อัตรามะเร็งผิวหนังยังพุ่ง วิจัยชี้วัยรุ่นกลุ่มเสี่ยงสุด เหตุเทรนด์โซเชียลมีเดีย

Australia Explained - Skin Cancer

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าแนวโน้มอัตรามะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย (ฉลากบนขวดโลชั่นเป็นการออกแบบขึ้นเพื่อประกอบฉากเท่านั้น) Credit: wragg/Getty Images

จากการศึกษาพบว่า ในหนึ่งช่วงชีวิต สองในสามของชาวออสเตรเลียได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งผิวหนัง ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาทุก ๆ หกชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าแนวโน้มอัตรามะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ที่ส่งเสริมพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น


Slip, Slop, Slap! เป็นคำขวัญรณรงค์เรื่องมะเร็งผิวหนังของออสเตรเลียที่เปิดตัวในปี 1981 ที่เปิดตัวมาพร้อมกับนกนางนวล Sid ตัวละครขวัญใจคนดู ที่ออกมาร้องเพลงเตือนให้ทุกคนระวังอันตรายจากรังสียูวี

ผ่านไป 44 ปี [[มกราคม 2025]] แม้เพลงจะยังจำได้ติดหู แต่จากผลการศึกษาของ Cancer Council ร่วมกับสำนักงานสถิติออสเตรเลีย (ABS) พบว่า เนื้อหาสระหลักของการรณรงค์นี้ เริ่มเลือนหาย

ศาสตราจารย์แอนน์ คัสต์ นักระบาดวิทยาและประธานคณะกรรมการมะเร็งผิวหนังแห่งชาติ เผยว่า ขณะนี้จำเป็นต้องเร่งปรับแผนการสื่อสารให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามไปไกลกว่านี้ ศาสตราจารย์แอนน์ คัสต์ เปิดเผยว่า

"ในปีที่ผ่านมา หนึ่งในห้าของชาวออสเตรเลียวัยรุ่นพยายามอาบแดดเพื่อให้ผิวแทน แต่มีตัวเลขราวครึ่งหนึ่งของคนออสซี่กลุ่มนี้ ที่มีการป้องกันแสงแดดอย่างมีประสิทธิภาพ"

แนวโน้มนี้น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยปีนี้คาดว่าจะมีผู้ป่วยเมลาโนมากว่า 16,800 คน เฉลี่ยแล้วมีผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งผิวหนังทุก ๆ 30 นาที

คำถามคือ คนรุ่น Gen Z ได้รับความรู้เรื่องการป้องกันแสงแดดอย่างดี แล้วทำไมคนรุ่นใหม่ในออสเตรเลียถึงยังไม่ทำตามคำแนะนำเหล่านั้น?

“กลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนด้วยผลลัพธ์ระยะสั้น ถ้าฉันอาบแดด ฉันดูดี รู้สึกดี และคนรอบข้างก็ชม ส่วนผลกระทบในอีก 35 ปีข้างหน้า มันเป็นเรื่องในอนาคต” ดร.สตีเฟน แดนน์ อธิบาย

ด้านศาสตราจารย์จอร์จินา ลอง เจ้าของรางวัล Australian of the Year ปี 2024 และนักวิจัยมะเร็งผิวหนังระดับแนวหน้าของโลก แสดงความกังวลต่อกฎระเบียบโฆษณาในโลกออนไลน์ของออสเตรเลีย

เธอชี้ว่า อินฟลูเอนเซอร์ไม่สามารถโปรโมตผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF ได้ แต่พวกเขากลับสามารถ นำเสนอสินค้าที่ยังไม่มีการพิสูจน์คุณสมบัติทางเภสัชกรรม เช่น ครีมเร่งผิวแทน ในช่องทางโชเชียลมีเดีย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ผู้ติดตาม

ดร.สตีเฟน แดนน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ชี้ว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ "โซเชียลมีเดีย" ที่ยังคงส่งเสริมค่านิยมผิวแทนในหมู่วัยรุ่น

“ผู้คนทาครีมเร่งผิวแทนก่อนอาบแดดเพื่อให้ได้ผิวแทนเร็วขึ้น แต่นั่นคืออันตราย มันคือสารก่อมะเร็ง คำถามคือเราควรมีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้หรือไม่? เราควรเปิดโอกาสให้มีโฆษณาครีมกันแดดที่มีคุณภาพดีได้หรือไม่? เพราะตอนนี้ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้โฆษณาไม่ได้” ศ.จอร์จินา ลอง ตั้งคำถาม


ตั้งแต่ปี 2022 หน่วยงาน TGA ของออสเตรเลียห้ามการรีวิวหรือรับรองสินค้าที่อ้างสรรพคุณทางการแพทย์หรือสุขภาพในโซเชียลมีเดีย ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์กันแดดและวิตามิน

กฎนี้ครอบคลุมแม้แต่คำบรรยายคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF ซึ่งส่งผลให้แบรนด์ไม่สามารถโปรโมตครีมกันแดดได้อย่างเปิดเผย

ดร.สตีเฟน แดนน์ มองว่ากฎซึ่งตั้งใจเพื่อปกป้องผู้บริโภค อาจกำลังส่งผลในทางตรงกันข้าม

“ตอนนั้นรัฐบาลห่วงเรื่องอาหารปนเปื้อน หรือการโฆษณายารักษาโรคที่ไม่มีทางรักษาได้จริง แต่ครีมกันแดดกลับโดนหางเลข มันเป็นนโยบายที่ดี แต่มีการบังคับใช้ผิดวัตถุประสงค์ ” ดร.แดนน์อธิบาย

ขณะที่เทรนด์บน TikTok อย่าง แฮชแทค #sunburnttanlines มียอดเข้าชมทะลุ 200 ล้านครั้ง เทรนด์นี้ทำให้ องค์กรด้านโรคมะเร็ง (Cancer Council) จึงเปิดตัวแคมเปญ เพื่อต่อสู้กับค่านิยมผิวแทน

โดยมีอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังชาวออสเตรเลีย 6 คน เข้าร่วมแคมเปญในเดือนมีนาคม 2025 ด้วยการงดออกแดด เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ผิวแทน และส่งเสริมให้แฟนคลับหลบแดดแทน

เทลา บรอด หนึ่งในผู้ร่วมแคมเปญ เผยว่า แรงจูงใจของเธอมาจากประสบการณ์ตรง เมื่อเห็นคนใกล้ตัวต้องเผชิญกับโรคมะเร็งผิวหนัง

“เราทุกคนควรตระหนักว่าค่านิยมผิวแทน สร้างผลเสียได้มากแค่ไหน ซึ่งรวมไปถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ผิวแทน เรามาร่วมกันตั้งคำถามว่า…ทำไมเราถึงเชื่อว่าการมีผิวแทนคือความสวย”

ศาสตราจารย์แอนน์ คัสต์ มองเห็นความย้อนแย้งที่เกิดขึ้น เมื่อเทรนด์ผิวแทนกลับเฟื่องฟูในโลกออนไลน์ที่ขับเคลื่อนด้วยอุดมคติความงาม ทั้งที่แท้จริงแล้ว มันอาจนำไปสู่ภัยสุขภาพในระยะยาว

“รังสียูวีจากแสงแดดมีหลายชนิด UVA ทำให้ผิวแก่ก่อนวัย ส่วน UVB เป็นสาเหตุหลักของอาการผิวไหม้แดด เพราะฉะนั้นถ้าคุณห่วงเรื่องความสวย การหลบแดดคือทางเลือกที่ดีกว่า” ศ.จอร์จินา ลอง อธิบาย

suntan-melanoma_aap.jpg
องค์กรด้านโรคมะเร็ง ( Cancer Council ) จึงเปิดตัวแคมเปญ End the Trend เพื่อต่อสู้กับค่านิยมผิวแทน
ศ.ลอง คือผู้นำด้านการวิจัยการรักษามะเร็งผิวหนังด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งช่วยให้โรคจากที่เคยอันตรายถึงชีวิตในปี 2010 มาเป็นโรคที่มีโอกาสรักษาหายมากกว่า 50% ในปัจจุบัน

ศ.จอร์จินา ลอง อธิบายถึงการปฏิวัติการรักษามะเร็งผิวหนังตั้งแต่ช่วงปี 2010 ว่า

“เซลล์มะเร็งจะส่ง ‘สัญญาณจับมือ’ กับระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดว่า ‘นี่คือเพื่อน เป็นครอบครัว ไม่ต้องฆ่า’ แต่ยาต้านจุดตรวจภูมิคุ้มกัน (checkpoint inhibitors) เป็นยากลุ่มหนึ่งที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง จะไปขัดขวางการจับมือนั้น เปิดทางให้เซลล์ T เข้าจัดการฆ่าเซลล์มะเร็งเมลาโนมาได้”

แม้การรักษาจะก้าวไกล แต่ศ.ลอง และผู้เชี่ยวชาญทั่วออสเตรเลียยังย้ำว่า

การป้องกันคือการรักษาที่ดีที่สุด และการป้องกันลำดับถัดไปคือการตรวจผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ
ศาสตราจารย์ จอร์จินา ลอง

ศ. ลองแนะนำว่า คุณสามารถประเมินความเสี่ยงมะเร็งผิวหนังของคุณได้ที่เว็บไซต์

“คุณสามารถประเมินได้ว่า คุณมีความเสี่ยงระดับไหน เช่น ผู้หญิงที่เติบโตในรัฐนิวเซาท์เวลส์จะมีความเสี่ยงเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3 ฟังดูเหมือนน้อย แต่จริง ๆ แล้วกลับไม่ใช่เช่นนั้น เพราะที่จริงแล้ว สำหรับโรคมะเร็ง การมีความเสี่ยงตลอดชีวิตที่สูงถึง 3% ถือว่าไม่ต่ำเลย และนั่นคือความเสี่ยงเฉลี่ยของผู้หญิงทั่วไปในรัฐนี้เท่านั้น”

ติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่ หรือ และ


Share

Recommended for you