Settlement Guide: ร้อนนี้ระวังคลื่นความร้อนและผิวไหม้แดด

bay on beach

Mother and child on a beach Source: Getty Images/ArtMarie

ออสเตรเลียเพิ่งได้พบกับช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนที่สุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้ปรากฏการณ์ลานีญาอาจทำให้ช่วงฤดูร้อนในปีนี้มีฝนตกมากขึ้น ด้านสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียคาดอิทธิพลคลื่นความร้อนปกคลุมออสเตรเลียอีกนาน เตือนประชาชนระวังปัญหาด้านสุขภาพจากแสงแดดและความร้อน


ประเด็นสำคัญ

  • จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ พบว่า มีชาวออสเตรเลียจำนวนมาก เสียชีวิตในวันที่มีอากาศร้อนจัด มากกว่าภัยธรรมชาติชนิดอื่น ๆ
  • สำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย คาดว่า ฤดูร้อนชื้นที่ยาวนานในปีนี้ อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพได้
  • ตัวเลขจากแผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาลของรัฐวิกตอเรีย ในช่วงปี 2018-2019 พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้รับบริการที่ประสบกับภาวะผิวไหม้แดดนั้นเป็นเด็ก

แม้ว่าออสเตรเลียจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่อากาศร้อนที่สุดในฤดูร้อนนี้ไปแล้ว แต่ ดร.แอนดรูว์ วัตกินส์ (Dr. Andrew Watkins) หัวหน้าส่วนปฏิบัติการบริการสภาพภูมิอากาศ ของสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย คาดว่า แม้อิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานีญา ที่ทำให้สภาพอากาศนั้นเย็นลง ออสเตรเลียจะยังคงพบกับคลื่นความร้อนไปตลอดช่วงฤดูร้อนนี้ 

ดร.วัตกินส์ กล่าวว่า ฤดูร้อนในปีนี้จะไม่ร้อนเหมือนกับปี 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีที่ออสเตรเลียมีอาการร้อนที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกมา  

“อากาศอาจไม่ร้อนอย่างรุนแรงเหมือนที่ผ่านมาเมื่อ 2-3 ปีก่อน โดยเฉพาะเมื่อปีที่แล้ว แต่ช่วงเวลาที่อากาศร้อนอาจกินเวลายาวนาน และอาจมีความชื้นสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ที่จะมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพของมนุษย์” ดร.วัตกินส์ กล่าว

คลื่นความร้อน และมะเร็งผิวหนัง

คุณนิก แบงส์ (Nick Banks) ผู้จัดการส่วนบริการฉุกเฉินของสภากาชาด ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย กล่าวว่า ผู้คนควรใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ในช่วงเวลาที่อากาศร้อนในช่วงฤดูร้อนนี้ ขณะที่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า อิทธิพลของคลื่นความร้อนนั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต

“ผู้คนส่วนมากไม่ทราบว่า มีคนจำนวนมากในออสเตรเลียเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนมากกว่าภัยธรรมชาติอื่น ๆ เช่น อุทกภัย ไฟป่า หรือพายุไซโคลน ความร้อนนั้นส่งผลกระทบกับทุกคน แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ตกอยู่ในความเสี่ยงมากกว่าใคร นั่นก็คือผู้สูงอายุ ผู้หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้มีความพิการ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว และผู้ที่ต้องใช้ยารักษาโรค” คุณแบงส์ กล่าว 
flip flops australian flag beach towel
Source: Getty Images/Tracey Dee
คุณแบงส์ ได้กระตุ้นให้ผู้คนสังเกตผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ในการเตรียมรับมือกับวันที่มีอากาศร้อน

“มันอาจเป็นเรื่องง่าย ๆ อย่างการตั้งจุดให้ร่มเงาที่อาจทำจากผ้าร่ม หรือผ้าผืนเก่า ๆ เพื่อปกป้องบ้านของพวกเขาจากแสงแดด และรักษาอุณหภูมิภายในบ้านให้เย็น โทรหาพวกเขา หรือส่งข้อความเพื่อดูว่าพวกเขาเป็นอย่างไรในวันที่อากาศร้อนจัด และทำให้แน่ใจว่าพวกเขาดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด” คุณแบงส์ กล่าว 

คุณแบงส์ แนะนำว่า น้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มแนะนำในการป้องกันร่างกายจากภาวะขาดน้ำ

“แม้ว่าคุณจะไม่รู้สึกกระหายที่จะดื่มน้ำเปล่า คุณก็ควรที่จะดื่มน้ำ ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะน้ำเปล่านั้นดีที่สุดในการทำให้คุณไม่ขาดน้ำ” คุณแบงส์ กล่าว

นพ.วอร์วิก ทีค (Dr Warwick Teague) ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉินจากโรงพยาบาลรอยัลชิลเดร็น (Royal Children Hospital) ในนครเมลเบิร์น กล่าวว่า โรคลมแดดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากอวัยวะภายในร่างกายจะเริ่มได้รับผลกระทบจากความร้อน และนำไปสู่เหตุฉุกเฉินทางการแพทย์   

สัญญาณของโรคลมแดด

  • อ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเร็ว
  • หายใจถี่
  • เวียนศีรษะ
  • กล้ามเนื้อหดเกร็ง
  • พูดลำบาก หรือพูดไม่ชัด
  • มีปัญหาในการเคลื่อนไหว
  • มีพฤติกรรมผิดแปลก รวมถึงพฤติกรรมรุนแรง
  • มีอาการสับสน
bushwalking Australia
Source: Getty Images
ผู้ที่เป็นลมแดดจะมีสัญญาณชีพจรเร็ว เนื่องจากหัวใจเต้นเร็วขึ้น บางครั้งพวกเขาอาจหายใจถี่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า สมองของพวกเขากำลังได้รับความทุกข์ทรมาน พวกเขาอาจพูดลำบาก หรือพูดไม่ชัด และอาจมีปัญหาในการขยับร่างกาย หรือแสดงอาการในลักษณะผิดแปลก ซึ่งบางกรณีอาจเป็นพฤติกรรมที่รุนแรง และอาจรู้สึกสับสน และในบางกรณีอาจสั่นเทาจากอาการชัก และอาจหมดสติ” นพ.ทีค กล่าว

นพ.ทีค กล่าวว่า ถ้าคุณสังเกตเห็นใครสักคนแสดงอาการของโรคลมแดด มีหลายสิ่งที่คุณทำได้ก่อนที่รถพยาบาลจะมาถึง

สิ่งที่คุณทำได้

  • นำผู้ที่มีอาการเข้าไปอยู่ในที่ร่มและเย็น
  • ให้จิบเครื่องดื่นเย็น แต่ไม่เย็นจนเกินไป
  • ถอดเสื้อผ้าออก
  • ทำให้ผิวเปียกชื้นด้วยผ้าขนหนูหรือฟองน้ำ
  • ใช้พัดลมเป่าเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย
“พาพวกเขาไปอยู่ในที่ร่มและเย็น หากเป็นไปได้ ให้พวกเขาจิบเครื่องดื่มเย็น แต่ไม่เย็นจนเกินไป คุณอาจถอดเสื้อผ้า ทำเสื้อผ้าให้เปียก หรือใช้ฟองน้ำชุบน้ำและพัดลม เพื่อช่วยให้อุณหภูมิร่างกายของพวกเขาเย็นลง” นพ.ทีค กล่าว

แม้สภาพอากาศอาจไม่ร้อนจนเป็นอันตราย แต่ คุณคริส แม็คมิลลัน จากสภามะเร็งควีนส์แลนด์ (Cancer Council Queensland) กล่าวว่า ผู้คนควรที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของซันสมาร์ท (SunSmart) เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวของคุณเกรียมไหม้จากแสงแดด

“สิ่งที่ทำให้หลายคนสับสน นั่นคือการไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสรังสียูวีและอุณหภูมิเช่นเดียวกับความร้อน เราจะรู้ถึงการสัมผัสรังสียูวี ก็ตอนที่ระดับรังสีเกินขีดอันตราย หากรังสียูวีเกินระดับ 3 นั่นจะทำให้ผิวหนังของคุณถูกทำลาย อย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการที่ผิวหนังไหม้แดด และถ้าหากผิวถูกทำลายต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ก็อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งผิวหนังคุณแม็กมิลลัน กล่าว

5 ขั้นตอนของ SunSmart:

  • Slip: ใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมผิวหนังให้มากที่สุด เช่น เสื้อแขนยาว
  • Slop: ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 30 ขึ้นไป และสามารถป้องกันรังสียูวีได้ในวงกว้าง หากเป็นครีมกันแดดชนิดกันน้ำ ควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง
  • Slap: สวมหมวกป้องกันแดด
  • Seek: อยู่ในร่มเงาหากเป็นไปได้
  • Slide: สวมใส่แว่นกันแดดเพื่อปกป้องดวงตา
ออสเตรเลีย ขึ้นชื่อในเรื่องของมะเร็งผิวหนังในระดับโลก มีชาวออสเตรเลียมากกว่า 11,500 คนได้รับการตรวจพบมะเร็งผิวหนังในแต่ละปี

นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า การสัมผัสกับรังสียูวีเป็นเวลานานในช่วงชีวิตนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังของชาวออสเตรเลียอย่างน้อย 2 ใน 3 ก่อนที่พวกเขาจะมีอายุถึง 70 ปี ไม่ว่าพวกเขาจะมีสภาพผิวแบบใดก็ตาม

คุณแม็กมิลลัน กล่าวว่า ผู้คนควรปฏิบัติตาม 5 ขั้นตอนของซันสมาร์ท ที่เรียกว่า “slip slop slap seek and slide” ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวออสเตรเลียได้เรียนรู้ในการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

“สวมใส่เสื้อแจ็คเก็ตหรือเสื้อแขนยาว หรืออะไรก็ตามที่ปกป้องผิวหนังคุณได้ ทาครีมกันแดดอย่างน้อย 20 นาทีก่อนที่จะใส่เสื้อผ้าทับ สวมใส่แว่นกันแดด เพราะผู้คนส่วนมากลืมไปว่าแสงแดดนั้นสามารถทำลายดวงตาได้ และอยู่ในร่มเมื่อเป็นไปได้” คุณแม็กมิลลัน กล่าว

ภาวะผิวไหม้แดดในเด็ก

ข้อมูลจากแผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาลรัฐวิกตอเรีย ได้แสดงให้เห็นว่า จำนวนของผู้ที่มารับบริการฉุกเฉินในโรงพยาบาลเนื่องจากผิวไหม้แดด ในช่วงปี 2018 – 2019 นั้น กว่าครึ่งหนึ่งเป็นเด็ก มันเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ นพ.ทีค ได้พบในประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยจากภาวะผิวไหม้แดด
babe drinking water on the beach
Source: Getty Images/ArtMarie
“มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในเด็ก เนื่องจากร่างกายของพวกเขาตัวเล็กกว่า อีกทั้งยังได้รับและสูญเสียความร้อนง่ายกว่า ผิวหนังของพวกเขาบางกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งทำให้ผิวไหม้แดดได้ง่ายและรุนแรงกว่า” นพ.ทีค กล่าว 

“มันเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะกำหนดกิจกรรมของตนเอง รวมถึงการดื่มของเหลว โดยไม่ได้รับการกระตุ้นหรือแรงจูงใจจากผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัว ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้เราพบเห็นเด็ก ๆ จำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากภาวะผิวไหม้แดด และต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาล”

นพ.ทีค กล่าวอีกว่า นอกจากการทาครีมกันแดดในปริมาณที่เหมาะสมก่อนออกแดดอย่างน้อย 20 นาทีแล้ว ทุกคนควรที่จะทาซ้ำอีกครั้งบ่อย ๆ เพื่อให้ได้รับการปกป้องจากรังสียูวีที่มีความรุนแรง  

“ผิวของคุณสามารถไหม้แดดได้ในเวลาเพียง 15 นาที นั่นทำให้คุณต้องเตรียมตัวและระวังไม่ให้ผิวของคุณไหม้แดด ทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง และอาจต้องทาบ่อยกว่านั้น หากคุณทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน หรือเมื่อใช้เวลาอยู่ในน้ำ” นพ.ทีค กล่าว 


สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SunSmart ไปที่เว็บไซต์ของ ที่ cancer.org.au

นอกจากนี้ คุณยังสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อตรวจสอบระดับรังสียูวีในพื้นที่ที่คุณอยู่อาศัย จากเว็บไซต์ หรือ

หากคุณ หรือใครก็ตาม ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โปรดโทรไปที่หมายเลข 000 โดยทันที


รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share