“ลูคินา ลูคิน” เจ้าแม่ทูน่าคนไทยคนแรกแห่ง Port Lincoln

Lukina at her farm.jpg

คุณ ลูคินา ลูคิน (ตุ๊ก) เจ้าของและประธานบริหารบริษัทฟาร์มและผลิตภัณฑ์ทูน่าในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย Credit: Supplied

คุณ ลูคินา ลูคิน (ตุ๊ก) เจ้าของและประธานบริหารบริษัทฟาร์มทูน่าและผลิตภัณฑ์ทูน่าในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย เล่าประสบการณ์การเข้ามาบริหารงานต่อจากสามีที่เสียชีวิต และต้องฟื้นฟูหนี้กว่า 30 ล้านดอลลาร์ เธอทำอย่างไรจนได้มายืนแถวหน้าในวงการทูน่าในออสเตรเลีย


คลิก ▶ ด้านบนเพื่อฟังพอดคาสต์


คุณ ลูคินา ลูคิน (ตุ๊ก) เจ้าของและประธานบริหาร บริษัทฟาร์มและผลิตภัณฑ์ทูน่าในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย เล่าให้เอสบีเอสไทยฟังว่ากว่าเธอจะมายืนแถวหน้าในวงการทูน่าในออสเตรเลียนั้นไม่ง่าย

หลังจากที่สามีที่เป็นเจ้าของบริษัทเสียชีวิตลง คุณลูคินาผู้ซึ่งไม่เคยคาดคิดว่าวันหนึ่งตนเองจะต้องขึ้นมากุมบังเหียนบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานหลายร้อย แต่เพราะอยากจะสานต่อชื่อเสียงบริษัทที่สามีบุกเบิกแก่วงการทูน่าออสเตรเลียไว้ คุณลูคิน่าจึงตัดสินใจก้าวขึ้นมาบริหารบริษัทท่ามกลางคำปรามาสว่าแค่ปีสองปี เธอคงจะต้องขายบริษัททิ้ง

“สามีที่เสียชีวิตไป เค้าคือคนแรกที่มีไอเดียลากอวน เอาปลาทูน่าจากธรรมชาติมาเลี้ยงในฟาร์ม แต่พอสามีเสียไป เราคิดว่าอยาก keep his legacy เลยตัดสินใจจะทำต่อ”

Lukina working 1.jpg
คุณ ลูคินา ลูคิน (ตุ๊ก) เป็นผู้หญิงคนแรกที่นั่งในเก้าอี้ผู้บริหารบริษัทฟาร์มทูน่าชั้นนำของออสเตรเลีย Credit: Supplied

อุตสาหกรรมฟาร์มทูน่ามีแต่ผู้ชายมาตลอด จริงๆ เค้าก็ไม่อยากให้เราอยู่ มีเสนอว่าจะซื้อทุกอย่างของเรา เค้าไม่ให้เราอยู่ในวงการนี้ มีคนเคยบอกว่าให้เวลา 2 ปี คุณก็จะไปไม่รอด แต่เราก็ทำมาแล้ว 13 ปี
คุณ ลูคินา ลูคิน (ตุ๊ก) เจ้าของและประธานบริหาร บริษัทฟาร์มและผลิตภัณฑ์ทูน่าในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย

ไม่เพียงแต่ต้องเอาชนะความไม่เชื่อมั่นของคนในวงการทูน่าแล้ว คุณตุ๊กยังต้องเผชิญกับการกู้คืนบริษัทจากหนี้กว่า 30 ล้านดอลลาร์ ที่สามีทิ้งไว้ด้วย คุณตุ๊กตัดสินใจชนกับปัญหาโดยการประนีประนอมหนี้

“พอปีที่ 2 หลังจากสามีเสียชีวิตเริ่มมีหลายเรื่อง มีการขึ้นศาล ช่วงที่มีปัญหานี่เรานอนไม่หลับ 3 วัน3 คืน ถ้าเมื่อก่อนมีคนมาบอกว่านอนไม่หลับแบบนี้ จะไม่เชื่อ แต่ตอนนี้เราเข้าใจเลย มีการขายทรัพย์สินไปเยอะ หนี้ก็ประมาณ 32 ล้านดอลลาร์ เราตัดสินในเปลี่ยนธนาคาร คุยกับธนาคารเพื่อลดหนี้”


นอกจากต้องพยายามใช้หนี้แล้ว ขณะเดียวกันคุณตุ๊ก ก็ลงทุนแก้ไขปรับปรุงสิ่งต่างๆในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเครื่องมือจับปลา เทคโนโลยีห้องเย็น สิ่งเหล่านี้มีการลงทุนสูงแต่คุณตุ๊กเชื่อมั่นว่าสิ่งที่จะได้กลับคืนมาจะคุ้มค่า

Lukina with products.jpg
คุณ ลูคินา ลูคิน (ตุ๊ก) เจ้าของและประธานบริหารบริษัทฟาร์มและผลิตภัณฑ์ทูน่าในออสเตรเลียกับตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของบริษัท Credit: Supplied

“สมัยสามีอยู่เค้าใช้อวนไนลอนในฟาร์ม แล้วมันจะมีแมวน้ำเข้ามากัดปลาทำให้ปลาตาย หรือถ้าไม่ตายก็โดนกัดที่ท้อง ซึ่งเวลาเราเอาไปขายราคาจะตก ในแต่ละปีเราเสียปลาไปเกือบ 60 ตัน พี่เลยตัดสินใจเปลี่ยนอวนหมดเลย ปีแรกที่เปลี่ยนเราเสียปลาไปแค่ 56 ตัว รายได้มันก็เพิ่มเข้ามาตรงนี้”

“ อีกเรื่องหนึ่งคือห้องเย็นซึ่งมันเก่าแล้ว ติดตั้งไว้ตั้งแต่ปี 1983 ทุกปีเราเสียค่า maintenance ปีละครึ่งล้าน เราเลยตัดสินใจขอกู้ธนาคารเปลี่ยนเครื่องใหม่หมด ซึ่งหลังจากนั้นเราไม่เสียค่าบำรุงอะไรเลย แล้วยังประหยัดไฟฟ้าด้วย”

คุณตุ๊ก เปิดเผยว่าการบริหารงานกับคนงานจำนวนมาก บางครั้งอาจมีทั้งเสียงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สิ่งที่เธอทำคือเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความเห็น ทดลองทำ

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเปิดโอกาสในการพูดคุยกัน เธอกล่าวว่าพนักงานของเธอเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในบริษัทเพราะพวกเขาเป็นคนที่ทราบปัญหาในการทำงานดีที่สุด การเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความเห็นจะทำให้บริษัทได้จัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที

“สิ่งที่เรามีความภูมิใจมากที่สุดคือคนงานของเรา เพราะว่าการดำเนินธุรกิจในออสเตรเลีย การเป็นเจ้านายต้องทำให้เค้ายอมรับให้ได้ เราได้ยินบ่อยๆ ว่ามีเราเป็นหัวหน้าแล้วเค้าแฮปปี ทำให้เค้าทำงานง่ายขึ้น มีความสุขในการทำงานมากขี้น”

ผู้หญิง ภาษา อุปสรรค?

การที่คุณตุ๊กไม่ใช่คนออสเตรเลียตั้งแต่กำเนิด และภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแรก มันทำให้การบริหารงานยากขึ้นหรือไม่ คุณตุ๊ก เปิดเผยว่า การเป็นคนมาจากต่างประเทศมีข้อดีคือทำให้เรามีวิสัยทัศน์ต่างออกไป มีความยืดหยุ่นในการทำงาน และเปิดโอกาสในการรับฟังความเห็นของคนอื่นมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อดีในการทำงาน

ส่วนเรื่องภาษา คุณตุ๊กชี้ว่าอย่าอายที่จะกล้าพูด กล้าถาม หากคุณสามารถสื่อสารให้คนฟัง ติดต่อการค้าธุรกิจต่างๆ ได้ด้วยตนเองถือว่าคุณมีความเชี่ยวชาญในภาษานั้นเพียงพอแล้ว และเรื่องสำเนียงภาษาไม่ใช่สิ่งสำคัญ

“การที่เรามาจากต่างประเทศ เราเป็นคนไทย บางครั้งมันทำให้ vision ของเราไม่เหมือนคนที่นี่ มีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นคนอื่นมากขึ้น"
เราอยู่ที่นี่มา 20-30 ปี ภาษาเราก็ยังไม่เหมือนเด็กๆ อย่างเราสำเนียงไม่ไป แต่ว่าอย่ากลัวว่าจะพูดผิด เราสามารถสื่อสารได้ ขายปลาได้ บอกลูกน้องได้ว่าเราต้องการอะไร ติดต่อธนาคารได้ คิดว่าก็โอเคแล้ว
คุณ ลูคินา ลูคิน (ตุ๊ก) เจ้าของและประธานบริหาร บริษัทฟาร์มและผลิตภัณฑ์ทูน่าในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย

ในอนาคต คุณตุ๊กวางแผนว่าอาจจะไม่ขยายขนาดของบริษัท แต่จะขยายผลิตภัณฑ์ไลน์ผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าของทูน่าแทนที่จะขายแต่เนื้ออย่างเดียว ซึ่งตอนนี้มีการดำเนินการไปแล้วบางส่วน


“ตอนนี้ก็มีจำหน่าย น้ำมันกุ้งสำหรับทำอาหารเพิ่มรสชาติกุ้ง เร็วๆ นี้จะมีผลิตภัณฑ์ทูน่าสเปรด ออกวางตลาดด้วย”

คุณตุ๊กบอกว่ามีเมนูทูน่าแซ่บๆ ที่อยากให้ทุกคนได้ลองคือ แกงเขียวหวานทูน่า และเธออยากลองทำไส้อั่วทูน่าในอนาคต

“ สามีที่เสียไปชอบมาก แกงเขียวหวานทูน่า ส่วนตัวอยากลองทำไส้อั่วทูน่า ซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก แนท มาสเตอร์เชฟ วันหนึ่งก็อยากลองเอาทูน่ามาทำไส้อั่วดู”

ฟังเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจของเจ้าแม่ทูน่าออสเตรเลีย คุณ ลูคินา ลูคิน ได้เต็มๆที่ :
LISTEN TO
Tuna boss interview podcast image

“ลูคินา ลูคิน” เจ้าแม่ทูน่าคนไทยคนแรกแห่ง Port Lincoln

SBS Thai

21/08/202430:06

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 



Share

Recommended for you