เกรท โอเชียน โรด: มรดกที่ยืนยงของทหารแอนแซก

Daniel Toohey

Returned serviceman Sergeant Major Daniel Toohey helped to build the Great Ocean Road. Source: Supplied/The Story of the Road

รำลึกวันแอนแซก (ANZAC) กับประวัติศาสตร์การก่อสร้างเส้นทางสาย Great Ocean Road ซึ่งถือเป็นอนุสรณ์ของสงครามและทหารหาญออสเตรเลีย ที่ยังคงถูกใช้งานมาจนปัจจุบัน


ถนนเลียบชายฝั่งทะเลสาย Great Ocean Road ในรัฐวิกตอเรีย เป็นเส้นทางสายหนึ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของออสเตรเลีย ที่มีทิวทัศน์สวยงามติดอันดับโลก

แต่การก่อสร้างเส้นทางสายนี้ เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของเหล่าทหารออสเตรเลียที่กลับจากการสู้รบ เส้นทางสายนี้จึงถือเป็นอนุสรณ์สงคราม ที่หลงเหลือมาจนปัจจุบันและยังคงถูกใช้งานกันอยู่อย่างยืนยาวที่สุดเส้นทางหนึ่งด้วย

เนื่องในโอกาส วันอนุสรณ์ทหารผ่านศึกออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ หรือวันแอนแซก (ANZAC) 25 เมษายน สารคดีโทรทัศน์ชุดใหม่ของเอสบีเอส ได้เปิดเผยถึงเรื่องราวเบื้องหลังวีรบุรุษสงคราม ที่เดินทางกลับบ้าน เพื่อก่อสร้างเส้นทางที่เป็นมรดกตกทอดอันน่าทึ่งสายนี้

กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

เรื่องราวของ แดเนียล เจอรัล ทูอีย์ (Daniel Gerald Toohey) ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นเรื่องราวอันน่าทึ่งของความกล้าหาญและการมีชีวิตรอดกลับมาได้

เขาถูกเกณฑ์เป็นทหารเมื่ออายุ 29 ปี โดยมาจากเมืองเครสวิกค์ ในรัฐวิกตอเรีย และเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่ยกพลขึ้นบกที่แหลมกัลลิโพลิ (Gallipoli) ในวันที่ 25 เมษายน 1915 เขาได้รับบาดเจ็บในบ่ายวันนั้นเอง โดยถูกยิงที่หัวไหล่

คุณทรอย ทูอีย์ ผู้เป็นเหลนของเขาเล่าว่า เมื่อแดเนียล ทูอีย์ ออกจากโรงพยาบาลได้ไม่นาน เขาก็ไปร่วมรบอีก โดยครั้งนี้ เขาได้รับเหรียญกล้าหาญ มิลิทารี ครอสส์ (Military Cross) จากการสู้รบอย่างนองเลือดที่แนวรบด้านตะวันตกที่โฟรเมลล์

“เขาได้ออกไปยังพื้นที่อันตราย และเชื่อว่าได้ช่วยเหลือทหารคนอื่นๆ 25 คนภายในเวลา 3 คืน เขาแอบออกไปหลังพลบค่ำ เข้าไปยังพื้นที่อันตราย และลากทหารพวกนั้นกลับมาเพื่อรับการรักษา” คุณทรอย ทูอีย์ ผู้เป็นเหลน เล่า

จ่าสิบเอก ทูอีย์ กลายเป็นหนึ่งในทหารไม่กี่คนที่ได้ร่วมอยู่ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบ

“อาจมีทหารกลุ่มเล็กๆ ที่รอดชีวิตผ่านพ้นความน่าสะพรึงกลัวตลอดช่วงสงคราม และคุณอาจเดาได้ว่ามีเรื่องของดวงด้วยที่ทำให้พวกเขาผ่านมาได้ตลอดรอดฝั่งและรอดชีวิตจนได้กลับบ้าน” คุณทรอย ทูอีย์ กล่าว

แต่การรับใช้ประเทศของจ่าสิบเอก ทูอีย์ ไม่ได้สิ้นสุดแค่นั้น

หลังเดินทางกลับถึงออสเตรเลียหลังสิ้นสุดสงคราม เขาได้รับเลือกให้ทำงานก่อสร้างสิ่งที่ถือเป็นความสำเร็จทางวิศวกรรมอย่างหนึ่ง นั่นคือถนนสาย เกรท โอเชียน โรด (Great Ocean Road) ที่ลัดลดคดเคี้ยวไปตามชายฝั่งทะเลที่เต็มไปด้วยหินผาทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐวิกตอเรีย
ถนนสายเกรท โอเชียน โรด ที่ก่อสร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 1
ถนนสายเกรท โอเชียน โรด ที่ก่อสร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 Source: Pixabay
คุณปีเตอร์ สปริง จากสมาคมประวัติศาสตร์แห่งเมืองลอร์น กล่าวว่า เส้นทางสายดังกล่าวนี้เป็นแนวคิดของ นายโฮเวิร์ด ฮิตช์คอกซ์ ที่ขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการของเมืองจีลอง

“เขาเห็นโอกาสที่จะสร้างถนนเพื่อให้การขนส่งเดินทางมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของวิกตอเรีย และยังเป็นโอกาสให้ทหารซึ่งกลับจากสงครามอีกด้วย เขาจึงได้นำแนวคิดนี้มาผสมผสานกัน” คุณสปริง อธิบาย

ดร.แคตที วิลเลียมส์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่าอนุสรณ์สถาน ที่เป็นเส้นทางความยาว 243 กิโลเมตรสายนี้ มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ด้านสงครามของออสเตรเลีย

“หนึ่งในเหตุผลที่สิ่งเหล่านี้สำคัญยิ่งคือ ร่างของทหารที่เสียชีวิตไม่ได้ถูกนำกลับบ้าน ร่างของพวกเขายังคงถูกฝังอยู่ในต่างประเทศ และกรณีเหล่านั้นจำนวนมาก ไม่เคยได้พบร่างของทหารเหล่านั้นเลย” ดร.วิลเลียมส์ กล่าว

เรื่องราวของถนนสายเกรท โอเชียน โรด ที่ร้อยเรียงเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของวันแอนแซก หรือวันอนุสรณ์ทหารผ่านศึกออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ได้ถูกถ่ายทอดลงในสารคดีโทรทัศน์ชุดใหม่ของ เอสบีเอส ซึ่งผลิตโดยบริษัทโคลท์สไลน์ คอนเทนต์ (Clothesline Content)

คุณดัก สเตอร์ลิง ชาวเมืองลอร์น ซึ่งทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ปรากฎตัวในสารคดีนี้ด้วย

อดีตทหารวัย 96 ปีผู้นี้ ได้ใช้เวลาหลายปีติดตามเรื่องราวของทหารผ่านศึกที่ได้เดินทางกลับบ้าน พร้อมกับเรื่องราวอันน่าสะพรึงกลัวของเหตุการณ์ในสนามเพลาะ แต่กลับนำพาชีวิตของตนไปตกอยู่ในอันตรายอีกครั้งในการก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเลที่เต็มไปด้วยอันตรายรอบด้าน

“ชายเหล่านี้ที่ทำงานก่อสร้างถนนสายเกรท โอเชียน โรด นั้นภูมิใจกับความพยายามของพวกเขาอย่างมาก เพราะพวกเขารู้ดีว่าถนนสายนี้จะถูกมองเป็นอนุสรณ์ของทหารออสเตรเลีย เพื่อนพ้องที่พวกเขาทิ้งไว้เบื้องหลัง ที่ไม่มีชีวิตรอดกลับมา มันลงเอยด้วยการถูกเรียกว่าเป็นอนุสรณ์สงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และยืนยาวที่สุดในโลก” คุณดัก สเตอร์ลิง ทหารผ่านศึก กล่าว

คุณปีเตอร์ สปริง กล่าวว่า ความทรงจำของเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัวในแนวรบด้านตะวันตกยังคงไม่จางหาย แต่การก่อสร้างถนนก็ก่อให้เกิดความทรมานใจร่วมกันของทหารผ่านศึกที่ได้กลับบ้าน

ผู้ที่ดูแลการก่อสร้างพบว่าทหารไม่สามารถทนกับการใช้วัตถุระเบิดได้ เพราะมันนำความทรงจำที่ปวดร้าวมากมายกลับมาในใจพวกเขา และเพราะพวกเขาจำนวนมากยังคงทุกข์ทรมานอยู่จากอาการช็อกจากระเบิด” คุณสปริง เล่า
ถนนสายเกรท โอเชียน โรด เปรียบเหมือนอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงทหารผ่านศึกชาวออสเตรเลีย ที่ยังคงถูกใช้งานมาจนปัจจุบัน
ถนนสายเกรท โอเชียน โรด เปรียบเหมือนอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงทหารผ่านศึกชาวออสเตรเลีย ที่ยังคงถูกใช้งานมาจนปัจจุบัน Source: Pixabay
โดยเฉพาะเนื่องจากสภาพการก่อสร้างเส้นทางที่อันตราย ซึ่งไม่แตกต่างจากอันตรายในสนามรบ

คาดว่ามีทหารผ่านศึกอย่างน้อย 3,000 คนที่ทำงานก่อสร้างถนนสายนี้

แต่มีเพียงแค่ 400 คนเท่านั้น ที่มีชื่อปรากฎให้ผู้คนได้รู้

ดร.แคตที วิลเลียมส์ หวังว่า สารคดีชุด "สตอรี ออฟ เดอะ โรด" (Story of the Road) จะกระตุ้นให้ลูกหลานของทหารผ่านศึกเหล่านั้นก้าวออกมาเปิดเผยเรื่องราวของพวกเขา

“ถนนสายเกรท โอเชียน โรด ถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มของทหารและพลเรือนผสมกัน และพวกเขามีค่าควรแก่การจดจำ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการคือ การได้รู้ว่าชายหนุ่มเหล่านี้นั้นเป็นใคร ชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร พวกเขามาจากไหนกันบ้าง พวกเขาทำอะไรมาก่อนหน้านี้” ดร.วิลเลียมส์ กล่าว

สำหรับ คุณทรอย ทูอีย์ นั้น เพิ่งสัปดาห์ก่อนนี้เองที่เขาได้รู้ว่า แดน ทูอีย์ ปู่ทวดของเขาเป็นผู้คุมการก่อสร้างคนหนึ่งของโครงการ

"ผมเคยขับรถไปบนถนนสายนั้นมาแล้วเป็นล้านครั้งได้มั้ง และมันเป็นถนนสายที่น่าทึ่งมาก แต่ผมไม่รู้เลยว่าปู่ทวดของผมได้มีส่วนสร้างคุณประโยชน์ต่อถนนสายนั้น มันเป็นความรู้สึกที่พิเศษสุด ที่ได้รู้ในตอนนี้" คุณทรอย ทูอีย์ เผย

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

คนไทยในออสฯ เล่าพิษสงเชื้อมัจจุราชโควิด-19


Share