ขณะนี้รัฐบาลกำลังรณรงค์ให้ประชาชนหันมาเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านไม่ว่าจะเป็นวิกฤตค่าครองชีพ ภาพจำเกี่ยวกับคุณภาพหรือราคาของสินค้าท้องถิ่น แม้แต่ปัจจัยของความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นชาติที่อาจลดลงในหมู่ผู้บริโภค
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จิม ชาลเมอส์ ยืนยันว่าการรายงานงบประมาณกลางปีนี้จะมีการส่งเสริมมาตรการหลายด้านเพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคซื้อ “สินค้าคุณภาพดีที่ผลิตในออสเตรเลีย”
ซึ่งถือเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์โลกปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม อย่างไรก็ตามยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขงบประมาณสำหรับแคมเปญนี้
รัฐมนตรี ชาลเมอส์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า
“เราจะใช้งบประมาณบางส่วนเพื่อสนับสนุนแคมเปญ Buy Australian”
ด้านนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (behavioural economist) ให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนนิสัยการซื้อของผู้บริโภคอาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้
อ่านเพิ่มเติม

ราคาสินค้าอาหารในออสฯ บางชนิด 'พุ่งแรงแซงเงินเฟ้อ'
ศาสตราจารย์โรเบิร์ต ฮอฟฟ์แมน จากมหาวิทยาลัยแทสมาเนีย (University of Tasmania) ให้สัมภาษณ์กับ SBS News ว่า บางครั้งผู้บริโภคชาวออสเตรเลียไม่ได้ตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยเหตุผลเสมอไป
“ถ้าผู้บริโภคคิดถึงเหตุผลในการซื้อสินค้า พวกเขาจะพิจารณาคุณสมบัติของสินค้าแต่ละชิ้น โดยไม่สนใจว่าผลิตจากประเทศใด ตราบใดที่คุณภาพ ราคาและลักษณะของสินค้านั้นตรงกับสิ่งที่ต้องการ” เขากล่าว
“และในความเป็นจริง ผู้คนไม่ได้ใช้เวลาใตร่ตรองในการซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตนานขนาดนั้น โดยเฉพาะในซูเปอร์ที่มีสินค้ากว่า 30,000 รายการ”
การตัดสินใจซื้อสินค้าแต่ละอย่างของผู้บริโภคนั้นได้รับอิทธิพลมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะ "ราคา" ที่มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ชาวออสเตรเลียจำนวนมากต้องเผชิญกับภาระหนี้บ้านและค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยอาจต้องเลือกซื้อสินค้าที่ถูกที่สุดที่มี โดยไม่ได้คำนึงถึงประเทศต้นทางของสินค้าแต่อย่างใด
มายาคติเรื่องคุณภาพ
ศาสตราจารย์ฮอฟฟ์แมนชี้ว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคคือสิ่งที่เรียกว่า “ภาพจำเรื่องคุณภาพ”
“อย่างเช่น เวลาพูดถึงกีตาร์ หลายคนจะคิดว่ากีตาร์ต้องผลิตจากอเมริกาเท่านั้น และเมื่อมีคนบอกว่าจีนก็ผลิตกีตาร์คุณภาพดีเหมือนกัน หลายคนอาจไม่เชื่อถือ เพราะเรายึดติดกับภาพจำเดิมๆ” เขากล่าว
เหมือนกับที่เรามักคิดว่า รถยนต์ต้องเยอรมัน ไวน์ต้องฝรั่งเศส แฟชั่นต้องอิตาลีศาสตราจารย์โรเบิร์ต ฮอฟฟ์แมน จากมหาวิทยาลัยแทสมาเนีย
ศาสตราจารย์ฮอฟฟ์แมนกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้อาจเป็นความท้าทายสำหรับแบรนด์และสินค้าที่ผลิตในออสเตรเลีย ที่ต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่สร้างความเชื่อมั่นและภาพจำในหมู่ผู้บริโภคมานานหลายทศวรรษ
เขายังอธิบายถึงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า “Consumer Ethnocentrism” หรือ “ภาวะชาตินิยมของผู้บริโภค” ซึ่งหมายถึงแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับสินค้าที่ผลิตในประเทศของตนมากกว่าสินค้าต่างประเทศ
“ผู้บริโภคที่อยู่ในภาวะนี้อาจคิดว่า ‘ฉันเลือกสินค้าที่ผลิตในประเทศ เพราะอยากสนับสนุนชาติของตัวเอง ฉันเชื่อว่าประเทศของฉันดีและสำคัญกว่าประเทศอื่น และฉันยอมจ่ายแพงกว่านิดหน่อยเพื่อซื้อสินค้าของประเทศตัวเอง’ ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็จะเลือกซื้อสินค้าภายในประเทศอยู่แล้ว” เขากล่าว
แนวโน้มนี้ยังพบได้ในกลุ่มผู้ย้ายถิ่นในออสเตรเลียด้วยเช่นกัน ซึ่งมักมีความพึงพอใจส่วนตัวต่อสินค้าที่มาจากประเทศบ้านเกิด
สินค้าที่ผลิตในออสเตรเลีย คืออะไร?
โลโก้ “Australian Made” ที่เป็นรูปจิงโจ้สีทองในสามเหลี่ยมสีเขียว ถือเป็นภาพคุ้นตาตามร้านค้าทั่วไปในออสเตรเลีย อย่างไรก็จากข้อมูลจากเว็บไซต์ ระบุว่า
สินค้าที่ติดโลโก้นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าของบริษัทที่จดทะเบียนในออสเตรเลีย แต่ต้องผ่านกระบวนการ “เปลี่ยนแปลงขั้นสุดท้าย” ภายในประเทศ
“สินค้าถือว่าได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในออสเตรเลียคือถ้าหากผลิตภัณฑ์หรือสินค้านั้นปลูกหรือผลิตในประเทศ หรือหากผ่านกระบวนการหนึ่งหรือหลายขั้นตอนในออสเตรเลียจนทำให้ผลิตภัณฑ์สุดท้ายมีลักษณะหรือคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากวัตถุดิบนำเข้าทั้งหมดอย่างชัดเจน”
ทั้งนี้ ไม่มีข้อกำหนดว่าต้องมีส่วนผสมหรือชิ้นส่วนของสินค้านั้นๆ ต้องผลิตจากออสเตรเลียในสัดส่วนเท่าใด
‘Made in Thailand’ สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยในยุค 80
ขณะที่ออสเตรเลียกำลังเดินหน้าแคมเปญ “Buy Australian” เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในบริบทของไทย หากย้อนกลับไปกว่า 87 ปีก่อนในปี 2481 ประเทศไทยก็เคยมีการรณรงค์ในลักษณะคล้ายๆ กัน
เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามรณรงค์ใช้คำขวัญ “ไทยกิน ไทยใช้ ไทยเจริญ” ปลุกจิตสำนึกรักชาติควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยต่อมานโยบายนี้ก็ถูกผลิตซ้ำในยุค 80
ในช่วงปี 2525–2534 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้กำหนดแนวทางการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน พร้อมกับการกระจายรายได้และความเจริญไปยังภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตภายในประเทศผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การลดค่าเงินบาท การประหยัด และการใช้ของไทย
หนึ่งในแคมเปญที่กลายเป็นภาพจำของยุคนั้นคือ “เมดอินไทยแลนด์ (Made in Thailand)” ซึ่งไม่ได้สะท้อนเพียงแค่นโยบายทางเศรษฐกิจ แต่ยังฝังรากอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัยผ่านบทเพลงของวงคาราบาว
โดยเนื้อหาของเพลงได้วิพากษ์การบริโภคนิยมในสังคมไทยที่ยังนิยมสินค้านำเข้า แม้ว่าจะพยายามประชาสัมพันธ์ว่าไทยมีศิลปะและวัฒนธรรมที่เก่าแก่ไม่แพ้ใคร
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ศาสตราจารย์โรเบิร์ต ฮอฟฟ์แมน จากมหาวิทยาลัยแทสมาเนีย ให้ความเห็นว่า การรณรงค์ลักษณะนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคที่กระแสแนวคิดเรื่อง “ชาตินิยม” และ “ความรักชาติ” ในหมู่ประชาชนลดลง
แนวคิดชาตินิยมและความรักชาติ
ศาสตราจารย์ฮอฟฟ์แมนกล่าวว่า การที่แนวคิดเรื่องชาตินิยมและความรักชาติในหมู่ประชาชนลดลง อาจเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตในออสเตรเลีย เขากล่าวว่า
“แนวคิดเรื่องชาตินิยมและความรักชาติกำลังถดถอยลง เช่น ในอีกงานวิจัยหนึ่งของเรา พบว่าการเกณฑ์ทหารกลายเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อระดับชาตินิยมลดลง และผมเชื่อว่าสิ่งนี้น่าจะส่งผลคล้ายกันกับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าในประเทศ”
อดีตผู้บัญชาการทหารบก ปีเตอร์ ลีฮีย์ (Peter Leahy) ก็เคยกล่าวถึงประเด็นความรักชาติและการเกณฑ์ทหารในการแถลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในระดับลึกมากกว่าการแก้ไขเพียงระบบการรับสมัครทหาร
“นอกจากการปรับปรุงกระบวนการรับสมัครแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการฟื้นฟูความภาคภูมิใจและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ รวมถึงแรงบันดาลใจในการรับใช้ชาติ” เขากล่าว
“นี่อาจเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล และถึงเวลาที่ต้องลงมือแล้ว”
แคมเปญ 'Buy Australian' อาจช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคคิดถึงการสนับสนุนสินค้าภายในประเทศในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ศาสตราจารย์ฮอฟฟ์แมนเชื่อว่า แคมเปญนี้อาจไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อได้อย่างมีนัยสำคัญ
“ถ้าผู้บริโภคมีแนวคิดชาตินิยมลดลง และให้ความสำคัญกับราคามากกว่าโดยทั่วไป ผมคิดว่าแคมเปญนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับเมื่อ 20, 30 หรือ 40 ปีก่อน” เขากล่าว
“มันอาจจะไม่เป็นไปตามที่คิด หากเราคาดหวังว่าผู้คนจะคิดถึงเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งจริงจัง”