ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณริมแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรี ผู้ได้รับสมญานามว่า "สิงห์โตเงียบ" (The Quiet Lion)
ได้ลักลอบส่งอาหาร ยา และอุปกรณ์สื่อสารเข้าไปช่วยเหลือเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรที่ถูกบังคับให้สร้างทางรถไฟสายมรณะข้ามแม่น้ำแคว แม้รู้ว่าเสี่ยงต่อชีวิตตนเองและครอบครัว
คุณลำไย สิริเวชชะพันธ์ คนในครอบครัวของคุณบุญผ่องเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า
“เชลยศึกรู้ว่าพี่ผ่องพูดภาษาอังกฤษได้ แอบระบายให้ฟังว่าเค้าเนี่ยได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสทั้งขาดอาหาร เป็นโรคโดยเฉพาะมาลาเรีย ทําให้คนตายมากมาย เค้าอยากให้ช่วย”
“พี่ผ่องก็อยากจะช่วยแต่ญี่ปุ่นเค้าประกาศไว้ก่อนเลยใครไปยุ่งเกี่ยวกับเชลย จะต้องเป็นศัตรูกับญี่ปุ่นซึ่งหมายถึงความตาย แต่ในที่สุดความมีมนุษยธรรมของท่านก็อดช่วยไม่ได้ ก็แอบเอายาควินิน ไข่ ชิ้นส่วนวิทยุ แอบไว้ใต้เข่งที่ขนของไปในค่ายเชลย”

Lt Col. EE Dunlop and Lt Col AE Coates, Bangkok, Thailand, 1945 (AWM 117361) Credit: Supplied/ The Royal Australasian College of Surgeons
หนึ่งในเชลยศึกที่รอดชีวิตจากการช่วยเหลือนั้น คือ วีรบุรุษสงครามของออสเตรเลีย พลเอก Sir Edward "Weary" Dunlop ผู้ทำหน้าที่เป็นทั้งแพทย์และผู้นำทางจิตใจให้กับเชลยศึกในค่าย
เซอร์ เอ็ดเวิร์ด แวรี ดัลลอป ถือเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย เพราะเขาเป็นมากกว่าแพทย์ทหารแต่เขาคือผู้นำทางจิตวิญญาณของเหล่าเชลยศึก ผู้ยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรมในค่าย
การเสียสละของบุญผ่องไม่เพียงเปลี่ยนชะตาชีวิตของเชลยศึก แต่ยังช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากสถานะประเทศผู้แพ้สงคราม
บุญผ่องได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 และได้รับการยกย่องจาก จอห์น โฮเวิร์ด อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของออสเตรเลีย
อ่านเพิ่มเติม

ฮีโร่หัวใจสิงห์แห่งสะพานมรณะ
ทุน The Weary Dunlop – Boonpong Exchange Fellowship
หลายสิบปีหลังสงครามจบลง กลุ่มทหารผ่านศึกชาวออสเตรเลียในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียอยากจะระลึกถึงเพื่อนร่วมรบที่ล่วงลับ แทนที่จะสร้างอนุสาวรีย์ พวกเขาเลือกการสร้างโอกาส
ทุนแลกเปลี่ยนจึงถือกำเนิดขึ้นในปี 1988 เพื่อส่งศัลยแพทย์ไทยมาฝึกอบรมในออสเตรเลีย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไมเคิล ฮอลแลนส์ อดีตประธานและเป็นผู้ดูแลทุนนี้กว่า 12 ปี กล่าวว่า
"เซอร์ เอ็ดเวิร์ด แวรี ดัลลอปเป็นแพทย์ทหารที่กลายเป็นผู้นำในค่ายเชลยศึก เขามีบทบาทสำคัญในค่ายมาก เมื่อมีการตั้งโครงการนี้ เขายืนยันว่าหากจะตั้งชื่อทุนนี้ ต้องมีชื่อของบุญผ่องด้วย เพราะหากไม่มีบุญผ่องก็ไม่มีเขาในวันนี้"
ความร่วมมือระหว่างสองราชวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฮอลแลนส์ อธิบายเพิ่มเติมว่า จากแนวคิดนี้ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งออสตราลาเซีย (RACS) จึงได้ร่วมมือกับในการออกแบบทุนแลกเปลี่ยน ที่ไม่เพียงส่งเสริมการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพของศัลยแพทย์ไทย
แต่ยังส่งเสริมความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมและระบบสาธารณสุขของทั้งสองประเทศ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างสองราชวิทยาลัยจึงเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ทุนนี้ยั่งยืนและมีผลสำเร็จมากมายจนถึงปัจจุบัน
The Weary Dunlop – Boonpong Exchange Fellowship ถือกำเนิดขึ้นในปี 1988 Credit: Supplied/ The Royal Australasian College of Surgeons
นอกจากนี้ RACS ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยออกแบบและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของศัลยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ฮอลแลนส์ อธิบายถึงความร่วมมือนี้ว่า
“มีการส่งศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ในโรงพยาบาลและสถาบันการแพทย์ของไทยและทางไทยได้นำข้อเสนอแนะกลับไปใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับบริบทไทยมากยิ่งขึ้น"
"มีการนำหลักสูตรฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นสูงสำหรับผู้บาดเจ็บหนักอย่าง Advanced Trauma Life Support (ATLS) มาใช้ในทุกโรงพยาบาลในประเทศไทย เพื่อยกระดับการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บให้มีประสิทธิภาพในสถานการณ์วิกฤต”
อ่านเพิ่มเติม

ตามรอยเชลยศึกออสเตรเลียไปยังช่องเขาขาดในประเทศไทย
โอกาสที่ต่อชีวิต: ทุนฝึกอบรมศัลยแพทย์ไทยในออสเตรเลีย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไมเคิล ฮอลแลนส์ อธิบายรายละเอียดของทุนฝึกอบรมนี้ว่าเป็นความร่วมมือกันจากทั้งสองราชวิทยาลัย โดยที่ฝ่ายออสเตรเลียสนับสนุนเรื่องทุนและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และฝ่ายไทยเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกผู้ที่ได้รับทุน
“ทุนนี้ได้รับเงินสนับสนุนเริ่มต้นจากรัฐบาลออสเตรเลีย 50,000 ดอลลาร์ และเปิดโอกาสให้ศัลยแพทย์ไทยจำนวนไม่เกิน 6 คนต่อปีเข้าร่วมอบรมด้านศัลยกรรมในโรงพยาบาลออสเตรเลียเป็นเวลา 4 เดือน โดยความร่วมมือระหว่าง RACS และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย (RCST)”
เมเดอลีน โกลังโค ผู้ประสานงานทุน กล่าวว่า
"เรามีโปรแกรมที่ช่วยทั้งด้านการเงินและการพัฒนาอาชีพ มีการสนับสนุนข้อมูลและความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อให้ช่วยให้ผู้รับทุนสามารถปรับตัวได้ในช่วงที่มาอยู่ต่างแดน"
ผู้ได้รับทุนกับภารกิจยกระดับระบบสุขภาพไทย
ตลอดเวลาเกือบ 40 ปี มีศัลยแพทย์ไทยได้รับทุนแล้วกว่า 100 คน ซึ่งหลายคนได้นำความรู้กลับไปยกระดับการดูแลผู้ป่วยและระบบสาธารณสุขของไทย
เช่น การตั้งระบบดูแลผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน การผลักดันกฎหมายสวมหมวกกันน็อก หรือ การตั้งระบบการตรวจมะเร็งเต้านมในพื้นที่ส่วนภูมิภาคของไทย

นพ.เหมือนเทพ โฉมวิลัยลักษณ์ ศัลยแพทย์คนล่าสุดที่ได้รับทุน The Weary Dunlop – Boonpong Exchange fellowship Credit: The Royal Australasian College of Surgeons, RACS)
ในประเทศไทย การผ่าตัดหัวใจในเด็กยังไม่ทัดเทียมกับต่างประเทศ การได้มาเปิดหูเปิดตาในระบบสาธารณสุขของออสเตรเลีย ช่วยให้ผมเห็นแนวทางที่สามารถนำกลับไปพัฒนาระบบผ่าตัดในบ้านเราได้"นายแพทย์เหมือนเทพ โฉมวิลัยลักษณ์
เขายังเน้นย้ำถึงความสำคัญของเครือข่าย (connection) ที่ได้จากทุนนี้
"นอกจากตัวเรา ทีมพยาบาลหรือเพื่อนร่วมงานในไทยก็สามารถใช้เครือข่ายของเราไปเรียนรู้ต่อในต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก"
เมื่อถามถึงความหวังในอนาคต เขากล่าวว่า
"ผมอยากเห็นวงการศัลยแพทย์ของไทยทัดเทียมระดับโลก ให้ผลการรักษาเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล แม้จะต้องใช้เวลา แต่ผมเชื่อว่าสักวันเราจะยืนหยัดได้อย่างภาคภูมิ"
เขาฝากข้อความสำหรับศัลยแพทย์รุ่นใหม่ว่า
"ผมเคยลังเลเพราะมีครอบครัวและไม่อยากเปลี่ยนแปลง แต่พอได้มาแล้วก็ได้อะไรกลับไปเยอะมาก ทั้งเป้าหมาย ความสุข และไฟในการทำงาน อยากให้ทุกคนกล้าก้าวออกมารับโอกาสนี้"
เมตตาท่ามกลางสงคราม- บทเรียนที่ยังส่องสว่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฮอลแลนส์ สะท้อนถึงบทเรียนของสงคราม การสูญเสีย ความช่วยเหลือและมิตรภาพ จนถึงการก่อกำเนิดโครงการทุนแลกเปลี่ยนที่สามารถต่อชีวติคนอีกนับล้านว่า
"There are lessons to be learnt from war… what shines is our basic humanity."
"สงครามสอนบทเรียนให้ใคร่คิด
ในเพลิงพิษยังมีแสงแห่งศรัทธา
สิ่งที่เด่นเกินใดในชีวา
คือเมตตาแห่งมนุษย์ไม่สิ้นไป"
ติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่ หรือ และ
เรื่องราวที่น่าสนใจ

ภารกิจช่วยเหลือนกค็อกคาทูดำที่ใกล้สูญพันธุ์ของชาวออสเตรเลีย