Loading) ค่าล่วงเวลา (Overtime) ค่าจ้างในวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดราชการ (Weekend and Public Holiday Penalty Rate) ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2018 ถึงช่วงเดือนมิถุนายน 2020 ตามข้อกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอุตสาหกรรมร้านอาหาร (Restaurant Industry Award) ปี 2010 หลังมีการร้องเรียนจากอดีตลูกจ้างของร้านอาหารดังกล่าว เพื่อให้แฟร์เวิร์กดำเนินการช่วยเหลือ

นางแซนดรา พาร์กเกอร์ (Sandra Parker) จากคณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์ก กล่าวว่า หนังสือแจ้งเตือนให้ปฏิบัติตามข้อตกลง (Compliance Notice) เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างที่นายจ้างไม่ได้จ่ายให้อย่างถูกต้องกลับคืนมา และนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกดำเนินคดี 

“ภายใต้ประมวลกฎหมายแฟร์เวิร์ก ผู้ตรวจการแฟร์เวิร์กมีอำนาจในการออกหนังสือแจ้งเตือนให้ปฏิบัติตามข้อตกลง หากพวกเขาเชื่อว่า นายจ้างได้ละเมิดกฎหมายสถานประกอบการ และหากยังเพิกเฉยต่อหนังสือดังกล่าว ศาลมีอำนาจสั่งให้นายจ้างเหล่านั้นต้องจ่ายค่าปรับ นอกเหนือจากการจ่ายค่าจ้างส่วนที่บกพร่องเพื่อชดเชยลูกจ้าง” นางพาร์กเกอร์กล่าว 

“แฟร์เวิร์กกำลังกวาดล้างการจ่ายค่าจ้างที่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดในธุรกิจฟาสต์ฟู้ด ร้านอาหาร และร้านกาแฟ ซึ่งร่วมถึงกิจการที่มีคนทำงานเป็นผู้อพยพย้ายถิ่น และจะบังคับใช้บทลงโทษทางกฎหมายที่มีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าบรรดานายจ้างปฏิบัติตามข้อตกลงตามกฎหมาย”

ล่าสุด แฟร์เวิร์กกำลังอยู่ระหว่างการขออนุมัติหมายศาล เพื่อบังคับให้นายสุพลปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือแจ้งเตือนที่แฟร์เวิร์กได้ออกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งครอบคลุมถึงการคำนวณและจ่ายค่าจ้างที่ตกค้างให้ถูกต้องตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดเต็มจำนวน รวมถึงเงินซูเปอร์ และดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ธุรกิจฟาสต์ฟู้ด ร้านอาหาร และร้านกาแฟ เป็นภาคส่วนที่ได้รับการร้องเรียนเรื่องค่าจ้างมากกว่าธุรกิจในภาคส่วนอื่น ๆ ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 56 จากการดำเนินคดีทางกฎหมายใหม่ของแฟร์เวิร์ก เมื่อปีการเงินที่ผ่านมา

นายจ้างและลูกจ้างสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ หรือโทรไปยังสายข้อมูลของแฟร์เวิร์ก (Fair Work Infoline) ที่หมายเลขโทรศัพท์ 13 13 94 เพื่อขอรับคำปรึกษาและความช่วยเหลือฟรีเกี่ยวกับสิทธิ์และข้อตกลงตามกฎหมายสถานประกอบการ หากคุณต้องการบริการล่ามแปลภาษา โทรไปที่หมายเลขโทรศัพท์ 13 14 50 แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ติดต่อสายให้ข้อมูลของแฟร์เวิร์ก

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 28 February 2020 4:14pm
Updated 28 February 2020 5:15pm
Presented by Tinrawat Banyat
Source: Fair Work Ombudsman

Share this with family and friends