รัฐวิกตอเรียเตรียมทดลองให้สิทธิ์ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างแก่ลูกจ้างแคชวล (casual) และลูกจ้างซึ่งงานที่ทำอยู่ไม่มั่นคง (insecure worker) ภายใต้โครงการริเริ่มระยะเวลาสองปีจากงบประมาณรัฐ 245.6 ล้านดอลลาร์
ลูกจ้างที่มีสิทธิ์สามารถลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง 5 วันต่อปี จ่ายตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำแห่งชาติที่ 20.33 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง
โครงการระยะแรกครอบคลุมลูกจ้างประมาณ 150,000 คนในภาคงานธุรกิจบริการ (hospitality) งานรักษาความปลอดภัย ธุรกิจค้าปลีก งานทำความสะอาด งานดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการ
ลูกจ้างกลุ่มนี้มีสิทธิ์ขอลาป่วย (sick leave) หรือลาเพื่อดูแลบุคคลในครอบครัว (carer's leave) เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา (14 มี.ค.) โดยจะได้รับเงินจากโครงการโอนเข้าบัญชีธนาคารภายใน 5 วัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ลูกจ้างแคชวลเฮมีสิทธิขอตำแหน่งประจำได้แล้ว
นายแดเนียล แอนดรูส์ มุขมนตรีรัฐวิกตอเรีย กล่าวว่าสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ตอกย้ำความลำบากของลูกจ้างแคชวลที่ต้องเลือกระหว่างหาเลี้ยงครอบครัวกับดูแลสุขภาพของตัวเองและเพื่อนร่วมงาน
“โรคระบาดเผยให้เห็นสิ่งที่ชัดเจนว่าไม่ถูกต้อง และเราต้องทำมากกว่านี้ เราต้องทำให้ดีกว่านี้” นายแอนดรูส์กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ (14 มี.ค.)
โครงการนี้ดำเนินการด้วยงบประมาณของรัฐบาลวิกตอเรียโดยกำหนดระยะเวลาทดลองสองปี
ทั้งนี้ รัฐบาลวิกตอเรียยังไม่มีข้อสรุปว่าจะสรรหางบประมาณดำเนินโครงการต่อไปอย่างไรหากขยายระยะเวลาโครงการ บางฝ่ายหยิบยกแนวทางเรียกเก็บเงินนำส่งรัฐจากภาคอุตสาหกรรม (industry levy) เป็นอีกหนึ่งความเป็นไปได้
นายจ้างค้านแนวคิดเก็บเงินนำส่งรัฐ
กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย (Australian Industry Group) หรือ Ai Group ซึ่งเป็นองค์กรสมาคมนายจ้างระดับประเทศของออสเตรเลีย ชี้ว่าควรล้มเลิกแนวคิดใด ๆ ที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมอุดหนุนงบดำเนินโครงการนี้
“เงินนำส่งรัฐที่ว่านี้อาจส่งผลเหมือนภาษีการจ้างงาน และอาจกลายเป็นอุปสรรคกีดขวางนายจ้างที่มาลงทุนในรัฐวิกตอเรีย” นายทิม ไพเพอร์ (Tim Piper) ประธาน Ai Group ประจำรัฐวิกตอเรียระบุในคำแถลง
นางอินกริด สทิตต์ (Ingrid Stitt) รัฐมนตรีด้านความปลอดภัยในสถานที่ทำงานของรัฐวิกตอเรีย กล่าวว่ารัฐบาลอาจพิจารณาขยาย “ความคุ้มครองขั้นต่ำ” (safety net) ในลักษณะนี้ไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นของรัฐวิกตอเรีย ซึ่งว่าจ้างพนักงานแคชวลและพนักงานสัญญาจ้าง (contract worker) รวมกว่า 1 ล้านคน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
'โกงค่าแรงลูกจ้าง' มีโทษอาญาในรัฐวิกตอเรีย
สิทธิ์ลาป่วย 5 วันเริ่มนับใหม่ทุกปี และไม่สามารถทบยอดไปปีถัดไปหากไม่ได้ใช้สิทธิ์ ลูกจ้างที่ทำงานแคชวลหลายงานสามารถขอใช้สิทธิ์ได้เช่นกัน
ลูกจ้างที่ขอใช้สิทธิ์ลาป่วยเกิน 15 ชั่วโมงต้องมีใบรับรองแพทย์ (medical certificate) หากลาเป็นเวลาน้อยกว่านั้นต้องแสดง “หลักฐานสนับสนุนประมาณหนึ่ง”
“พวกเขาอาจต้องแสดงหลักฐานตารางการทำงาน (roster) แล้วยื่นคำแถลงการณ์ (statutory declaration) หรือใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าไม่สามารถเข้างานตามกะได้” นางสทิตต์กล่าว
มุขมนตรีเรียกร้องรัฐบาลกลางพิจารณาให้สิทธิ์ทั่วประเทศ
มุขมนตรีแอนดรูส์คาดหวังว่า รัฐบาลสหพันธรัฐจะพิจารณาแนวทางดำเนินการระดับชาติเพื่อจัดตั้งระบบสิทธิ์ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างที่รองรับลูกจ้างแคชวลและพนักงานสัญญาจ้าง
มาพูดกันให้ชัดเจนเลยว่างานที่ไม่มั่นคงนั้นเป็นพิษ ไม่ใช่เป็นพิษแค่ในรัฐเรา แต่เป็นปัญหาทั่วทั้งประเทศ
“รัฐบาลแห่งชาติที่แท้จริงที่สนใจเปลี่ยนแปลงปฏิรูปคงมาร่วมกันช่วยแก้ปัญหานี้” นายแอนดรูส์กล่าว
รัฐวิกตอเรียประกาศจัดสรรงบประมาณ 5 ล้านดอลลาร์เริ่มพัฒนาโครงการนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2020 ซึ่งนายคริสเตียน พอร์เตอร์ (Christian Porter) อัยการสูงสุดสหพันธรัฐในขณะนั้นเรียกโครงการนี้ว่าเป็น “แนวทางฆ่าธุรกิจและการจ้างงาน”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
VIC เผยแผนทดลองให้สิทธิ์ลาป่วยลูกจ้างแคชวล
มุขมนตรีแอนดรูส์ปฏิเสธข้อคิดเห็นดังกล่าว
“ผมจะบอกให้ว่าสิ่งที่ทำให้ธุรกิจลำบากอย่างแท้จริงคือ การที่คนมาทำงานทั้งที่ป่วยมากแล้วทำให้ทุกคนป่วยไปด้วย” นายแอนดรูส์กล่าว
องค์กรยูไนเต็ด เวิร์กเกอส์ ยูเนียน (United Workers Union) หรือ UWU หนึ่งในสหภาพแรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ออกมาร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลสหพันธรัฐพิจารณาโครงการลักษณะเดียวกันนี้ หรือแก้ไขมาตรฐานการจ้างงานแห่งชาติ (National Employment Standards) ให้รับรองสิทธิ์ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง 10 วันสำหรับแรงงานทุกคน
“หากโรคระบาดโควิดชี้ให้เราเห็นอะไรสักอย่าง นั่นคือความจริงที่ว่างานแคชวล งานที่ไม่แน่นอน และงานที่ไม่มั่นคง ส่งผลซับซ้อนพัวพันต่อสุขภาพของคนทั้งชุมชน” นายทิม เคนเนดี (Tim Kennedy) เลขาธิการระดับประเทศของ UWU กล่าว
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด
หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
เจาะลึกวีซ่าทำงานแบบมีนายจ้างสปอนเซอร์