พิงค์ อนัญญา โรจน์เมธา ที่ปรึกษาด้านระบบธุรกิจหรือ Business Control Advisor (CIO) แห่งธนาคาร Great Southern Bank ในบริสเบนได้มาเล่าถึงการได้เฝ้ามองตัวเองเติบโตในมุมใหม่บนจังหวะชีวิตที่เธอเลือกได้เอง เมื่อเธอได้ย้ายงานจากบริษัท PwC หนึ่งในบริษัท Big4 ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุด 4 แห่งในโลก
งานแรกในชีวิตกับยักษ์ใหญ่ในออสเตรเลีย
พิงค์จบการศึกษาด้านวิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร (Information Engineering) จากคณะวิศวะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ก่อนที่จะเดินทางมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทเพื่อเสริมความรู้ด้านธุรกิจที่ Information System and IT Management ณ มหาวิทยาลัย Griffith ที่บริสเบนและเรียนจบเมื่อปี 2020
เธอเริ่มต้นชีวิตการทำงานครั้งแรกจากการได้รับโอกาสฝึกงานและทำงานประจำที่ PwC โดยเนื้องานคล้ายการทำ Internal Audit ให้กับบริษัทต่าง ๆ เป็นเวลาเกือบสามปี ก่อนที่จะได้ย้ายงานเมื่อปี 2024 มาทำงานตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบธุรกิจที่ธนาคาร Great Southern Bank
ธุรกิจธนาคารจะมีการควบคุมระบบของตัวเองเพื่อให้มั่นใจความสร้างความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานเป็นหลัก โดยหน้าที่งานของเราอยู่ในส่วนที่เรียกว่า '3 Lines of Defense' ซึ่งเราต้องทำงานใกล้ชิดกับเจ้าของ IT process หรือเจ้าของแพลตฟอร์มในการจัดการกับความเสี่ยงและการควบคุมกิจกรรมบนระบบทั้งหมดของธนาคาร เช่น การเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าบนระบบ หรือกระบวนการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในทุกส่วนบนระบบ (change management process) หากพูดให้กระชับ คือ เรามีหน้าที่ทดสอบและเช็คว่าระบบทำงานตรงกับข้อกำหนดด้านความปลอดภัยตรงตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้หรือไม่
ความกดดันที่เราสร้างขึ้นเอง
ตลอดการทำงานที่ PwC พิงค์เล่าว่าไม่เคยรู้สึกว่าได้ทำงานสบาย ๆ หรือมีจังหวะให้หยุดพยายามเลย ด้วยความเป็นองค์กรใหญ่ที่ทุกคนมีความสามารถและต่างก็มีความกระหายในการเรียนรู้จากการทำงานที่นี่ ทำให้แม้ในวันนั้น เธอจะรู้สึกสนุกและตื่นเต้นที่ได้เห็นตัวเองได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในสายงานนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความกดดันให้กับตัวเองแบบไม่รู้ตัว
มันเหมือนเป็น mindset ของผู้หญิงว่าเราจะต้องเป็น working woman เราต้องทำงานเก่ง และไม่ด้อยไปกว่าคนอื่นพิงค์เล่าให้เราฟังถึงมุมมองที่เธอเคยมองตรงกันกับอดีตเมเนเจอร์ของเธอ
“เมเนเจอร์บอกว่าแทนที่เราจะไปโฟกัสว่าเราทำอะไรพลาด ให้เราเลือกเขียนว่าเราทำอะไรได้ดีลงบน post-it แล้วแปะบนผนัง ซึ่งมันช่วยเปลี่ยนเราได้จริง ๆ” เธอเล่า
จุดเปลี่ยนในการได้กลับมาใส่ใจตัวเอง
แม้ในวันนั้น เธอจะสนุกกับได้เห็นตัวเองเติบโตอย่างก้าวกระโดดในสายงานที่เธอชอบและทำได้ดีเยี่ยม แต่หนึ่งในสาเหตุที่พิงค์ตัดสินใจรับข้อเสนองานจากบริษัทใหม่ คือการได้หันมาดูแลและใส่ใจกับความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น
เราเคยรู้สึกหงุดหงิดกับการทำงานช้า ๆ แต่เราพบว่าแค่ได้นั่งคุยไปเรื่อย ๆ เวลาออกไปกินกาแฟกับเพื่อนร่วมงาน มันทำให้เราเข้าใจการทำงานของคนอื่นมากขึ้นเธอเล่า
"ในชีวิตเราเคยคิดแต่เรื่องงานและอยากจะพุ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่เราในวันนี้ เข้าใจว่าคนเรามีองค์ประกอบหลายด้านในชีวิต ถ้าเราเลือกที่จะเติบโตเร็วมาก ๆ ในด้านหนึ่ง นั่นหมายความว่าด้านอื่นก็ต้องลดลง เราต้องหาจุดเหมาะสมที่เราจะเติบโตไปพร้อมกับด้านอื่น ๆ ในชีวิตของเราไปด้วย"
เธอใช้เวลาอยู่หลายเดือนจนจังหวะชีวิตของตัวเองเริ่มเนิบช้าลงและเข้าที่ แม้ว่าเธอจะยังเคยชินกับการจัดการเวลาแต่ละวันเป็นเหมือน time blocking แต่เธอเลือกที่จะใช้เวลาเหล่านั้นในการทำความเข้าใจและดูแลความรู้สึกตัวเองมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย ดูแลอาหารการกิน และใช้เวลาร่วมกับครอบครัวและลูก ๆ (น้องหมา) ทั้งสอง
มุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อจังหวะชีวิตเปลี่ยนแปลง
ในวันนี้ถ้าให้เธอกลับไปทำงานที่บริษัทระดับ Big4 อีก เธออาจจะเลือกไม่กลับไป แต่ไม่ใช่แค่เพราะปริมาณงานที่จะเพิ่มขึ้นตามตำแหน่ง แต่เป็นเพราะเธอพบว่าเธอแฮปปี้กับการใช้ชีวิตแบบนี้ไปแล้ว
"Pace ของทุกคนไม่เหมือนกัน ทุกคนมีจุดเริ่มต้นไม่เหมือนกัน และใช้เวลาเพื่อผ่านแต่ละ phase ในชีวิตก็ไม่เท่ากัน การเอาเราไปเทียบกับคนอื่นนั้นไม่ได้จำเป็นเลย เพราะเราทุกคนต่างมีเรื่องที่เราเก่งอยู่แล้ว ต่อให้เราพยายามเต็มที่แล้วแต่วันนี้ยังไม่สำเร็จ เราก็แค่พยายามให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง” พิงค์กล่าว