หลายฝ่ายชี้ผู้อพยพที่พิการถูกเลือกปฏิบัติทั้งด้านวีซ่าและการงาน

High Angle View Of Man Sitting On Wheelchair

ผู้พิการที่อยู่บนรถเข็น Source: EyeEm

นโยบายการย้ายถิ่นฐานของออสเตรเลียในปัจจุบันมองว่าผู้อพยพที่พิการเป็นภาระทางการเงิน และมีระบบที่กีดกันการยื่นขอวีซ่าหรือการสมัครงาน กลุ่มผู้สนับสนุนชี้ผู้อพยพที่พิการสามารถช่วยสังคมได้ และไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ


กดเพื่อฟังเรื่องนี้
LISTEN TO
Advocacy groups say migrants living with disability face discrimination image

หลายฝ่ายชี้ผู้อพยพที่พิการถูกเลือกปฏิบัติทั้งด้านวีซ่าและการงาน

SBS Thai

07/04/202208:22
คุณไอลีน เอิง (Aileen Ng) อายุ 30 ปี มีความพิการด้านสติปัญญา เดิมถูกปฏิเสธวีซ่าเนื่องจากความพิการของเธอ เมื่อยื่นขอย้ายถิ่นจากมาเลเซียมาออสเตรเลีย

คุณไอลีนต้องอยู่แต่ที่บ้าน ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก จนครอบครัวของเธอรู้จักกับโครงการฝึกอบรมผู้พิการเพื่อทำงานในท้องถิ่นหรือโอเน็มดา (Onemda)   ซึ่งสนับสนุนเธออย่างมากเพื่อให้เธอสามารถขอวีซ่าทำงานและช่วยครอบครัวได้

ตอนนี้เธอทำงานอย่างมีความสุขอยู่ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ที่ดอนคาสเตอร์ อีสต์  (Doncaster East) รัฐวิกตอเรีย

“ฉันทำงานอยู่ที่ร้านกาแฟอินดัลเจนซ์ (Indulgence) ที่ ศูนย์การค้าเดอะ ไพนส์ (The Pines) ฉันชอบเป็นพนักงานเสิร์ฟและงานเหล่านี้ การเสิร์ฟ การให้บริการลูกค้า ฉันรู้สึกดีขึ้นกับการทำงาน มันช่วยให้ฉันยุ่ง”
คุณไซมอน ลูอิส (Simon Lewis) ผู้บริการโอเน็มดา องค์กรบริการและช่วยเหลือผู้พิการแห่งรัฐวิกตอเรียที่ช่วยเหลือคุณไอลีนกล่าวว่า รัฐบาลออสเตรเลียมองข้ามความสามารถของผู้พิการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มักจะปฏิเสธการให้สถานะพลเมืองหรือการอนุมัติวีซ่า
และเราเห็นว่า ผู้พิการไม่ว่าจะเกิดในออสเตรเลียหรือไม่ มีความสามารถในการช่วยเหลือประเทศอย่างมาก ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เราคิดว่าควรจะมีการให้โอกาสมากขึ้น ควรผ่อนปรนมาตรการกีดกันต่างๆ และเราควรทำลายความเข้าใจผิดๆ เหล่านั้น
คุณลูอิสกล่าวว่ารัฐบาลออสเตรเลียปฏิบัติต่อผู้อพยพที่พิการเหมือนเป็นพลเมืองชั้นที่สอง

“ผู้พิการมีสิทธิ์ได้รับการศึกษา มีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมในสังคมในทุกๆ ด้าน ในทุกๆ วัน และดูเหมือนว่าจะมีการปฏิบัติประหนึ่งว่าพวกเขาเป็นพลเมืองชั้นที่สอง มากกว่าที่จะมองว่าพวกเขามีศักยภาพและคุณค่า ใช่ พวกเขาต้องการการช่วยเหลือเพิ่มเติม แต่พวกเขาสามารถสร้างคุณคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคม ตัวอย่างเช่น อัตราการเข้าชั้นเรียนของพวกเขานั้นดีมาก ดังนั้นหากคุณจ้างผู้พิการ พวกเขาจะมาทำงานทุกวันด้วยความเต็มใจ และสามารถที่จะทำงานได้”
Woman in wheelchair communicating with female colleague in cafe
ผู้พิการนั่งบนรถเข็นกำลังพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานในร้านกาแฟ Source: Pexels/Shvets Production
สมาพันธ์ผู้พิการจากหลากหลายเชื้อชาติแห่งชาติ (National Ethnic Disability Alliance) หรือชื่อย่อ นีดา (NEDA) องค์กรเพื่อคนพิการในระดับรัฐบาลสหพันธรัฐ ที่ให้การสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนแก่ผู้พิการและครอบครัว ผู้พิการที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม และไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักอธิบายว่า สิ่งที่พวกเขาคัดค้านอย่างหนักคือ ‘ระเบียบเรื่องสุขภาพ (Health requirement)’ ที่รัฐบาลออสเตรเลียระบุว่า ผู้ยื่นขอวีซ่าต้อง‘ไม่มีความเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัว’ ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายของชุมชนออสเตรเลียเป็น ‘จำนวนมาก’ รวมถึงการกีดกันการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการดูแลชุมชน และการใช้ทรัพยากรของพลเมืองออสเตรเลีย

คุณดเวย์น แครนฟิลด์ (Dwayne cranfield) ผู้บริหารองค์กรนีดากล่าวว่า ระเบียบเรื่องการตรวจสุขภาพนั้นไร้สาระ แม้กระทั่งชาวอังกฤษที่มีภาวะดาวน์ ซินโดรม (Down Syndrome) ก็ถูกปฏิเสธวีซ่าท่องเที่ยว เพราะเธอไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ
เราควรตัดมันออกไปซะ เราควรตัดระบบทั้งหมดออกไป เราควรเลิกมองว่าผู้พิการเป็นภาระ เรามีรัฐมนตรีที่พูดถึงผู้พิการเหมือนเป็นภาระในอดีต เราควรเริ่มมองว่าอะไรที่แต่ละบุคคลสามารถเอื้อต่อชุมชน และความเป็นจริงที่ว่าเราเป็นประเทศที่สร้างผู้อพยพ เราควรเลิกมองข้อเสียของแต่ละบุคคล
คุณมอรีน ฟอร์ไดซ์ (Maureen Fordyce) จากแอมพาโร (Amparo) องค์กรสนับสนุนผู้พิการในบริสเบนกล่าวว่า เมื่อผู้อพยพมีบุตรที่พิการในออสเตรเลีย มันเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้พวกเขาผ่านการตรวจสุขภาพ

“มันยากมากๆ เช่น เราต้อนรับชาวนิวซีแลนด์เข้ามาและอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย มาทำงานและจ่ายภาษี จ่ายเมดิแคร์ พวกเขาอาจอยู่ที่นี่ 15 ปี จากนั้นพวกเขาอาจมีลูกที่พิการ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะขอเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรหรือพลเมือง เพราะเขาจะไม่ผ่าน ลูกๆ ของพวกเขามักจะไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ”
A family sitting on a bench talking together
ครอบครัวที่มีบุตรพิการนั่งพูดคุยด้วยกัน Source: Pexels/Rodnae Productions
คุณฟอร์ไดซ์กล่าวว่า รัฐบาลกลางของออสเตรเลียควรให้สิทธิ์ผู้อพยพที่พิการในการเข้าถึงโครงการประกันของผู้พิการแห่งชาติ (National Disability Insurance Scheme - NDIS)

“ตัวอย่างหนึ่ง เรากำลังทำงานกับชายหนุ่มที่มาออสเตรเลียในฐานะผู้ลี้ภัย หลังจากมาถึงได้ไม่นาน เขาก็เป็นโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) ตอนนี้เขาต้องอยู่ในบ้านพักดูแล รัฐบาลกลางจะให้ความช่วยเหลือเขาให้อยู่ในบ้านพักดูและจ่ายค่าใช้จ่ายนั้นให้ แต่จะไม่อนุญาตให้เขาใช้สิทธิ์จากโครงการประกันของผู้พิการแห่งชาติและรับความช่วยเหลือที่เขาต้องการเพื่อใช้ชีวิตที่ดีในชุมชน ดังนั้นเขาจึงอยู่ด้วยวีซ่าลี้ภัยชั่วคราว และภายใต้กฎหมายในปัจจุบันเขาจะไม่สามารถยื่นขอสถานะผู้อาศัยถาวรได้”

องค์การต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับผู้อพยพที่เป็นผู้พิการซึ่งมีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม เรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียเปลี่ยนกฎ พวกเขาอยากให้ผู้พิการได้รับการยอมรับประหนึ่งมนุษย์ที่มีสิทธิ์เท่าเทียม ผู้ซึ่งสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มากกว่าที่จะเป็นแค่ภาระทางการเงิน


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 





Share