กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน
การลงประชามติเป็นการออกเสียง (vote) ระดับประเทศ เพื่อให้พลเมืองลงความเห็นต่อข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย
พลเมืองออสเตรเลียที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมีหน้าที่ในการลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้ง รวมถึงการลงประชามติด้วย ซึ่งการเลือกตั้งและการลงประชามติถือเป็นภาคบังคับของพลเมืองออสเตรเลียทุกคน
ในวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม คศ. 2023 ออสเตรเลียจะมีการลงประชามติ Indigenous Voice to Parliament หรือการให้เสียงของชนพื้นเมืองมีผลต่อรัฐสภา
คำถามของการลงประชามติในครั้งนี้คือ
ร่างกฎหมายที่นำเสนอ: การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองชนชาติแรกของออสเตรเลียโดยการจัดตั้งคณะกรรมการเสียงชนพื้นเมืองชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสคุณเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้หรือไม่?
ผู้ที่ไปลงคะแนนในการลงประชามติจะเลือกตอบว่า “เห็นด้วย (Yes)” หรือ “ไม่เห็นด้วย (No)” กับข้อเสนอเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญครั้งนี้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
การลงประชามติ วอยซ์ คืออะไร? และทำไมออสเตรเลียถึงทำ?
ข้อเสนอในการลงประชามติ Indigenous Voice to Parliament คืออะไร
เพิ่มข้อความต่อไปนี้ลงในรัฐธรรมนูญต่อจากหมวดที่ 8
หมวด 9 การรับรองชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส (Chapter IX Recognition of Aboriginal and Torres Strait Islander Peoples)
และการจัดตั้งคณะกรรมการเสียงชนพื้นเมือง (Aboriginal and Torres Strait Islander Voice) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ในการรับรองชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสในฐานะชนพื้นเมืองชนชาติแรกของออสเตรเลีย
(i) ต้องมีคณะกรรมการ ซึ่งจะเรียกว่า คณะกรรมการเสียงชนพื้นเมืองชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส
(ii) คณะกรรมการเสียงชนพื้นเมืองชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสนี้อาจแถลงข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสต่อรัฐสภาและฝ่ายบริหารแห่งเครือรัฐ
(iii) รัฐสภามีอำนาจภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในการตรากฎหมายในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการเสียงชนพื้นเมืองชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส ซึ่งรวมถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการ หน้าที่ อำนาจ และกระบวนการต่างๆ
ร่างกฎหมาย Indigenous Voice to Parliament นี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภาออสเตรเลียแล้ว และจากนี้ประชาชนออสเตรเลียจะเป็นผู้ตัดสินใจ
อย่างไรก็ตามการลงประชามตินี้มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้าน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ความคิดเห็นของชุมชนไทยกับการลงประชามติ Voice to Parliament
เหตุผลของฝ่ายสนับสนุนให้ออกเสียง Yes
ฝ่ายที่สนับสนุนให้ออกเสียงว่า Yes หรือเห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่เสนอนี้เห็นว่า หากร่างกฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนให้ผ่าน จะสามารถสร้างเอกภาพ ความหวัง และความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้แก่สังคมออสเตรเลียได้
นอกจากจะรับรองและรับฟังเสียงจากชนพื้นเมืองออสเตรเลียในเชิงกฎหมายแล้ว การมีคณะกรรมการเสียงชนพื้นเมืองจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น คณะกรรมการว๊อยส์จะสามารถให้คำปรึกษาแก่รัฐสภาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นเมืองออสเตรเลีย เพื่อประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การศึกษา และปรับปรุงบริการต่างๆ ให้เข้าถึงได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลงประชามติว๊อยซ์จะทำให้ “ปรองดองกับอดีตและก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่า”
ผู้สนับสนุนที่เห็นด้วยกับการออกเสียง Yes
คุณแพต แอนเดอร์สัน หนึ่งในสมาชิกคณะทำงานการลงประชามติว๊อยซ์เชื่อว่าการผ่านร่างกฎหมายให้มีคณะกรรมการว็อยซ์จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ดีขึ้น
“เมื่อเรานำคนที่เราตัดสินใจแทนเข้ามามีส่วนร่วม เราก็จะตัดสินใจได้ดีขึ้น และจัดสรรทรัพยากรทั้งหมดที่จำเป็นได้ดีขึ้น นี่เป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย”
คุณแพต แอนเดอร์สัน หนึ่งในสมาชิกคณะทำงานการลงประชามติว๊อยซ์กล่าว
คุณอ้อย ผู้สนับสนุนการลงประชามติ Indigenous Voice to Parliament เห็นว่าการแม้อดีตจะเกิดไปแล้ว แต่เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสร้างความเท่าเทียมและสามารถสร้างความปรองดองได้
“คือก็เข้าใจนะว่าบางคนก็จะคิดว่าอะไรที่มันเกิดไปแล้วในอดีต แต่ว่า ณ ปัจจุบันเราก็ควรที่จะพยายามทำอะไรก็แล้วแต่ให้ชนพื้นเมืองเค้ารู้สึกว่าเค้าได้รับการยอมรับ มีสิทธิ์ และก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ และทำให้ประเทศของเราเป็นหนึ่งเดียว”
คุณแตงโมเห็นว่าการมีคณะกรรมการว๊อยซ์ที่เป็นชนพื้นเมืองเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด เนื่องจากคณะกรรมการจะสามารถแนะนำรัฐสภาเรื่องที่เกี่ยวกับชนพื้นเมืองได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐบาลบอกว่าอยากจะออกนโยบายสนับสนุนคนไทย แต่ในคณะกรรมการไม่มีคนไทยอยู่ในนั้นเลย
"แม้ว่านโยบายนั้นจะส่งผลดีต่อคนไทยในภาพรวมมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เราในฐานะคนไทยที่อยู่ออสเตรเลีย เราก็จะรู้สึกว่า เราไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกนโยบายนี้”
รวมถึงย้ำข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการว๊อยซ์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ รัฐบาลออสเตรเลียจะยังคงเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่
คุณกอ (นามสมมติ) ทำงานด้านสุขภาพและเคยอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีชนพื้นเมืองเชื่อว่าการมีคณะกรรมการว๊อยซ์เปรียบเสมือนตัวแทนของหมู่บ้านและจะสามารถปรับปรุงสุขภาพของชนพื้นเมืองให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องโรคเบาหวาน
“บางครั้งเนี่ย เกี่ยวกับโรคเบาหวานมันก็รักษายาก ถ้ามีหน่วยงานเข้าไปให้ความรู้เค้า ตรงจุดๆ นี้ก็คงจะเป็นส่วนช่วยเรื่องสุขภาพให้คนพื้นเมืองดีขึ้นหน่อยค่ะ”
ผู้สนับสนุนให้ออกเสียง Yes กับผู้สนับสนุนให้ออกเสียง No เดินรณรงค์สนับสนุนแนวความคิดของทั้ง 2 ฝ่าย Source: AAP / DOMINIC GIANNINI / DOMINIC GIANNINI/AAPIMAGE
เหตุผลของฝ่ายที่สนับสนุนให้ออกเสียง No
ฝ่ายที่คัดค้านการผ่านร่างกฎหมายใหมีคณะกรรมการชนพื้นเมืองว๊อยซ์เห็นว่าสิ่งนี้จะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญครั้งสำคัญและจะมีผลกระทบเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่นอนว่าหากร่างกฎหมายนี้ผ่านแล้วจะมีขั้นตอนต่อไปอย่างไร รวมถึงสิ่งนี้เป็นการแบ่งแยกมากกว่าการปรองดอง
ผู้คัดค้านให้เหตผลว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดว่าการคัดเลือกสมาชิกคณะกรรมการว๊อยซ์จะทำอย่างไรและคณะกรรมการจะทำงานอย่างไร การมีคณะกรรมการว๊อยจะเป็นการแบ่งแยกเชื้อชาติมากกว่าจะสร้างความปรองดอง และเชื่อว่าสิ่งนี้จะก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบการปกครองและการร่างกฎหมายในอนาคต
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
การลงประชามติเรื่อง The Voice คืออะไรกันแน่?
ผู้สนับสนุนเห็นด้วยกับการออกเสียง No
“หากชาวออสเตรเลียทำไปแล้วมาเสียใจทีหลัง คณะที่ปรึกษา The Voice มาพร้อมกับนโยบายไม่รับคืน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะคงอยู่ตลอดไป”
ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ปีเตอร์ ดัตทัน ที่คัดค้านเรื่องการลงประชามติว๊อยซ์กล่าว
คุณเอ (นามสมมติ)คิดว่าการลงประชามติยังไม่มีความชัดเจนมากพอว่าการตั้งคณะกรรมการว๊อยซ์เป็นการแก้ปัญหายังไง เพราะ ณ ปัจจุบันคนพื้นเมืองก็ได้รับสิทธิพิเศษอยู่แล้ว
“โดยปกติเนี่ย เวลาเราไปติดต่อหน่วยงานราชการจะมีคำถามว่าคุณเป็นคนอะบอริจินัลหรือเปล่า ถ้าใช่เนี่ย โดยปกติเค้าจะได้ fast track อยู่แล้ว”
คุณเอเสริมว่าการจะลดช่องว่างกับคนพื้นเมืองได้รับสิทธิพิเศษอยู่แล้วและการจะลดช่องว่างควรให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในฐานะผู้อพยพที่จ่ายภาษี
“เราไม่ได้รับสิทธิ์ ได้รับเสียงเพราะว่าเราเพิ่งย้ายมาอยู่ที่ประเทศนี้ ลูกๆ ของเราเกิดที่นี่ แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าไปนั่งในรัฐสภาเพื่อเป็นกระบอกเสียง เป็นตัวแทน”
ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้นึกถึงอดีตที่ผ่านมานะคะ แต่ว่าตรงนั้นเราก็มองว่ามันเป็นเรื่องของอดีตแล้ว
อย่างไรก็ตามฝ่ายที่สนับสนุนให้ออกเสียง No มองว่าการลงประชามติว๊อยซ์สร้างการแบ่งแยกมากกว่าสร้างการปรองดองระหว่างคนที่ไม่ใช่คนพื้นเมืองกับคนพื้นเมือง และจะเป็นการสร้างอภิสิทธิ์ชน
คุณพี (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ที่จะออกเสียง No เพราะต้องการรายละเอียดมากกว่านี้ ยังไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปหลังจากร่างกฎหมายนี้ผ่าน เนื่องจากรัฐบาลยังไม่เผยรายละเอียดได้ก่อนการลงประชามติ
“ยกตัวอย่างง่ายๆ คิดซะว่าเหมือนกับการซื้อรถ เราจะซื้อรถคันนึงไหมถ้าเรายังไม่เคยลองขับ หรือเราจะซื้อบ้านหลังนึงไหมถ้าเราไม่เคยไปดูบ้านเลย ส่วนตัวมองว่านี่เป็นหลักการเดียวกัน เพราะเราไม่เห็นหลักการหรือรายละเอียดของว๊อยซ์ว่าสามารถทำอะไร สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง”
คุณพีไม่เชื่อว่าสิ่งนี้จะปิดช่องว่างได้ เนื่องจากรัฐบาลของออสเตรเลียมีชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสที่เป็นตัวแทนของชนพื้นเมืองอยู่แล้วประมาณ 1,400 คน
“คือเรารับฟังเสียงเขา เราให้สิทธิ์เขาในการออกเสียง ออกความเห็น พี่ก็เลยมองว่า ในเมื่อเค้าให้สิทธิ์ตรงนั้นแล้ว เค้ามีสิทธิ์ทุกอย่างเท่ากับทุกๆ คน แล้วว็อยซ์จะสร้างความแตกต่างได้ยังไง”
ต้องได้คะแนนเสียง Yes เท่าไหร่ถึงจะผ่านร่างเสนอกฎหมายว๊อยซ์
ผลการออกเสียงที่จะผ่านร่างเสนอกฎหมายว๊อยซ์จะต้องได้เสียงข้างมากจาก
1. มากกว่าร้อยละ 50 จากทุกรัฐและเขตปกครอง
2. มากกว่าร้อยละ 50 จาก 4 ใน 6 รัฐ
พลเมืองออสเตรเลียทุกคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถไปลงประชามติที่หน่วยออกเสียงที่หน่วยใดก็ได้รัฐหรือมณฑลที่คุณอาศัยอยู่ ในวันที่ 14 ตุลาคม คศ. 2023 โดยหน่วยออกเสียงเปิดทำการตั้งแต่เวลา 8.00 น. – 18.00 น.
ตรวจสอบหน่วยออกเสียงได้ที่ aec.gov.au/where
หน่วยออกเสียงล่วงหน้าของรัฐวิกตอเรีย เวสเทิร์น ออสเตรเลีย แทสเมเนียและนอร์เทิร์น เทอร์ริทอรี เปิดตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม เป็นต้นไป
หน่วยออกเสียงล่วงหน้าของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ควีนส์แลนด์ เซาท์ ออสเตรเลีย และมณฑลนครหลวงแคนเบอร์รา เปิดตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม เป็นต้นไป
หาข้อมูลเรื่องการลงประชามติเพิ่มเติมได้ที่ aec.gov.au
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
วิธีการลงประชามติ Voice ล่วงหน้าก่อนวันจริง