ประเด็นที่น่าสนใจในพอดคาสต์
- ยาต้านไวรัสชนิดรับประทานคืออะไร ลดการป่วยจากโควิดได้มากเพียงไร
- ใครมีสิทธิ์ได้รับยาต้านไวรัสเมื่อติดเชื้อโควิดในออสเตรเลีย
- ขอรับยาต้านไวรัสได้อย่างไร
- ก่อนติดเชื้อคนกลุ่มเสี่ยงควรพูดคุยกับแพทย์ล่วงหน้าในประเด็นใดบ้างเกี่ยวกับยาต้านไวรัส
พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ทั่วไป (จีพี) ในเมลเบิร์น เปิดเผยว่า รัฐบาลออสเตรเลียเพิ่งเริ่มให้แพทย์จีพีสั่งยาต้านไวรัส (antiviral) ให้คนไข้ที่ติดเชื้อโควิดได้ตั้งแต่ราวกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และจากการพูดคุยกับคนไข้ที่เคยได้รับยาพบว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
“ยาได้ผลค่อนข้างดี คนไข้ส่วนใหญ่พอทานยาปุ๊บ อาการหายเร็วมาก แล้วก็หายป่วยเร็ว” คุณหมอคนไทยในเมลเบิร์นผู้นี้กล่าว
คนไข้ส่วนใหญ่พอทานยาปุ๊บ อาการหายเร็วมาก แล้วก็หายป่วยเร็วพญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด
แม้จะมียาต้านไวรัสสั่งจ่ายให้ผู้ติดเชื้อโควิดที่มีความเสี่ยงป่วยหนักนำไปรับประทานที่บ้านได้ แต่คุณหมอกล่าวว่า จากหลายปัจจัยทำให้ คนไข้ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามียาต้านโควิดให้รับประทานที่บ้านได้ในออสเตรเลีย อีกทั้งบางคนไม่ได้แจ้งผลการตรวจเชื้อที่เป็นบวกไปยังเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์จึงลดโอกาสในการได้รับยาต้านไวรัส
“คนไข้หลายๆ คนพอเจอว่าติดโควิดโดยการตรวจ RAT test (การตรวจด้วยชุดตรวจเชื้อด้วยตนเอง) ที่บ้าน แต่ไม่ยอมรายงานไปยังหน่วยงานรัฐบาล (สาธารณสุข) จึงทำให้พลาดโอกาสในการรักษา หมอจึงย้ำว่า ถ้าเราพบว่าติดโควิด ก็ให้ติดต่อไปทางแพทย์จีพี หรือไปยังหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งอันนี้สำคัญมาก”
พอเจอว่าติดโควิดโดยการตรวจ RAT test ที่บ้าน แต่ไม่ยอมรายงานไปยังหน่วยงานรัฐบาล จึงทำให้พลาดโอกาสในการรักษาพญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด
ยาต้านไวรัส คืออะไร คุณหมออธิบายว่า
“ยาต้านไวรัส หรือ antiviral medication เป็นยาฆ่าเชื้อไวรัส ถึงแม้จะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ในการฆ่าเชื้อไวรัส แต่มีประสิทธิภาพในการลดการป่วยหนักหรือลดระยะเวลาในการเป็นโรคให้น้อยลง ซึ่งในออสเตรเลียมียาต้านไวรัสแบบรับประทาน ที่ใช้อยู่สองกลุ่มด้วยกันคือ ยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) และยาโมลนูพีราเวียร์ (Molnupiravir)”
คุณหมอกล่าวว่า ในออสเตรเลียนั้น ผู้ที่ถือว่าเป็นคนกลุ่มเสี่ยงจึงจะมีสิทธิ์ได้รับยานี้ โดยต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น
“คนกลุ่มเสี่ยง คือคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคทางปอด โดยอาจเป็นโรคหอบหือรุนแรง หรือโรคถุงลงป่องพอง มีโรคไต โดยอาจเป็นลักษณะไตวายเรื้อรัง คนที่เป็นมะเร็ง คนไข้เอชไอวี คนไข้ที่อยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ที่มีความพิการทุพพลภาพ คนที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน กลุ่มคนเหล่านี้นี้สามารถรับยาต้านไวรัสได้ นอกจากนี้ คนที่อายุ 70 ปีขึ้นไปทุกคนมีสิทธิ์รับยาต้านไวรัสได้ และคนอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวตามที่กล่าวข้างต้น มีสิทธิ์รับยาต้านไวรัสได้เช่นกัน”
พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ทั่วไป (จีพี) ในเมลเบิร์น Source: SBS / Tinrawat Banyat
“นับจากเวลาที่เรามีอาการภายใน 5 วัน เพราะฉะนั้นเรื่องเวลาสำคัญมาก ถ้าเรารู้ว่าเราติดโควิดจาก RAT test ควรติดต่อแพทย์จีพี หรือช่องทางที่เรารายงานการติดเชื้อโควิดออนไลน์ไปยังรัฐบาล ซึ่งเขาจะพูดคุยเพื่อดูว่าเราเป็นกลุ่มที่มีสิทธิ์รับยาต้านไวรัสได้หรือเปล่า”
ขณะนี้ รัฐบาลออสเตรเลียและแพทย์กำลังเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่มีสิทธิ์รับยาต้านไวรัส และคนกลุ่มเสี่ยงพูดคุยกับแพทย์จีพีของตนล่วงหน้าเกี่ยวกับยาต้านไวรัส โดยไม่ต้องรอให้ติดเชื้อเสียก่อน สำหรับคุณหมอศิราภรณ์เอง ก็ส่งเสริมเรื่องนี้อย่างมาก
ต้องมีการพูดคุยกับหมอล่วงหน้า เวลาเราป่วย เราก็แค่โทรไปบอกหมอจีพี จีพีเขาได้วางแผนทุกอย่างไว้แล้วและรู้ว่าเราสามารถทานยากลุ่มไหนได้ ก็จะมีการสั่งยาได้ทันท่วงทีพญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด
“ปัจจุบันหมอก็รณรงค์ให้คนไข้ที่เขามีสิทธิ์ได้รับยา โดยแจ้งเขาว่าถ้าติดเชื้อให้รีบติดต่อมาที่หมอทันที เพราะจะได้จ่ายยาได้ทันท่วงที ต้องกินยาภายใน 5 วันหลังจากมีอาการ และอีกประเด็นที่ต้องคุยกับแพทย์คือยาที่เราทานอยู่ เนื่องจากยาแพ็กซ์โลวิดใช้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพสูง แต่มี drug interaction คือถ้าเราทานยา (ตัวอื่น) คู่กัน มันอาจส่งผลร้ายต่ออวัยวะบางส่วนในร่างกายได้มากขึ้นหรือลดประสิทธิภาพของยาตัวอื่น จึงต้องมีการพูดคุยกับหมอล่วงหน้า เวลาเราป่วย เราก็แค่โทรไปบอกหมอจีพี จีพีเขาได้วางแผนทุกอย่างไว้แล้วและรู้ว่าเราสามารถทานยากลุ่มไหนได้ ก็จะมีการสั่งยาได้ทันท่วงที”
สำหรับประเด็นที่บางคนมีอาการป่วย แต่ไม่อยากตรวจเชื้อ หรือพบผลการตรวจเชื้อด้วยตนเองเป็นบวก แต่ไม่อยากแจ้งสาธารณสุข เพราะไม่อยากกักตัว คุณหมอศิราภรณ์ฝากถึงเรื่องนี้ว่า
“คนที่ติดโควิดในช่วงนี้ หมอมักเห็นว่าเขามีอาการค่อนข้างมากกว่าตอนที่คนติดในช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมา เพราะเป็นเชื้อสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเราตรวจแล้วเรารู้ เราก็มีสิทธิ์ได้รับการรักษา ดีกว่าที่ไม่ตรวจแล้วเราไม่รู้ แต่โรคเราร้ายแรงมากขึ้น เรามีโอกาสที่จะเป็นหนัก และสุดท้ายเราจะได้รับการรักษาที่ไม่ทันท่วงที โอกาสที่เราจะได้ทานยาในช่วง 5 วันแรก ก็จะพลาดไป ถ้าเรามีอาการ เราจึงควรตรวจเชื้อ เพื่อประโยชน์ของตัวเองในการได้รับการรักษา”
“คนที่ติดโควิด แต่ไม่ตรวจเชื้อ แล้วออกไปข้างนอก เราก็มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อไปหาคนอื่น ซึ่งมีคนในชุมชนที่มีความเสี่ยงที่เมื่อติดโควิด เขาอาจป่วยหนักหรือตายได้ จึงส่งผลส่วนบุคคลและส่วนรวมด้วย”
เราตรวจแล้วเรารู้ เราก็มีสิทธิ์ได้รับการรักษา ดีกว่าที่ไม่ตรวจแล้วเราไม่รู้ และพลาดโอกาสที่เราจะได้ยาในช่วง 5 วันแรกพญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด
พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด ยังได้ชี้แจงประเด็น ถ้ารับประทานยาต้านไวรัสไม่ทันภายใน 5 วันแรกหลังติดเชื้อ ยังมีแนวทางรักษาอื่นๆ อย่างไร สำหรับสตรีมีครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตร ถ้ามีความเสี่ยงป่วยหนักจากโควิด จะรับยาต้านไวรัสได้หรือไม่ และถ้าไม่ได้อยู่คนกลุ่มเสี่ยง แต่มีอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อ จะมีโอกาสรับยาต้านไวรัสได้หรือไม่
คลิก ▶ เพื่อฟังบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม
กด ▶ เพื่อฟังสัมภาษณ์
พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด ย้ำว่าในออสเตรเลียนั้น ผู้ที่อายุ 70 ปีขึ้นไปทุกคนและผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างมีสิทธิ์รับยาต้านไวรัสไปกินที่บ้านได้เมื่อติดโควิด แต่ที่สำคัญต้องรับยาให้ทันภายในกำหนด จะรับยาต้านไวรัสอย่างไร ยาเหล่านี้มีประสิทธิภาพเพียงไร คุณหมอไขข้อข้องใจในประเด็นเหล่านี้
SBS Thai
17/08/202219:13
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ออสเตรเลียอนุมัติใช้ 2 ยาต้านโควิดชนิดรับประทาน