เตือนออสเตรเลียระวังความเสี่ยงโควิดกลายพันธุ์

Colourised scanning electron micrograph of a cell (blue) heavily infected with coronavirus particles (red)

Colourised scanning electron micrograph of a cell (blue) heavily infected with coronavirus particles (red) Source: Universal Images Group Editorial

ออสเตรเลียกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ ชนิดเดียวกับในอังกฤษและแอฟริกาใต้ นักวิทย์ฯ ร้องรัฐบาลเร่งอนุมัติวัคซีนหลังเริ่มพบผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์ในประเทศแล้ว


LISTEN TO
Australia could be at risk from new COVID mutation image

เตือนออสเตรเลียระวังความเสี่ยงโควิดกลายพันธุ์

SBS Thai

28/12/202009:02

มีความกังวลเพิ่มมากขึ้น จากการค้นพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในอังกฤษ และแอฟริกาใต้ โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม และอาจเป็นสาเหตุของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงในทั้งสองประเทศ

ในประเทศอังกฤษ จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้เพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์เมื่อเดือนพฤศจิกายน และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 เท่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่า ความสามารถในการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้นั้นมากกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 70%

นายแมตต์ แฮนค็อก (Matt Handcock) เลขาธิการหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษ กล่าวว่า ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ได้นำเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้เข้ามาในอังกฤษจากแอฟริกาใต้

“ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้มีความน่ากังวลอย่างมาก เพราะมันสามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าเดิม และดูเหมือนว่ามันจะกลายพันธุ์ไปไกลกว่าสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบในอังกฤษ” นายแฮนค็อก กล่าว

“สิ่งที่เราทำก็คือ อันดับแรก เรากักกันผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อที่พบในอังกฤษ และต่อมา เราได้ประกาศห้ามการเดินทางระหว่าประเทศแอฟริกาใต้โดยทันที”

ไวรัสโคโรนารูปแบบใหม่นี้เกิดจากการกลายพันธุ์ ซึ่งเป็นความผิดพลาดในส่วนเล็ก ๆ ในรหัสพันธุกรรมของไวรัส ระหว่างที่ไวรัสคัดลอกตนเอง ตามปกติแล้ว เชื้อไวรัสโคโรนานั้นมีความเสธียร และไม่กลายพันธุ์อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับไวรัสชนิดอื่น เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่

โดยไวรัสโคโรนารูปแบบใหม่ในอังกฤษ มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมถึง 23 ครั้ง ขณะที่ไวรัสโคโรนารูปแบบใหม่ในแอฟริกาใต้นั้นก็ได้การกลายพันธุ์ที่แตกต่างซึ่งเกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง 

นางสมยา สวามินาทัน (Soumya Swaminathan) ประธานเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า ไวรัสโคโรนานั้นได้มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นสะสมในทุก ๆ เดือน  
Coronavirus Mutant
Coronavirus Mutant Source: SBS
สิ่งที่ไวรัสพยายามจะทำก็คือ การทำตัวเองให้แพร่กระจายได้เร็วขึ้น แต่สร้างความเสียหายกับพาหะให้น้อยลง เพื่อที่จะสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง" นางสวามินาทัน กล่าว

"แต่ช่วงเวลาที่ไวรัสจะกลายพันธุ์หรือมีการเปลี่ยนแปลง คือช่วงที่ไวรัสอยู่ในมนุษย์ในอัตราที่หนาแน่น ดังนั้นมันจะมีไวรัสจำนวนมากที่แพร่กระจายตนเอง และมีโอกาสสูงที่จะมีการกลายพันธุ์”  

ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า ไวรัสโคโรนารูปแบบใหม่ จะสามารถสร้างโรคระบาดที่มีความรุนแรงมากกว่าชนิดเดิม

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ไวรัสที่กลายพันธุ์อาจแฝงตัวอยู่กับอวัยวะรับสัมผัสในเซลล์ของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น 

ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ฮอร์บี (Prof Peter Horby) นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าไวรัสโคโรนาชนิดใหม่จะสามารถแพร่กระจายในอัตราที่เร็วขึ้นหรือไม่

“มันอาจเป็นไปได้ เนื่องจากไวรัสคัดลอกตัวเองได้เร็วขึ้น นั่นทำให้อัตราความหนาแน่นของไวรัสสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าคุณจะสามารถติดเชื้อได้ง่ายขึ้น มันอาจหมายถึงเวลาที่สั้นลงระหว่างการติดเชื้อและการแสดงอาการเจ็บป่วย หากช่วงเวลาดังกล่าวสั้นลง นั่นจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่เร็วขึ้น” ศาสตราจารย์ฮอร์บี กล่าว  

คณะกรรมการหลักด้านการคุ้มครองสุขภาพของออสเตรเลีย (The Australian Health Protection Principal Committee หรือ AHPPC) หน่วยงานสูงสุดที่มีอำนาจตัดสินใจด้านสาธารณสุขของออสเตรเลีย กล่าวว่า พวกเขากำลังเฝ้าจับตาสถานการณ์นี้

โดยในแถลงการณ์ของ AHPPC ระบุว่า “ยังไม่มีความกังวลใด ๆ เกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ในออสเตรเลีย” 

อย่างไรก็ตาม มีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ที่มาจากประเทศอังกฤษแล้วในรัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐวิกตอเรีย จากบรรดาผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศที่ได้รับการกักตัวอยู่ในโรงแรมกักกันโรค    

ศาสตราจารย์ไรนา แมคอินไตย์ (Prof Raina MacIntyre) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดจากมหาวิทยาลัยรัฐนิวเซาท์เวลส์ ว่าไวรัสโคโรนาชนิดใหม่นี้อาจหลุดรอดเข้ามายังชุมชนได้  

“เราต้องระมัดระวังอย่างมาก ทุกสิ่งที่เข้ามายังออสเตรเลียนั้นล้วนมาจากต่างประเทศ ดังนั้น หากมีไวรัสโคโรนาชนิดใหม่เกิดขึ้นในอังกฤษ เรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่ไวรัสชนิดนี้จะเข้ามาในออสเตรเลีย” ศาสตราจารย์แมคอินไตย์ กล่าว

“ดูเหมือนว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้จะสามารถแพร่กระจาย และทำให้เกิดการระบาดในเด็กได้ง่าย มันจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง ทั้งในแง่ของการปิดสถานศึกษา และความปลอดภัยในการเปิดทำการเรียนการสอน และเราต้องคำนึงถึงทั้งหมดนี้”   

ศาสตราจารย์แมคอินไตย์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้จะระบาดในออสเตรเลีย หากเกิดการแพร่ระบาดในชุมชนในอัตราสูง เธอเรียกร้องให้ชาวออสเตรเลียได้รับการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น ก่อนเวลาตามแผนในการจ่ายวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา ของบริษัท ไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) แอสตร้า เซเนก้า (AstraZeneca) และโนวาแวกซ์ (Novavax) ในออสเตรเลีน ที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2021
vaccine, Pfizer, COVID-19, Philippines, Christmas
Source: ARIANA DREHSLER/AFP via Getty Images
นอกจากนี้ เธอยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียจองสิทธิ์การเข้าถึงวัคซีนต้านโควิดให้มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ท่ามกลางความกังวลว่าวัคซีนที่ได้จองสิทธิ์ไว้ก่อนหน้า อาจไม่มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อไวรัสโคโรนาที่กลายพันธุ์

“วัคซีนชนิด mRNA อย่างของบริษัท Moderna และ Pfizer มีความต้านทานต่ำต่อเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดกลายพันธุ์มากกว่าวัคซีนชนิดอื่น ๆ ที่ผลิดด้วยวิธีดั้งเดิม นั่นเป็นอีกเหตุผลที่ทำไมเราจึงต้องสร้างความแตกต่างให้กับสต๊อกวัคซีนในประเทศ และเราจะต้องตกลงกับบริษัทผลิตวัคซีนอื่นๆ ให้มีความหลากหลาย” ศาสตราจารย์แมคอินไตย์ กล่าว

ขณะที่บริษัท ไฟเซอร์-ไบออนเทค และโมเดิร์นา คาดว่า วัคซีนของพวกเขาอาจมีความสามารถในการต้านเชื้อไวรัสโคโรนาที่กลายพันธุ์ได้

นายเจโรม คิม (Jerome Kim) ผู้อำนวยการทั่วไปของสถาบันวัคซีนระหว่างประเทศ กล่าวว่า จะต้องมีการตรวจหาเชื้อให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจกับไวรัสชนิดนี้ 

“สิ่งที่เราเดาได้ดีที่สุดในตอนนี้ โดยที่ยังไม่มีการทดลองใด ๆ ก็คือ ไวรัสโคโรนาจะถูกลดฤทธิ์และต่อต้านโดยการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ได้รับการกระตุ้นโดยวัคซีน แต่ในจุดนี้ เรายังคงไม่ทราบแน่ชัด” นายคิม กล่าว

“ผมคิดว่ามีหลายห้องปฏิบัติการทั่วโลกที่กำลังพยายามค้นหาว่า วัคซีนจะยังคงมีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิดที่กลายพันธุ์ได้หรือไม่”


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

ATO จะรวบรวมข้อมูลผู้ถือวีซ่าจาก Home Affairs เพื่อปราบการโกงภาษี


Share