เราจะมีภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนหรือไม่?
ตั้งแต่ต้นปี 2020 ผู้คนหวังจะมีวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับเชื้อไวรัสโคโรนา เพื่อช่วยนำชีวิตปกติกลับมา การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้คนกลุ่มแรกในออสเตรเลีย โดยจะเป็นวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค จะเกิดขึ้นแล้วในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
ขณะนี้ วัคซีนต้านเชื้อไวรัสโคโรนาที่ใช้กันทั้งหมดทั่วโลก ต้องฉีด 2 โดส โดยเว้นระยะห่างกัน 2-3 สัปดาห์ แต่การปกป้องคุณจากเชื้อหลังฉีดวัคซีนแล้วไม่ได้เกิดขึ้นทันที
ดร.ไคลี ควินน์ นักภูมิคุ้มกันวิทยา จากมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที กล่าวว่า ใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ที่ร่างกายจะเริ่มผลิตสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ได้เพียงพอที่จะปกป้องตนเองจากเชื้อไวรัสได้ แต่การ ‘ปกป้อง’ ไม่จำเป็นต้องหมายความว่า ‘มีภูมิคุ้มกัน’“มีหลายระดับที่แตกต่างกันไปสำหรับประสิทธิภาพ” ดร.ควินน์ บอกกับ เอสบีเอส นิวส์ “บางวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมดซึ่งเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า ภูมิคุ้มกันอย่างสมบูรณ์ (sterilising immunity วัคซีนที่ทำให้ร่างกายสามารถหยุดไม่ให้ไวรัสเข้ามาในเซลล์และแบ่งตัวได้เลย) ซึ่งยากที่จะทำสำเร็จได้ในวัคซีนต่างๆ”
Dr Kylie Quinn, an immunologist from RMIT. Source: RMIT
“ภูมิคุ้มกันระดับต่อมาคือ การที่เราอาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่เชื้ออาจไม่สามารถพัฒนาต่อไปจนก่อให้เกิดโรคหรือทำให้เราเจ็บป่วย”
“และในระดับรองลงมาที่ต่ำกว่านั้นคือ การที่เราอาจสามารถติดเชื้อได้ แต่เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อพัฒนาต่อไปจนเกิดโรคที่ร้ายแรง”
เราจะยังคงแพร่เชื้อโควิดได้หลังฉีดวัคซีนแล้วหรือเปล่า?
ใช่ มีความเป็นไปได้
ยังคงเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า วัคซีนของออสเตรเลียจะป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด หรือเพียงแค่ป้องกันไม่ให้การติดเชื้อนำไปสู่การเจ็บป่วยที่รุนแรง
หากเป็นไปตามกรณีหลัง นั่นหมายความว่า วัคซีนจะยับยั้งไม่ให้คุณเจ็บป่วย แต่มันอาจไม่ได้หยุดยั้งให้คุณรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายและแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ควรก่อให้เกิดความตื่นตระหนก ดร.ควินน์ กล่าวว่า คำถามเช่นนี้ เป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้นในการเริ่มฉีดวัคซีนตัวใหม่ทั้งหมดให้ประชาชน
“ในการแพร่เชื้อ เราจำเป็นต้องมีเชื้อในร่างกายมากพอที่จะนำไปติดผู้อื่นอย่างได้ผล และขณะนี้ เรายังไม่มีสถิติใดๆ ในเรื่องนี้สำหรับวัคซีนโควิดต่างๆ”
“สำหรับวัคซีนใดๆ ก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นหลังฉีดให้ประชาชนแล้วคือระยะที่ 4 ซึ่งเมื่อวัคซีนออกไปสู่ชุมชนแล้ว และเรากำลังเฝ้าสังเกตดูว่าผู้คนมีการตอบสนองต่อวัคซีนอย่างไร เชื้อไวรัสมีปฏิกิริยาต่อระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นในประชากรอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างปกติ”
วัคซีนจะช่วยปกป้องเราได้นานเพียงไร?
นี่เป็นอีกคำถามหนึ่งซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ แม้ว่าผลการทดลองทั้งหมดจะชี้ถึงระดับการปกป้องที่ดีหลายเดือนหลังฉีดวัคซีนแล้ว
วัคซีนทำงานโดยแนะนำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายรู้จักกับโครงร่างของเชื้อไวรัส ระบบภูมิคุ้มกันถูกลวงให้คิดว่านั่นเป็นเชื้อไวรัสจริงๆ และตระหนักว่าโครงร่างของเชื้อเป็นอันตรายและเริ่มสร้างสารภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี) เพื่อปกป้องร่างกายจากเชื้อ
นั่นหมายความว่า หากเราติดเชื้อจากเชื้อไวรัสจริงๆ ในอนาคต ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะรู้วิธีในการต่อสู้กับเชื้อ
ดร.ควินน์ กล่าวว่า อายุขัยของสารภูมิคุ้มกันเหล่านั้นทั้งหมดนี้จะขึ้นอยู่กับความจำด้านภูมิคุ้มกันของร่างกาย
“ความจำด้านภูมิคุ้มกันคือ เซลล์ภูมิคุ้มกันของเราสามารถรับรู้และจดจำการติดเชื้อได้มากน้อยเพียงไร เพื่อที่เซลล์เหล่านั้นจะสามารถรับมือกับเชื้อได้ในหลายเดือนหรือหลายปีต่อมา”
“เราไม่รู้ว่าความทรงจำด้านภูมิคุ้มกันจะยาวนานเท่าไรสำหรับวัคซีน SARS-CoV-2 แต่เรากำลังได้ข้อมูลค่อนข้างดีจากผู้ที่ติดเชื้อหรือได้รับการฉีดวัคซีนราว 8-9 เดือนก่อน และยังคงมีความจำด้านภูมิคุ้มกันในระดับที่ดีมาก ดังนั้น จึงน่าจะเป็นสัญญาณที่ดี”
จะเกิดอะไรขึ้นหากมีเชื้อสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ?
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้มีเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ผุดขึ้นมาในประเทศอังกฤษ แอฟริกาใต้ และบราซิล
เชื้อสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้มีการกลายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ง่ายขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าเชื้อเหล่านี้ทำให้เกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้น
เชื้อสายพันธุ์ใหม่ก่อให้เกิดความท้าทายคือ ทำให้ยากขึ้นสำหรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จะตระหนักว่ามีเชื้อเข้ามาในร่างกายและต่อสู้กับเชื้อ แต่ ดร.ควินน์ กล่าวว่า นี่ไม่ได้ทำให้วัคซีนของในขณะนี้ไร้ประโยชน์
“ในจุดนั้น เราสามารถปรับวัคซีนของเราและเปลี่ยนแปลงวัคซีนได้ เช่นเดียวกับที่เราทำสำหรับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งต่างกันไปในแต่ละปี” ดร.ควินน์ กล่าว
“เรามีการออกแบบวัคซีนที่ดีมากสำหรับเรื่องนี้ วัคซีน mRNA (ซึ่งรวมถึงวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค) และวัคซีนโนวาแวกซ์นั้น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเรื่องนี้”
เมื่อใดที่เราจะมีภูมิคุ้มกันหมู่?
ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) คือเมื่อชุมชนทั้งหมดได้รับการปกป้องจากเชื้อไวรัสตัวใดตัวหนึ่ง เนื่องจากมีผู้คนมากพอที่เคยติดเชื้อหรือได้รับการฉีดวัคซีน
นั่นทำให้เชื้อไวรัสมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถแพร่กระจายต่อไปได้ เนื่องจากมีคนไม่มากพอที่จะเป็นผู้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
แต่ต้องมีคนกี่คนที่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงจะทำให้ออสเตรเลียมีภูมิคุ้มกันหมู่?ศ.ชารอน วีลิน ผู้อำนวยการสถาบันด้านโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกัน ปีเตอร์ โดเฮอตี กล่าวว่า จำนวนผู้คนที่มากพอจนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้นั้น จะขึ้นอยู่กับว่าวัคซีนของออสเตรเลียจะสามารถขัดขวางการติดเชื้อได้อย่างสิ้นเชิง หรือเพียงแค่ยับยั้งไม่ให้ป่วยหนักเท่านั้น
Professor Sharon Lewin. Source: The Peter Doherty Institute for Infection and Immunity
“สมมุติว่า การฉีดวัคซีนยับยั้งไม่ให้คุณติดเชื้อและลดโอกาสในการติดเชื้อของคุณลงอย่างมาก ถ้าเป็นเช่นนั้น โดยเฉลี่ย จำเป็นต้องมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนราวร้อยละ 60-70 (ของจำนวนประชากร)” ศ.ลีวิน บอกกับ เอสบีเอส นิวส์
“หากวัคซีนมีประสิทธิภาพเล็กน้อยในการยับยั้งการติดเชื้อ ถ้าเช่นนั้น ก็ต้องฉีดวัคซีนให้คนจำนวนมากขึ้น”
โฆษกของกระทรวงสาธารณสุขของสหพันธรัฐ กล่าวว่า รัฐบาล “ดำเนินการได้ตามแผน” ที่จะเสร็จสิ้นการฉีดวัคซีนให้ประชาชนภายในเดือนตุลาคม
หากเป็นไปตามกำหนด ภูมิคุ้มกันหมู่อาจเกิดขึ้นได้จริงภายในสิ้นปีนี้ หากประชาชนมากพอได้รับการฉีดวัคซีน
แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างภูมิคุ้มกันโรค กล่าวว่า เราไม่ควรคำนึงถึงแต่เรื่องภูมิคุ้มกันหมู่มากจนเกินไป
“สิ่งที่เรารู้คือ เรามีวัคซีนที่หยุดยั้งไม่ให้คนเจ็บป่วยและต้องไปโรงพยาบาล และนั่นเป็นสิ่งสำคัญอย่างใหญ่หลวง เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เราวิตกอย่างมากตอนนี้” ศ.ลีวิน กล่าว
เราจะสามารถเลิกการรักษาระยะห่างทางสังคมได้หรือไม่หลังฉีดวัคซีนแล้ว?
ยังเลิกไม่ได้ และคงต้องทำต่อไปสักระยะ
ในออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ องค์กรด้านสุขภาพต่างๆ กำลังแนะนำให้ทุกคนยังคงรักษาระยะห่างทางสังคมต่อไป พร้อมยังคงปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยต่อไป หลังได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว
ศ.ลีวิน กล่าวว่า มาตรการเหล่านั้นน่าจะคงอยู่ต่อไปจนกว่าทางการมีข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับวัคซีน
“คุณควรยังคงรักษาระยะห่างทางสังคมต่อไป ล้างมือ และอยู่บ้านหากป่วย และไปรับการตรวจเชื้อหามีอาการ เพราะเรายังคงไม่รู้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพหรือไม่และมีมากน้อยเพียงใดในการลดการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด” ศ.ลีวิน กล่าว
คุณอาจได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งหมายความว่า คุณจะได้รับการปกป้องไม่ให้ต้องไปโรงพยาบาล ซึ่งเราคิดว่ามีประสิทธิภาพเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่คุณอาจยังคงติดเชื้อไวรัสได้ ดังนั้นจึงสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้
นั่นหมายความว่า ขณะที่คุณอาจไม่ป่วย แต่คนที่คุณอาจนำเชื้อไปติด ยังคงป่วยได้ หากพวกเขายังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
เมื่อใดที่เราจะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้?
ดูเหมือนว่าการปิดพรมแดนระหว่างประเทศของออสเตรเลีย จะเป็นหนึ่งในสิ่งสุดท้ายที่จะเปลี่ยนแปลงหลังการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว
เอสบีเอส นิวส์ สอบถามกระทรวงสาธารณสุขสหพันธรัฐว่า มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาใดๆ สำหรับเริ่มเปิดการเดินทางระหว่างประเทศ หลังประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว
“เนื่องจากความไม่แน่นอนในขณะนี้ ว่าการฉีดวัคซีนจะสามารถหยุดยั้งบุคคลที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้หรือไม่ และขณะที่โควิด-19 ยังคงเป็นโรคที่มีนัยสำคัญในโลก ความเสี่ยงด้านสาธารณสุขที่มาจากการเดินทางระหว่างประเทศยังคงสูง” โฆษกกระทรวง กล่าว
“ขณะที่ยังคงไม่มีการตัดสินใจอย่างเป็นทางการใดๆ รัฐบาลคาดว่า ขณะที่โควิด-19 ยังคงก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพของประชาชนทั่วโลกและในออสเตรเลีย ผู้ที่เดินทางกลับมายังออสเตรเลียจะยังคงต้องผ่านกระบวนการลดความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมทั้ง การมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบก่อนขึ้นเครื่องบินเดินทางเข้ามา และการกักกันโรคภาคบังคับเมื่อเดินทางมาถึง เพื่อลดความเสี่ยงต่อชุมชน”
ขณะที่ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการใดๆ เกี่ยวกับการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ศ.ลีวิน กล่าวว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การฉีดวัคซีนกันอย่างกว้างขวางจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำการเดินทางระหว่างประเทศกลับมาอีกครั้ง
“สำหรับชาวออสเตรเลีย การเดินทางไปที่อื่นหลังได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จะช่วยให้คุณสบายใจได้อย่างมากว่า หากคุณสัมผัสเชื้อไวรัส คุณจะไม่ป่วยจนต้องลงเอยในโรงพยาบาล ดังนั้น มันจะเป็นมาตรการป้องกันที่ดีเยี่ยมที่จะทำ” ศ. ลีวิน กล่าว
“ฉันคิดว่า เมื่อคุณได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จะมีข้อจำกัดน้อยลงสำหรับผู้ที่เดินทางออกนอกประเทศ”
แต่สำหรับการเดินทางกลับมายังออสเตรเลียอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“จนกว่าเราจะรู้ว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ จะมีความเป็นไปได้เสมอที่ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจะยังคงเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส ซึ่งหมายความว่า มีแนวโน้มที่พวกเขาจะยังคงต้องถูกกักกันโรคต่อไป” ศ.ลีวิน กล่าว
“แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงว่าจะกักกันโรคกันแค่ไหน ขณะนี้ เรากักกันโรคสำหรับทุกคนที่เดินทางเข้ามาจากประเทศใดๆ ก็ตาม ซึ่งนั่นอาจเปลี่ยนแปลง เราจะมีระดับของการกักกันโรคที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณได้รับการฉีดวัคซีนหรือยัง หรือขึ้นอยู่กับประเทศที่คุณได้เดินทางไป”
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ทำไมชุมชนพหุวัฒนธรรมจึงต้องการข้อมูลวัคซีนโควิดในภาษาของตนเอง
ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ
หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
ผลสำรวจพบอคติต่อชาวเอเชียยังสูงในออสเตรเลีย