กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงานเรื่องนี้
ปัจจุบันในออสเตรเลีย อายุขั้นต่ำของเยาวชนที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมคือ 10 ปี กฎหมายข้อนี้ยังจะมีผลบังคับใช้ต่อไปอย่างน้อยอีก 1 ปี เนื่องจากองค์กรกฎหมายสูงสุดของประเทศได้ตัดสินใจเลื่อนการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการเพิ่มอายุของผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชนออกไป
นาย มาร์ค สปีคแมน อัยการสูงสุดของรัฐนิวเซาท์เวลส์ เปิดเผยว่าสภาอัยการสูงสุดยังไม่มีความเห็นแน่ชัดในเรื่องนี้ เขากล่าวว่า
“ผมคิดว่ามันยังเป็นเรื่องที่คลุมเครือในการที่จะเพิ่มอายุเยาวชนที่รับโทษเป็น 14 ปี โดยไม่มีเหตุผลในการละเว้นการรับโทษ เรายังคงให้น้ำหนักในการเห็นด้วยกับเรื่องนี้อยู่ แต่เหตุผลที่ว่าทำไมถึงมีการเลื่อนการพิจารณา ก็เพราะว่าถ้าประชาชนต้องการที่จะให้เราพิจารณาในการเพิ่มอายุในการรับโทษพวกเขาก็สามารถเรียกร้องได้”
สถิติผู้ต้องขังเยาวชนในออสเตรเลีย
ข้อมูลที่อ้างอิงจากสถาบัน Australian Institute of Health and Welfare พบว่าปีที่ผ่านมามีเยาวชนอายุระหว่าง 10-13 ปี จำนวน 600 คนถูกคุมขัง และมากกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนนี้เป็นเยาวชนชาวอะบอริจินหรือเกาะทอเรส สเตรท และเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติทั่วประเทศพบว่า เยาวชนชาวพื้นเมืองมีอัตราการถูกคุมขังมากกว่าเยาวชนที่ไม่ใช่ชาวพื้นเมืองถึง 17 เท่าด้วยกัน โดยเฉพาะในเขตปกครองพิเศษ Northern Territory ตัวเลขนี้สูงถึง 43 เท่า
คุณ ชานลินา มัคส์ หัวหน้าทนายความผู้ที่มีเชื้อสายลาร์ลาเคีย จากศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนให้ความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรม
“มันไม่เกี่ยวกับว่าเด็กๆ ชาวอะบอริจินจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมมากกว่าเด็กเชื้อสายอื่น แต่มันเป็นเรื่องที่มีปัจจัยในระบบมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความอคติและการเลือกปฏิบัติในกระบวนการใช้ระบบยุติธรรม”
ผลกระทบจากการถูกคุมขังต่อเยาวชนอายุน้อย
ด้าน ดร. มิค ครีติ กุมารแพทย์และโฆษกของคณะแพทย์ศาสตร์ของ The Royal Australasian College of Physicians มีการศึกษาทางการแพทย์ยืนยันว่าการคุมขังเด็กอายุ10ปีนั้น จะส่งผลเสียกับเด็กผู้นั้น เขาอธิบายว่า
“การศึกษาวิจัยทางประสาทวิทยาชี้ว่าการที่สมองของมนุษย์นั้นยังไม่พัฒนาเต็มที่จนกระทั่งอายุ 25 ปี แต่ตอนนี้เราลงโทษเด็กที่มีหลักฐานทางวิทยาศาตร์ยืนยันแน่ชัดว่าสมองของพวกเขายังไม่เติบโตเต็มที่เลยด้วยซ้ำ”
นอกจากนั้น ดร. มิค ครีติ ชี้ว่าเยาวชนเหล่านี้อาจทนทุกข์กับประสบการณ์เจ็บปวดจากภาวะเจ็บช้ำทางจิตใจหรือมีภาวะพิการที่คล้ายกับทารกในครรภ์ที่ได้รับแอลกอฮอล์ เขาให้ความเห็นว่า
“เรามีตัวเลือกที่ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าขึ้นอยู่กับว่าเราจะเห็นเด็กเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงและจัดการกับพวกเขาในกรอบของเด็กที่มีความเสี่ยงหรือไม่ หรือเราจะเห็นว่าพวกเขาเป็นอาชญากร”
ผลกระทบระยะยาวจากการถูกคุมขัง
จากผลการวิจัยพบว่าเมื่อเยาวชนอายุน้อยเหล่านี้ ถูกคุมขังครั้งหนึ่งแล้ว เด็กหลายๆ คนจะกลับมาติดคุกอีก คุณ โรซานนา มัวร์ จากศูนย์ให้คำปรึกษากฎหมายแก่ชนพื้นเมืองและเกาะทอเรส สเตรท กล่าวว่า
“เมื่อเยาวชนเหล่านี้ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเมื่ออายุยังน้อย มันก็ดูเหมือนมีความเป็นไปได้สูงว่าพวกเขาจะกลับมารับโทษคุมขังอีกครั้ง เพราะฉะนั้นแล้วมันอาจเป็นเหมือนกับการตัดสินจำคุกตลอดชีวิตของพวกเขา”
เสียงเรียกร้องจากประชาชนให้แก้ข้อกฎหมายนี้
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่เหล่านักเคลื่อนไหว ทนายความและบุคลากรทางการแพทย์ได้ออกมาเรียกร้องให้แก้ข้อกฎหมายเพิ่มอายุเยาวชนที่ต้องโทษคุมขัง
และเรียกร้องให้สภาอัยการแผ่นดินแห่งออสเตรเลียใช้โอกาสในการประชุมในวันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาเพื่อแก้ไขกฎหมายเพิ่มอายุเยาวชนที่ต้องโทษจาก 10 ปี เป็น 14 ปี โดยหนึ่งในนั้นเป็นผู้ที่มีเป็นผู้ที่เคยมีประสบการณ์ตรงกับตัวเอง
คุณ คีนัน มันดีน เป็นผู้หนึ่งที่เดินเข้าออกเรือนจำมาแล้วกว่าครึ่งชีวิตของเขา เขาเติบโตมาท่ามกลางความยากจน และเขาสูญเสียทั้งพ่อและแม่ไปตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เขาเล่าว่า
“เด็กชายตัวน้อยๆที่ซ่อนภายในตัวผมหวังแค่ที่ใดที่หนึ่งที่ปลอดภัย มีอาหารในตู้เย็น มีไฟฟ้าใช้ และมีครอบครัว”
เขาย้ายออกจากครอบครัวและชุมชนของเขาเมื่ออายุ14 และถูกจับในข้อหาขโมยของเมื่อเขาอายุได้ 14
“และนั่นมันก็คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้อย่างยาวนานของผมกับเรื่องอาชญากรรม ยาเสพติด สุขภาพจิต และผมติดอยู่ในวังวนนี้มากกว่าครึ่งชีวิต”
ปัจจุบัน คุณ คีนัน มูนดีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำโครงการ charge for change และเขาได้นำข้อเรียกร้องของเขาไปร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติเมื่อ2ปีที่แล้ว เขาเปิดเผยว่า
“สภาอัยการแผ่นดินควรจะสั่งการให้รัฐบาลในรัฐต่างๆ ในออสเตรเลียเปลี่ยนกฎหมายให้เพิ่มอายุเยาวชนที่ต้องรับโทษ เด็กๆ ชาวพื้นเมืองควรได้รับในสิ่งที่ผมไม่เคยได้ นั่นก็คือความเท่าเทียมและอิสรภาพ”
จากประสบการณ์ที่เขาได้รับ การเรียกร้องให้แก้ข้อกฎหมายนี้เป็นสิ่งที่คุณ คีนัน มูดีน ต้องการทำให้สำเร็จลุล่วง
“เราสามารถเยียวยาไปด้วยกันได้และเราสามารถเยียวยาเด็กๆ เหล่านั้นได้และปล่อยให้พวกเขาเติบโตเป็นคนที่เขาต้องการจะเป็น อย่ากำหนดว่าพวกเขาจะเป็นใครหรือไม่สามารถเป็นใครที่เขาต้องการ”
ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ
การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080
รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
พบผู้ติดโควิด 1 ใน 4 ไม่ยอมอยู่บ้านในวิกตอเรีย