เหตุใดผู้เชี่ยวชาญจึงเตือนว่าเราไม่ควรชะล่าใจเกี่ยวกับโอมิครอน

ขณะที่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต่างอธิบายว่าเหตุใดเราจึงควรพยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ แม้ว่าจะมีการกล่าวกันว่าเชื้อสายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการป่วยที่ไม่รุนแรงก็ตาม

An artwork depicting a man wearing a mask as he checks in using a QR code.

An artwork depicting a man wearing a mask as he checks in using a QR code. Source: SBS News

เชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดอาการป่วยไม่รุนแรงเท่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ จึงทำให้คนไม่น้อยมีความคิดที่ว่าขณะนี้โควิด-19 มีอันตรายน้อยกว่าในอดีต

นี่ทำให้บางคนตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงต้องพยายามอย่างมากมายเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อในตอนนี้ เพราะทุกคนจะต้องติดเชื้อไม่ช้าก็เร็ว

แต่นี่คือเหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์กล่าวว่า นี่ไม่ใช่เวลาที่จะชะล่าใจเกี่ยวกับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน

เรายังคงมีโอกาสป่วยหนักได้

การวิจัยชี้ว่าโอมิครอนอาจมีแนวโน้มที่นำไปสู่การติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ สำหรับผู้ที่มีอาการนั้น มีสัดส่วนสูงขึ้นที่จะมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย เช่น เจ็บคอหรือน้ำมูกไหล โดยไม่มีอาการหายใจลำบากอย่างที่พบโดยทั่วไปในการติดเชื้อก่อนหน้านี้

แต่การแพร่ระบาดอย่างเหนือธรรมดาของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในหลายประเทศหมายความว่า ถ้าดูตามจำนวนจริงแล้ว ผู้คนจำนวนมากขึ้นที่จะประสบกับอาการป่วยที่ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลล่าสุดจากอิตาลีและเยอรมนีแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ในห้องดูแลผู้ป่วยวิกฤต และมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเสียชีวิต

"ฉันเห็นด้วยว่า ไม่ช้าก็เร็วทุกคนก็จะติดเชื้อ แต่ติดทีหลังจะดีกว่า" คุณ มิเชล นุสเซนซ์ไวก์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสจากมหาวิทยาลัยร็อกกีเฟลเลอร์ (Rockefeller University) กล่าว
ทำไมนะหรือ? เพราะในภายหลังเราจะมียารักษาที่ดีขึ้นและหาง่ายขึ้น และจะมีวัคซีนที่ดีขึ้นด้วย

เราอาจนำเชื้อไปติดคนอื่นได้

เราอาจป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เราสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปสู่คนอื่นที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงได้ แม้ว่าเราจะมีแอนติบอดีจากการติดเชื้อครั้งก่อนหรือจากการฉีดวัคซีนก็ตาม คุณอะกิโกะ อิวะซะกิ ผู้ศึกษาด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจากไวรัส ที่มหาวิทยาลัยเยล กล่าว

ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดถึงผลกระทบระยะยาวของโอมิครอน

การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ รวมถึงการติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรงและกรณีติดเชื้อแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว บางครั้งทำให้เกิดกลุ่มอาการโควิด-19 ระยะยาว (long-haul COVID syndrome) ที่ทำให้ร่างกายอ่อนเปลี้ยเรื้อรัง “เรายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่ลงเอยด้วยอาการโควิดระยะยาว (Long COVID)” คุณอะกิโกะ อิวะซะกิ กล่าว
คนที่ดูถูกสายพันธุ์โอมิครอนว่า 'ไม่รุนแรง' กำลังทำให้ตนเองเสี่ยงที่จะเป็นโรคที่ทำให้ร่างกายอ่อนเปลี้ยเรื้อรัง ซึ่งอาจมีอาการได้เป็นเดือนหรือหลายปี
นอกจากนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าโอมิครอน จะมีผลกระทบที่ “ซ่อนอยู่อย่างเงียบๆ” อย่างที่เห็นในเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้านี้หรือไม่ เช่น แอนติบอดีที่โจมตีตัวเอง มีความผิดปกติของอสุจิ และการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ผลิตอินซูลิน

มีคนติดเชื้อมากขึ้นหมายถึงมีสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้น

โอมิครอนเป็นเชื้อสายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งตัวที่ห้าของเชื้อ SARS-COV-2 ดั้งเดิม และยังคงต้องจับตาดูว่าความสามารถของเชื้อไวรัสชนิดนี้ในการกลายพันธุ์ต่อไปอีกจะช้าลงหรือไม่

อัตราการติดเชื้อที่สูงยังทำให้เชื้อไวรัสชนิดนี้มีโอกาสกลายพันธุ์มากขึ้น และไม่รับประกันว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะมีพิษสงน้อยกว่าเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้า

"เชื้อ SARS-CoV-2 ทำให้เราประหลาดใจในหลายๆ ด้านในช่วงสองปีที่ผ่านมา และเราไม่มีทางที่จะคาดเดาวิถีวิวัฒนาการของไวรัสชนิดนี้ได้เลย" ศ.เดวิด โฮ ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าว


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 17 January 2022 11:05am
Updated 17 January 2022 12:23pm
By SBS News
Presented by Parisuth Sodsai
Source: Reuters, SBS


Share this with family and friends