เตือนพ่อแม่ให้ระวังลูกป่วยเป็นไข้กาฬหลังแอ่น

MENINGOCOCCAL B VACCINATION PRESSER

โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease) เป็นโรคที่อันตรายสำหรับเด็กเล็ก Source: AAP / DAVID MARIUZ/AAPIMAGE

มีคำเตือนให้พ่อแม่คอยสังเกตอาการโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease) ที่ถึงตายได้ในเวลาอันรวดเร็ว โรคนี้พบได้ในเด็กเล็กและเด็กวัยรุ่น และกำลังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในออสเตรเลีย


ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนประชาชนให้ระวังและคอยสังเกตสัญญาณและอาการของโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease)

มีการแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังหลังจากจำนวนผู้ป่วยในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 49 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

คุณโอลิเวีย คิมเบิล คุณแม่ลูกสองจากย่านวิลตัน ชานเมืองซิดนีย์ กล่าวว่า ออสการ์ ลูกชายของเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น ตอนอายุสิบเดือน

เธอเล่าว่า ตอนนั้นเธอไม่รู้เลยว่า ลูกชายติดเชื้อ

"ประมาณสามทุ่มครึ่งในคืนหนึ่ง ฉันได้ยินเสียงเหมือนลูกอาเจียนครั้งใหญ่และเขาก็มีไข้สูง ฉันรู้ว่าต้องมีบางอย่างผิดปกติแน่ ๆ สามีของฉันจึงอยู่กับลูกสาวที่บ้าน แล้วฉันก็พาออสการ์ไปโรงพยาบาลเพราะดูเหมือนมีบางอย่างผิดปกติ ที่โรงพยาบาลออสการ์มีหน้ากากอ็อกซิเจนเล็ก ๆ ครอบหน้า และมีเครื่องต่าง ๆ มากมายเชื่อมต่อกับร่างกายของเขา และพวกเขาก็เริ่มการรักษาออสการ์จากการป่วยเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น" คุณคิมเบิล เล่าประสบการณ์

โรคไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งปกติแล้วเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่สามารถทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการหนักได้อย่างรวดเร็ว และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวได้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ
temperature-g6e8cb58db_1920.jpg
โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งปกติแล้วเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่สามารถทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการหนักได้อย่างรวดเร็ว Source: Pixabay
เมื่อมองย้อนกลับไป คุณคิมเบิลได้แต่เสียใจว่า เธอน่าจะรู้ถึงอาการของโรคนี้มากกว่านี้ เมื่อลูกชายของเธอเริ่มมีอาการป่วย

"ฉันเคยเห็นเกี่ยวกับโรคนี้ในข่าว แต่ฉันก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก คงเพราะมันมักเป็นสิ่งที่เราคิดว่า เรื่องแบบนั้นมันคงไม่เกิดกับเราหรอก ดังนั้นแม้ตอนแรกพวกเขาจะบอกว่าจะตรวจดูว่าลูกเป็นโรคนี้หรือเปล่า พวกเราก็ไม่ได้วิตกอะไรนัก เพราะคิดว่ามันคงไม่เกิดกับเรา คงเป็นเพราะไม่มีใครเคยพูดถึงโรคนี้ มันเป็นโรคที่เราเห็นในข่าวบางครั้งบางคราว และมันก็ไม่ใช่โรคที่เราเฝ้าระวัง" คุณคิมเบิล กล่าว
ฉันเคยเห็นเกี่ยวกับโรคนี้ในข่าว แต่ฉันก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก คงเพราะมันมักเป็นสิ่งที่เราคิดว่า เรื่องแบบนั้นมันคงไม่เกิดกับเราหรอก
คุณ โอลิเวีย คิมเบิล ที่มีลูกชายวัยสิบเดือนป่วยเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease)
ทุกคนมีความเสี่ยงเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นได้ แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กและทารกที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เด็กวัยรุ่น และชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว เช่น สูญเสียแขนขาหรืออาจเสียชีวิตได้

นั่นเป็นเหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสนับสนุนให้ผู้คนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease)

ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต บอย (Robert Booy) เป็นกุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ อธิบายถึงอาการของโรคนี้ในระยะแรกว่า

"อาการที่ต้องระวังนั้นเริ่มจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เจ็บคอ แต่ต่อมาจะเริ่มมีอาการมากขึ้นเฉพาะที่คือ รู้สึกว่ามือและเท้าเย็น ผิวหนังดูเป็นจุด ๆ และอาจมีผื่นขึ้นบนผิวหนังเป็นผื่นสีม่วงเม็ดเล็ก ๆ ซึ่งอาจลามไปถึงมือ เท้า ใบหน้า จากนั้นจะมีอาการช็อก รู้สึกสับสน และปัสสาวะน้อยลง จากนั้นเมื่อมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก็จะปวดหัวอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน และการรู้สึกตัวลดน้อยลง" ศ.บอย กล่าว
เริ่มจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เจ็บคอ ต่อมาจะเริ่มมีอาการเฉพาะที่คือ รู้สึกว่ามือและเท้าเย็น ผิวหนังดูเป็นจุด ๆ และอาจมีผื่นขึ้นบนผิวหนังเป็นผื่นสีม่วงเม็ดเล็ก ๆ จากนั้นจะมีอาการช็อก รู้สึกสับสน
ศ.โรเบิร์ต บอย กุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ
ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลสหพันธรัฐระบุว่า จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นในออสเตรเลียแล้ว 67 รายในปีนี้

ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (2022) มีผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่น 45 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้น 49 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้
health-g3c9045bfe_1920.jpg
วัยรุ่นเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เสี่ยงเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น เช่นเดียวกับเด็กและทารกที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย Source: Pixabay
ศ.บอย กล่าวว่า ผู้คนจากชุมชนหลากหลายวัฒนธรรมมีความเสี่ยงต่อโรคนี้เป็นพิเศษ

"หากมีคนจำนวนมากอาศัยอยู่ในที่พักเดียวกัน ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นในการแพร่เชื้อสู่กันและกัน ครอบครัวหลากวัฒนธรรมจึงมีความเสี่ยงสูงกว่า ตัวอย่างคือชุมชนมุสลิม ซึ่งมีหลายครั้งที่โรคไข้กาฬหลังแอ่นแพร่กระจายในช่วงพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นการแสวงบุญทางศาสนาประจำปีของชาวมุสลิม และไม่เพียงแต่สามารถทำให้เกิดการระบาดในเมืองเมกกะในซาอุดีอาระเบียเท่านั้น ผู้คนยังสามารถนำเชื้อโรคกลับมาด้วย และแพร่เชื้อต่อไปยังเด็กและวัยรุ่นในออสเตรเลียได้" ศ.บอย กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าว

ไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งหมายความว่าสามารถติดต่อกันได้ ด้วยการแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ผ่านการพบปะกันโดยตรงอย่างใกล้ชิด

คุณคาเรน ควิก ผู้บริหารของศูนย์เยื่อหุ้มสมองอักเสบแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ผู้คนจำนวนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองกำลังเป็นพาหะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

"ผู้คนจำนวนมาก ราวร้อยละ 20 ของประชากรมีเชื้อแบคทีเรียอยู่ที่ภายในจมูกหรือลำคอโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นมันจึงแพร่กระจายผ่านละอองน้ำมูกหรือละอองน้ำลายจากจมูกหรือปากของเรา จากนั้นมันก็เข้าสู่กระแสเลือดและลุกลาม ซึ่งนั่นเป็นช่วงที่ก่อให้เกิดปัญหา" คุณคาเรน ควิก จาก ศูนย์เยื่อหุ้มสมองอักเสบแห่งออสเตรเลีย อธิบาย
มันแพร่กระจายผ่านละอองน้ำมูกหรือละอองน้ำลายจากจมูกหรือปากของเรา จากนั้นมันก็เข้าสู่กระแสเลือดและลุกลาม
คุณคาเรน ควิก จาก ศูนย์เยื่อหุ้มสมองอักเสบแห่งออสเตรเลีย
การสำรวจพ่อแม่ 300 คนโดย G-S-K Australia พบว่า 74 เปอร์เซ็นต์ของพ่อแม่ไม่รู้เกี่ยวกับอาการเริ่มต้นของโรคไข้กาฬหลังแอ่น

การสำรวจยังชี้ด้วยว่า มีผู้ปกครองเพียง 44 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทราบว่า โรคนี้สามารถส่งผลร้ายแรงได้

อาการเริ่มต้นของโรคไข้กาฬหลังแอ่นอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของไข้หวัด ซึ่งคุณควิกเชื่อว่าการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาการของโรคไข้กาฬหลังแอ่นจึงสำคัญอย่างยิ่ง

"เป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ปกครองจะต้องตระหนักอย่างแท้จริงถึงสัญญาณและอาการต่าง ๆ ของโรค เพราะนี่อาจส่งผลต่อความเป็นความตายได้ ตอนเช้าคุณอาจสบายดี แต่ต้องเข้าห้องไอซียูเพื่อจะยื้อชีวิตในตอนบ่าย สารของฉันถึงผู้ปกครองคือ ขอให้เชื่อสัญชาตญาณของคุณเอง ถ้าลูกของคุณมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว เพราะโรคนี้อาการทรุดลงรวดเร็วมาก ให้คุณรีบพาลูกไปพบแพทย์ ตรงไปที่แผนกฉุกเฉินเลยหากคุณสงสัยว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น เชื่อสัญชาตญาณของคุณเพื่อจะได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์ในทันที" คุณคาเรน ควิก จาก ศูนย์เยื่อหุ้มสมองอักเสบแห่งออสเตรเลีย ย้ำ
the-little-girl-gf42cffe09_1920.jpg
อาการเริ่มต้นของโรคไข้กาฬหลังแอ่นอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของไข้หวัด แต่มีคำแนะนำถึงพ่อแม่ว่า ถ้าลูกอาการแย่ลงอย่างรวดเร็วและสงสัยว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น ให้รีบพาลูกไปแผนกฉุกเฉินที่โรงพยาบาลในทันที Source: Pixabay
ถ้าลูกของคุณมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว เพราะโรคนี้อาการทรุดลงรวดเร็วมาก ให้คุณรีบพาลูกไปพบแพทย์ ตรงไปที่แผนกฉุกเฉินหากคุณสงสัยว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น
คุณคาเรน ควิก จาก ศูนย์เยื่อหุ้มสมองอักเสบแห่งออสเตรเลีย
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share