เสียงจากคนรุ่นใหม่ชุมชนไทย สะท้อนอนาคตการเมืองออสเตรเลีย

UN Youth

การเลือกตั้งระดับสหพันธรัฐของออสเตรเลียในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนรุ่น Millennial และ Gen Z จะมีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากกว่ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์ Source: Getty / BIANCA DE MARCHI/AAPIMAGE

ฟังความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่ของชุมชนไทยว่า นโยบายใดมีผลต่อการลงคะแนนของพวกเขาและในฐานะคนรุ่นใหม่ที่กำชะตาการเมืองออสเตรเลีย พวกเขาอยากเห็นออสเตรเลียเป็นแบบใดในอนาคต


การเลือกตั้งระดับสหพันธรัฐของออสเตรเลียในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนรุ่น (Millennial) และ เจน ซี/แซด (Gen Z) จะมีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากกว่ากลุ่มเบบีบูมเมอร์

คำถามสำคัญคือเสียงของคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนหน้าตารัฐบาลชุดใหม่ได้หรือไม่?

คนรุ่นใหม่วันนี้เติบโตขึ้นท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายทั้งวิกฤตค่าครองชีพ ปัญหาค่าเช่าบ้านที่พุ่งสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและโอกาสทางสังคมอื่นๆ ที่เข้าถึงได้ยากขึ้น

ในประวัติศาสตร์การเมืองออสเตรเลีย พรรคที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นรัฐบาลมักสลับกันระหว่างพรรคแรงงาน (Labour Party) และพรรคร่วมระหว่างพรรคเสรีนิยมและพรรคชาตินิยม (Liberal-National Coalition)

ชาวออสเตรเลียรุ่นใหม่จะลงคะแนนเสียงให้ใคร

ข้อมูลจาก ) ระบุว่าตลอดประวัติศาสตร์การเลือกตั้งออสเตรเลียตั้งแต่ปีค.ศ.1987 ถึง 2022 ฐานเสียงของพรรคแรงงานมักเป็นกลุ่มคนอายุน้อยในขณะที่ผู้ที่ลงคะแนนให้พรรคร่วมมักเป็นกลุ่มที่มีอายุเยอะกว่า

ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2022 ชี้ว่ากลุ่มเจน ซี/แซด หรือผู้ที่เกิดหลังปีค.ศ.1996 ลงคะแนนให้กับพรรคร่วมเพียงร้อยละ 26 และลงคะแนนให้พรรคแรงงานและพรรคกรีนส์ (Australian Greens) ถึงร้อยละ 67

นอกจากนี้ความนิยมในหมู่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแต่ละเพศก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย ผลการเลือกตั้งปี 2022 ชี้ให้เห็นว่าพรรคแรงงงานได้รับคะแนนจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพศหญิงร้อยละ 36 และร้อยละ 32 จากเพศชาย

ในขณะที่พรรคร่วมได้รับคะแนนจากเพศชายถึงร้อยละ 38 และร้อยละ 32 จากเพศหญิง

QUT GARDENS POINT STOCK
ปัญหาในสังคมที่กระทบกับคนรุ่นใหม่เช่น ปัญหาค่าครองชีพ และที่อยู่อาศัย ทำให้พวกเขาเริ่มเปลี่ยนอุดมคติทางการเมือง Source: AAP / JONO SEARLE/AAPIMAGE
ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 1996 สถิติจาก AES บ่งชี้ว่าผู้หญิงลงคะแนนเสียงให้พรรคแรงงานในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยทางสังคมต่างๆ เช่น ผู้หญิงมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น

และผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานในจำนวนที่มากขึ้นทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับนโยบายที่เพิ่มความเท่าเทียมทางเพศ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคแรงงานนั้นมีสมาชิกเพศหญิงถึงร้อยละ 46.8 แตกต่างจากสัดส่วนสมาชิกเพศหญิงของพรรคร่วมที่มีเพียงร้อยละ 21.4 หลังจากการเลือกตั้งสหพันธรัฐครั้งล่าสุดในปี 2022

ปัญหาเศรษฐกิจสังคม...ตัวแปรของการเลือกตั้ง?

อย่างไรก็ตามในปีนี้ กระแสเริ่มเปลี่ยนผลโพลล่าสุดโดย ดร.ลูค มันซิโล จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ชี้ว่าคนรุ่นใหม่ (อายุ 18–49 ปี) ยังคงสนับสนุนพรรคแรงงานเป็นหลักแต่ความนิยมต่อพรรคใหญ่ทั้งสองกลับลดลง

ขณะที่พรรคเล็กและผู้สมัครอิสระได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งพ้องกับบทวิเคราะห์ในบทความของ ABC ที่ชี้ว่าปัญหาในสังคมที่กระทบกับคนรุ่นใหม่เช่น ปัญหาค่าครองชีพและที่อยู่อาศัย ทำให้พวกเขาเริ่มเปลี่ยนอุดมคติทางการเมือง

ข้อมูลจากองค์กรบริการสุขภาพและสวัสดิการของรัฐบาลสหพันธรัฐ (Australian Institute of Heath and Welfare : AIHW ) ระบุว่าคนในช่วงอายุ 30-34 ปีในออสเตรเลีย

ตอนนี้กลายเป็นคนกลุ่มแรกในรอบเกือบ 50 ปี ที่ส่วนใหญ่ “ไม่สามารถมีบ้านเป็นของตัวเอง”

ดร.ราเชล วิฟอร์จ นักวิจัยจาก Curtin University กล่าวกับ ABC ว่า การมีบ้านเคยเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการเติบโต เป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคง แต่พอไม่มีมันคนอายุน้อยเหล่านี้จึงรู้สึกเหมือนถูกพรากความหวังในอนาคตไป
มันไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่มันกระทบถึงความรู้สึกและตัวตนของคนหนุ่มสาว
ดร.ราเชล วิฟอร์จ
คุณ เกรซ วอเตอร์ส์-ฮิวจ์ส นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย RMIT ที่เธอบอกว่าเธอจะลงคะแนนให้พรรคแรงงานเพราะหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาค่าครองชีพได้ เปิดเผยให้เอสบีเอสไทยฟังว่า

“ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดตอนนี้ก็คือวิกฤตที่อยู่อาศัย ฉันอยู่บ้านเช่าร่วมกับเพื่อนผู้หญิงอีกสามคนที่ถนนไลกอนฉันต้องทำงานสองที่เพื่อให้พอจ่ายค่าเช่า สัปดาห์ละ 275 ดอลลาร์ ยังไม่รวมบิลอะไรทั้งนั้น"

"ถึงแม้จะทำงานสองที่แต่สุดท้ายเหลือเงินแค่ 8 ดอลลาร์ในกระเป๋า ฉันรู้สึกว่าฉันทำงานหนักมากแต่สุดท้ายพอสิ้นสัปดาห์ ก็แทบไม่เหลืออะไรเลย”

ไค โบวี่ นักศึกษาจาก University of Melbourne วัย 20 ปี ผู้เป็นประธานชมรมพรรคร่วม (Melbourne University’s Liberal Club) เชื่อว่าพรรคร่วมจะนำความเปลี่ยนแปลงมาให้ออสเตรเลียในการเลือกตั้งครั้งนี้

“ผมอยากเห็นความมั่นคงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพด้านที่อยู่อาศัย เสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจที่มั่นคง และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว” ไคให้ความเห็น

เกวินทุ วิกรามานะยากะ สมาชิกชมรมพรรคร่วมจากมหาวิทยาลัยเดียวกันกล่าวว่าหากพรรคร่วมขึ้นมาเป็นรัฐบาลในสมัยถัดไป เขาอยากเห็นพรรคที่เขาเลือกใช้เงินภาษีเพื่อเพิ่มงบประมาณรักษาความมั่นคงแห่งชาติ

“ถ้าหากออสเตรเลียไม่มีความมั่นคงด้านการทหาร ไม่สามารถปกป้องตัวเองจากภัยคุกคามจากนานาชาติได้ เราก็สร้างเศรษฐกิจที่เติบโตหรือที่อยู่อาศัยที่มั่นคงไม่ได้อยู่ดี” เกวินทุกล่าว

เสียงจากคนรุ่นใหม่ชาวไทยในออสเตรเลีย

เอสบีเอสไทย ได้พูดคุยกับกลุ่ม First Voters คนไทยในออสเตรเลียที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรก หรืออยู่ในช่วงอายุ 18–44 ปี ถึงมุมมองและความคาดหวังของพวกเขาในการเลือกตั้งครั้งนี้

หนิง สมาชิกชุมชนไทยในซิดนีย์ กล่าวว่าการตัดสินใจเลือกพรรคใดนโยบายและประวัติของผู้สมัครเป็นสิ่งสำคัญ

“หลัก ๆ เลยก็ดูนโยบายและประวัติผู้สมัครว่าเรียนหรือทำงานอะไรมาบ้าง"
ประเด็นสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องว่าพรรคไหนช่วยเหลือประชาชนได้และมีนโยบายที่เอื้อต่ออาชีพเราด้วย
หนิง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจากนครซิดนีย์
เธอยังเสริมว่านอกจากนี้นโยบายสิ่งแวดล้อมก็เป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ

“บางพรรคใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องโลกร้อนแต่พรรคกรีนส์มีนโยบายที่เน้นลดการพึ่งพาถ่านหินอาจตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากกว่า”

เติ้ล จากเมลเบิร์น ให้ความเห็นคล้ายกันคือการให้น้ำหนักกับประเด็นเศรษฐกิจและค่าครองชีพ เช่นเดียวกับ โอม เจ้าของธุรกิจจากนครซิดนีย์

“สนใจเรื่องค่าครองชีพถ้ามีนโยบายที่ช่วยลดภาระผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางก็จะน่าสนใจ อีกประเด็นคือสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข”

“เราเป็นเจ้าของกิจการก็ต้องดูนโยบายเศรษฐกิจเพราะตอนนี้ค่าใช้จ่ายสูงพอๆ กับรายได้”
OMM Thai Voter edited.jpg
โอม ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกและเป็นเจ้าของธุรกิจจากซิดนีย์ให้ความเห็นว่าประเด็นเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ Credit: Sira Sonrach

ในแง่นโยบายคนเข้าเมือง หนิงเห็นว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ต้องมองให้รอบด้านเพราะอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและออสเตรเลียยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ

“ต้องมองรอบด้านประเทศยังต้องพึ่งพาชาวต่างชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจถ้าเข้มงวดเกินไป อาจกระทบต่อเศรษฐกิจ”

เติ้ลเสริมว่า

“หลายพรรคโยงนักเรียนต่างชาติว่าเป็นเหตุบ้านเช่าแพงแต่ส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นต้นเหตุหลักและควรมีแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืนมากกว่านี้”

รัฐบาลเสียงข้างน้อย = ทางเลือกใหม่?

ฌอน แรตคลิฟฟ์ นักรัฐศาสตร์จาก Accent Research กล่าวกับเอสบีเอสนิวส์ว่า

“กลุ่มอายุ 18–49 ปี เริ่มหันหลังให้พรรคใหญ่และสนับสนุนแนวคิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยมากขึ้น"

โดยร้อยละ 60% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกลุ่มอายุ 18–34 ปี และร้อยละ 58% ของกลุ่ม 35–49 ปี เห็นว่ารัฐบาลที่ไม่มีพรรคใดครองอำนาจเบ็ดเสร็จอาจจะดีกว่า

เติ้ลมองประเด็นนี้ว่า
คนรุ่นใหม่กล้าที่จะเปลี่ยน ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมถ้านโยบายไหนตรงใจและทำได้จริง คนก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อความก้าวหน้า
เติ้ล สมาชิกชุมชนไทยในนครเมลเบิร์น
อุ้ย จากนครเมลเบิร์น ให้มุมมองอีกด้านว่า

“ระบบที่ไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากมีผลดีเพราะเกิดการตรวจสอบที่เข้มงวดสมัยที่มีรัฐบาลลักษณะนี้ ในสมัยรัฐบาลกิลลาด (Gillard) จะเห็นว่ามี Productivity สูงสุดในประวัติศาสตร์ ทั้งด้านนโยบายและกฎหมายที่ผ่านรัฐสภา”

OUI Thai Voter edited.jpg
อุ้ย ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจากเมลเบิร์นชี้ว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยมีข้อดีหลายด้าน Credit: Oui Piyachat
คนรุ่นใหม่ในออสเตรเลียกำลังส่งสัญญาณถึงความต้องการ “การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” ที่มอบความมั่นคงในชีวิต พร้อมกับแนวนโยบายที่ตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและความเท่าเทียมทางสังคม

ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นบททดสอบสำคัญว่า ระบบการเมืองแบบเดิมจะสามารถปรับตัวเพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่ได้หรือไม่

หรือจะต้องเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนจากคลื่นลูกใหม่ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองออสเตรเลียไปอย่างสิ้นเชิง

ติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่ หรือ และ

Share