กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน
ในยุคที่เศรษฐกิจออสเตรเลีย อยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง รัฐบาลพยายามหามาตรการช่วยเหลือให้กับประชาชน การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลออสเตรเลียนำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในขณะที่ลูกจ้างอาจยินดีกับเงินที่เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน ก็มีคำถามว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับบรรดาธุรกิจขนาดเล็กหรือไม่ และรัฐบาลควรช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SME อย่างไร
คุณ ธิดา เจ้าของธุรกิจ cleaning and maintenance ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เล่าว่าปัจจุบันธุรกิจของเธอซบเซาลงมากเพราะ หลักๆ คือเป็นการให้บริการทำความสะอาดกับที่พักอาศัยแบบ airbnb
ซึ่งมีลูกค้าลดลงมากเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้คนต้องรัดเข็มขัดและงดการเดินทางท่องเที่ยว
คุณ ธิดา เจ้าของธุรกิจ cleaning and maintenance ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย Credit: Supplied
“ถ้าไม่ใช่ช่วง school holiday หายเกิน 70 % ตอนรัฐบาลประกาศขึ้นดอกเบี้ยปีที่แล้ว ลูกค้าที่บุ๊กไว้แล้ว ก็แคนเซิล circumstance change เค้าทำไม่ได้แล้ว”
การเพิ่มรายได้ขั้นต่ำทำให้เธอต้องจ่ายเงินลูกจ้างมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถขึ้นราคาลูกค้าได้มากเพราะลูกค้าก็ไม่มีกำลังจ่าย เธอต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นในขณะที่กำไรที่หล่อเลี้ยงธุรกิจก็ลดลงมาก
แม้ว่าจะขึ้นชั่วโมงละ 2 ดอลลาร์ แต่วันหนึ่งก็ขึ้นเกือบร้อยเหรียญ ในขณะที่ช่วงเสาร์อาทิตย์ วันหยุดนัตขัตฤกษ์ ขึ้น 150-200% ก็ถือว่าหนักมากอยู่เหมือนกันคุณ ธิดา เจ้าของธุรกิจ cleaning and maintenance ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย
คุณธิดาต้องหาวิธีการปรับตัวเพื่อทางรอดของธุรกิจ เช่นการเจรจากับลุกค้า หรือพยายามลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในบริษัทลง
“เราต้องคุยกับลูกค้าว่าขอไม่ให้มี turn over วันเสาร์ อาทิตย์ หรือ วันนักขัตฤกษ์ได้ไหม เพราะเราไม่อยากขึ้นค่าบริการแล้วเราก็ไม่อยากเข้าเนื้อเหมือนกัน อีกอย่างเราต้องเลือกลูกน้องที่มีประสบการณ์เพื่อลด cost การเทรนนิ่งลง”
อ่านเพิ่มเติม
คนไทยต้องดิ้นรนแค่ไหนในวิกฤตเศรษฐกิจออสเตรเลีย
ส่วนคุณ อุ้ม เจ้าของร้านอาหารไทยในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย เปิดเผยถึงสถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารไทยในปัจจุบันว่าข้าวของ วัตถุดิบแพงขึ้นกว่าเดิมมาก
ทุกอย่างขึ้นหมด ค่าน้ำ ค่าไฟขึ้นหลายรอบ ค่าแก๊ส ค่าวัตดุดิบ ingredientsบางอย่าง ขึ้น 2-3 เท่า เยอะมาก ได้รับผลกระทบจริงๆคุณ อุ้ม เจ้าของร้านอาหารไทยในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย
แม้ว่าต้นทุนทุกอย่างจะเพิ่มขึ้น แต่คุณอุ้มบอกว่าร้านอาหารอาจจะขึ้นราคาอาหารในเมนูได้ไม่ได้มากเท่าไหร่ การขึ้นราคาอาจเสี่ยงต่อการที่ลูกค้าจะไม่กลับมาที่ร้าน เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจที่รัดตัวทำให้ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงความคุ้มค่ามากขึ้น
“ทางร้านอาหารขึ้นราคาไม่ได้มากเท่าที่ได้รับผลกระทบ ตอนนี้สังเกตได้เลยว่าลูกค้าระมัดระวังการใช้จ่าย รวมถึงการมาทางอาหารในร้านอาหารด้วย จะคิดถึงความคุ้มค่า จริงๆ ก็ขึ้นได้ แต่ต้องมั่นใจว่าขึ้นแล้วลูกค้ายังจะกลับมาทานอาหารที่ร้านอยู่”
คุณอุ้ม เจ้าของร้านอาหารไทยในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย Credit: Supplied
“สำหรับผม ผมโอเค เพราะผมจ่ายเกินค่าแรงขั้นต่ำให้น้องๆ ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว มันก็เลยไม่ได้กระทบมาก เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ทางร้านต้องดูแลน้องๆ"
ส่วนวิธีการปรับตัวของร้านอาหาร คุณอุ้มแบ่งปันว่า
“ก็พยายามประหยัดค่าไฟ ค่าน้ำ ช่วยจับตาให้น้องๆ ให้ปิดน้ำปิดไฟ แล้วก็เจรจากับซัพพลายเออร์เพื่อให้ซื้อของได้ถูกลง หรือซื้อเป็นจำนวนเยอะเพื่อให้ต้นทุนถูกลง”
วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจออสเตรเลียล่าสุด
ดร. วันนิวัต ปันสุวงค์ อาจารย์ประจำคณะ Entrepreneurship and innovation จาก University of South Australia วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจออสเตรเลียในปัจจุบันว่าเป็นช่วงที่ธุรกิจขนาดเล็กต้องรับมือหนัก โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการใช้แรงงานเยอะ เช่น ที่พักอาศัยและธุรกิจอาหาร ได้รับผลกระทบมากที่สุดในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ดร. วันนิวัต ปันสุวงค์ อาจารย์คณะ Entrepreneurship and innovation จาก University of South Australia Credit: Supplied
"และยิ่งต้นปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ migration law ทำให้จำนวนนักเรียน นักศึกษา มีคนเดินทางมาในออสเตรเลียน้อย ก็อาจส่งผลกระทบกับจำนวนแรงงานและอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นในระยะยาว พอคนที่อยู่ในตลาด ที่เป็น skilled labor พอมีประสบการณ์ก็ย่อมคาดหวังค่าตอบแทนที่สูงขึ้น”
สถานการณ์ SME ในออสเตรเลีย รอด หรือ ร่วง
ดร. วันนิวัต ปันสุวงค์ ชี้ว่า ถ้ามองจากมุมทางวิชาการถือว่ามีปัญหา ธุรกิจขนาดเล็ก ต้องได้รับการช่วยเหลือทันที เพราะเริ่มเห็นว่าหลายธุรกิจเริ่มดิ้นรนที่จะอยู่รอดมากขึ้น ในขณะที่หลายธุรกิจในเมืองใหญ่ๆ เริ่มปิดตัวลง
"หลายธุรกิจต้องเริ่มควักเงินในกระเป๋าตัวเองเพื่อต่อสานป่านให้ยาวออกไปเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป แล้วยิ่งธุรกิจใหม่นี่ไม่ต้องพูดถึง ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก”
อาจารย์วันนิวัติ ให้ข้อเสนอแนะแก่ธุรกิจขนาดเล็กว่าจะต้องปรับตัวและวางแผนอย่างไรเพื่อให้อยู่รอด
พยายามนำเสนอสิ่งที่ตัวเองทำอย่าแล้วให้มี value มากขึ้น ควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการลดต้นทุนในการ operate ลดการกู้หนี้ มีการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจดร. วันนิวัต ปันสุวงค์ University of South Australia
ส่วนด้านมาตรการการช่วยเหลือของรัฐบาล อาจารย์ วันนิวัติมีความเห็นว่า ต้องเพิ่มมาตรการช่วยเหลือประชาชนให้เป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ มากขึ้น
“รัฐบาลก็มีมาตรการช่วยเหลือมาตลอด แต่ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยภายนอกด้วยเช่น global crisis การเมือง กฎหมายระหว่างประเทศ แต่ด้านรัฐบาลเองก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะให้คนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น มีการลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงานให้มากขึ้น เรื่องการช่วยเหลือด้านภาษี เป็นต้น จะช่วยให้มีการ pick up GDP และค่าใช้จ่ายของประชาชนในประเทศมากขึ้น ”
ฟังสัมภาษณ์เรื่องนี้ เต็มๆ ได้ที่นี่
LISTEN TO
เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กคนไทยเผย ปรับตัวให้รอดอย่างไรในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจออสเตรเลีย
SBS Thai
11/09/202424:51
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่